ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๑ พญามาร (๑)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งที่ ๑ พญามาร (๑)

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP_01.jpg

ชัยชนะครั้งที่ ๑ ของพระพุทธเจ้า (ตอนที่ ๑ ชนะพญามาร)

              การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เปรียบเสมือนดวงสุริยาที่ทอแสงให้ความสว่างในชีวิต แก่สรรพสัตว์ทั้งปวงโดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง พระพุทธองค์เสด็จมาเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเอกเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของมหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” บุคคลเอก คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่เราหมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จึงถือเป็นการเจริญพุทธานุสติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การทำเช่นนี้มีอานิสงส์ใหญ่ จะส่งผลให้เราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้โดยง่ายโดยเร็วพลัน

 

 

                 ในบทสรรเสริญพุทธคุณในพุทธชัยมงคลคาถา บทที่ ๑ ว่า

                     “พาหุ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
                     คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
                     ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
                     ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ

                 พระจอมมุนีได้ชัยชนะพญามาร ผู้เนรมิตแขนตั้งพัน มีอาวุธครบมือ ขี่คชสารครีเมขล์พร้อมด้วยเสนามาร มาโห่ร้องกึกก้อง ด้วยธรรมวิธี มีทานบารมีเป็นต้น ด้วยเดชแห่งพุทธชัยมงคลนั้น ขอสรรพมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน”

               

 

DhammaPP_05.jpg

                การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้หมู่สัตว์หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร พ้นจากความมืด คือ อวิชชา พบแสงสว่างแห่งพระสัทธรรม ทรงได้รับชัยชนะเหนือพญามาร ด้วยบุญบารมีของพระพุทธองค์ ได้แก่ทานบารมี เป็นต้น จึงได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระชินเจ้า พระชินสีห์ หรือพระอนันตชิน ซึ่งหมายถึงผู้มีชัยชนะตลอดกาล ชัยชนะที่สำคัญซึ่งพระธรรมาจารย์ได้พรรณนาไว้นั้น มีอยู่ ๘ ครั้ง ท่านได้รวบรวมเป็นบทเจริญพระพุทธชัยมงคลคาถา หรือที่เราเรียกว่า บทสวดพาหุงฯ นั่นเอง ทั้ง ๘ บทนี้ หลวงพ่อจะนำมาเล่าให้ได้ฟังกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ดังนี้

 

        ๑. ชัยชนะที่มีต่อพญามาร

        ๒. ชัยชนะที่มีต่ออาฬวกยักษ์

        ๓. ชัยชนะที่มีต่อช้างนาฬาคีรี

        ๔. ชัยชนะที่มีต่อองคุลีมาล

        ๕. ชัยชนะที่มีต่อนางจิญจมาณวิกา

        ๖. ชัยชนะที่มีต่อ   สัจจกนิครนถ์

        ๗. ชัยชนะที่มีต่อนันโทปนันทนาคราช  และประการสุดท้าย คือ ชัยชนะที่มีต่อ  พกพรหม

      เพื่อเป็นการระลึกนึกถึงชัยชนะของพระพุทธองค์ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เราจะได้รับอานิสงส์ใหญ่ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เป็นอุปนิสัยบารมี ทำให้เกิดกำลังใจไม่สิ้นสุดในการสร้างบารมี เพื่อเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดาต่อไป

 

 

DhammaPP_08.jpg

                  คำว่า...  มาร... หรือพญามาร แปลว่า... ผู้ขวางความดี ขวางหนทางการสร้างบารมีของผู้ที่คิดจะสร้างบารมี นอกจากขัดขวางแล้ว ยังชักนำให้ทำในสิ่งที่เป็นบาปอกุศลอีกด้วย ให้สร้างกรรมพอกพูนอาสวกิเลสให้หนาแน่นจนเป็นผังสำเร็จ และต้องไปชดใช้กรรมอย่างทุกข์ทรมาน มีวิบากที่เป็นทุกข์ วนเวียนอยู่ในวัฏจักรของกิเลส กรรม วิบาก ยากที่จะหลุดพ้นจากภพทั้ง ๓ ได้ พญามารนี่แหละที่เป็นผู้ทำให้สรรพสัตว์หลงวนอยู่ในวัฏสงสาร

 

 

DhammaPP_09.jpg

                  เรื่อง... มีอยู่ว่า พญามารได้ตามรังควานพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามาตลอดตั้งแต่ครั้งทรงออกผนวช ก็เอาสมบัติจักรพรรดิมาล่อ แต่ไม่สำเร็จ จึงปิดบัง เห็น จำ คิด รู้ ของพระองค์ ไม่ให้รู้หนทางสายกลาง ทำให้ต้องเสียเวลาในการบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยานานถึง ๖ ปี แต่ในที่สุดเมื่อบารมีแก่รอบ พระองค์ก็ทรงสามารถเอาชนะพญามารได้

 

 

DhammaPP_10.jpg

                 ในวันที่พระมหาบุรุษจะตรัสรู้นั้น พระองค์ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์หรือต้นโพธิ์ตรัสรู้ ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีพระทัยตั้งมั่น ประทับนั่งคู้บัลลังก์ โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แม้เนื้อและเลือดในสรีระเราจะแห้งเหือดไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที หากเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้” คือ จะไม่ลุกจากที่

 

DhammaPP_02.jpg

                 พญามารล่วงรู้ถึงความคิดนั้นก็ทนไม่ได้ จึงคิดทำลายความตั้งใจของพระมหาบุรุษให้ได้ มิฉะนั้นแล้วพระองค์จักพ้นไปจากอำนาจของมาร พญามารจึงรวบรวมเสนามาร และไพร่พลมารทั้งหมด ยกทัพมาปราบพระโพธิสัตว์ โดยมีพลพรรคของเสนามารพวกที่อยู่ทัพหน้าเป็นทางยาวถึง ๑๒ โยชน์ กองทัพด้านขวาซ้าย ด้านละ ๑๒ โยชน์ ส่วนทัพหลังตั้งอยู่จรดขอบจักรวาล สูงขึ้นเบื้องบน ๙ โยชน์  เมื่อพวกมารโห่ร้อง เสียงโห่ร้องนั้นเสมือนเสียงแผ่นดินทรุดตั้งแต่พันโยชน์ไป เทวบุตรมารขี่ช้างคิริเมขล์สูง ๑๕๐ โยชน์ เนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธนานาชนิด พวกหมู่มารที่เหลือล้วนมีรูปร่างน่าสะพรึงกลัวแตกต่างกันไป มีฤทธิ์มีเดชแตกต่างกันอีกด้วย ต่างมุ่งมาจู่โจมพระโพธิสัตว์จากทิศทั้งสี่

 

              

DhammaPP_12.jpg

                 ขณะเดียวกันนั้นเอง เทวดาในหมื่นจักรวาล กำลังพากันกล่าวสดุดีพระโพธิสัตว์ โดยมีท้าวสักกเทวราชยืนเป่าสังข์วิชยุตรซึ่งมีขนาดประมาณ ๑๒๐ ศอก พญากาฬนาคราชยืนพรรณนาพระคุณของพระโพธิสัตว์ ท้าวมหาพรหมยืนกั้นเศวตฉัตร  เมื่อเหล่ามารจู่โจมเข้ามาใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทวยเทพทั้งหมดก็เกิดอาการขนพองสยองเกล้า ตกอกตกใจกันไปหมด รีบเผ่นหนีไปสุดขอบจักรวาล พญากาฬนาคราชดำดินไปมัญเชริกนาคพิภพ ซึ่งมีขนาด ๕๐๐ โยชน์ นอนเอามือทั้งสองปิดหน้า ท้าวสักกเทวราชลากสังข์วิชยุตร พร้อมด้วยเหล่าทวยเทพหนีไปอยู่ขอบจักรวาล ท้าวมหาพรหมจับยอดเศวตฉัตรเสด็จหนีไปยังพรหมโลกทันที นี่พญามารมีฤทธิ์มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ ซึ่งอันที่จริงเทวดา พรหม หรืออรูปพรหมต่างมีอานุภาพ แต่ก็สู้พญามารไม่ได้ ทั้งก็ยังตกเป็นบ่าวเป็นทาสของเขาอยู่

 

 

DhammaPP_11.jpg

                พระโพธิสัตว์ถูกทอดทิ้งอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว ไม่มีใครเป็นที่พึ่งได้ จึงทรงรำพึงว่า “มารเหล่านี้ทำความพากเพียรใหญ่โต เพราะมุ่งหมายทำลายเราผู้เดียว ในที่นี้เราไม่มีพวกพ้องบริวาร มีแต่ทศบารมีเท่านั้น ที่เป็นเสมือนบริวารชนที่เราชุบเลี้ยงมาตลอดกาลนาน

 

 

DhammaPP_04.jpg

                เพราะฉะนั้น เราควรทำบารมี ๓๐ ทัศ ให้เป็นยอดขุนพล เอาศาสตรา คือ บารมีนั่นแหละประหาร กำจัดหมู่พลมารนี้ให้ได้” ทรงนึกถึงบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ รวมไปถึงอุปบารมีและปรมัตถบารมีเป็น ๓๐ ทัศ

                                                                                                   

         

DhammaPP_13.jpg

                 เมื่อทรงรำลึกถึงพระบารมีทั้ง ๓๐ ทัศแล้ว พระองค์มิได้หวาดกลัวอานุภาพของพญามารและเสนามาร แม้พวกเสนามารจะเปล่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหว สะเทือนไปทั่วทั้งภพ ๓ หวังจะทำให้มหาบุรุษหวั่นไหว ก็ไม่อาจเข้ามาใกล้พระมหาบุรุษได้ ด้วยอำนาจบารมีธรรมที่พระองค์สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ถึงมารจะแสดงอาการข่มขู่เช่นไร พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งอยู่ที่รัตนบัลลังก์ โดยมิได้หวั่นไหวแม้แต่น้อย พญามารเห็นว่า บรรดาเสนามารมิอาจทำอันตรายพระมหาบุรุษได้ก็โกรธ คิดว่าเราจะต้องใช้อาวุธ ๙ ประการ ทำให้พระมหาบุรุษกลัวแล้วหนีไปให้ได้ พญามารพลันบันดาลให้เกิดพายุใหญ่พัดมาจากทั่วสารทิศ มีกำลังลมสามารถทำลายภูเขาใหญ่สูงถึง ๒ โยชน์ให้สลายไปในทันที แต่ลมนั้นกลับไม่อาจทำอันตรายแม้จีวรของพระมหาบุรุษให้ไหวได้ พญามารได้บันดาลให้เกิดมหาเมฆ ทำห่าฝนให้ตกลงมา น้ำฝนไหลนองไปทั่ว แต่ก็ไม่อาจทำให้แม้จีวรของพระมหาบุรุษเปียกได้

                     พระบรมโพธิสัตว์ของเราจะได้รับชัยชนะพญามารหรือไม่อย่างไรนั้น และชัยชนะของพระองค์ในครั้งนี้สำคัญอย่างไร และจะมีผลต่อพวกเรา และต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างไรบ้าง ขอให้ติดตามกันต่อไป หลวงพ่อขอฝากให้ทุกท่านอย่าได้ประมาท อย่าลืมว่าพญามาร คือ ผู้ขัดขวางความดีนี้ มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าหรือเป็นบุคคลาธิษฐานเท่านั้น เราจะรู้เห็นได้ด้วยธรรมกาย  เมื่อใจเราหยุดนิ่ง ได้ศึกษาวิชชาธรรมกายแล้ว จะไปรู้ไปเห็นได้ด้วยตัวของเราเอง  ดังนั้นอย่าประมาท อย่าชะล่าใจ ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำทุกวัน จนกว่าเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในกันทุกคน
  

พระ ธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*พุทธประวัติ เล่ม๑ (หลักสูตรนักธรรมตรี)

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล