ธรรม 6 ประการสำหรับใช้ประเมินคุณธรรม

วันที่ 02 ตค. พ.ศ.2558

ธรรม 6 ประการสำหรับใช้ประเมินคุณธรรม


        การจะวัดสิ่งใดๆ ต้องอาศัยเครื่องมือที่เหมาะสมกันมาใช้วัด เช่น หากต้องการวัดความยาว คงต้องอาศัยไม้บรรทัด หรือตลับเมตร ถ้าจะวัดน้ำหนัก ต้องอาศัยเครื่องชั่ง ถ้าจะวัดเวลา ก็ต้องอาศัยนาฬิกาเป็นต้น ฉันใดก็ฉันนั้น หากต้องการวัดคุณธรรมหรือประเมินคุณธรรม ที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนอบรมตนเองตามพระธรรมวินัย ก็ต้องอาศัยหลักธรรม 6 ประการ ที่ทรงตรัสไว้ในอัตตัญญูเป็นตัววัดธรรม 6 ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีลสุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณ มีรายละเอียดดังนี้ คือ

 ศรัทธา
"ศรัทธา" แปลว่า ความเชื่อ ความเลื่อมใสในทางธรรมหมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความมั่นใจในความจริง ความดีสิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก แบ่งออกเป็น 4 อย่างคือ
1. กัมมสัทธา ความเชื่อในเรื่องกรรม หรือกฎแห่งกรรมว่ามีจริง
2. วิปากสัทธา ความเชื่อในผลของกรรม ว่าทำดีย่อมได้รับผลดีจริง ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่วจริง
3. กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ใครทำกรรมใดไว้ ย่อมเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น
4. ตถาคตโพธิสัทธา ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหมายความถึง
1) เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงๆ คือพระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองจริง
2) พระธรรมคำสอนของพระองค์ดีจริง คือ เป็นไปเพื่อความเจริญในกุศลธรรมแต่ฝ่ายเดียว
3) เมื่อนำคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติแล้วได้ผลดีจริง คือ ปฏิบัติแล้วสามารถหมดกิเลส ตามพระองค์ไปได้จริงในบรรดาศรัทธาทั้ง 4 ตถาคตโพธิสัทธามีความสำคัญที่สุด เพราะความเชื่ออื่นๆ นั้น อาศัยความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพื้นฐานในทางปฏิบัติ ศรัทธามีลักษณะเป็นความสว่างที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อเกิดแล้ว จะส่งผลให้คนๆ นั้นอยากทำความดีด้วย กาย วาจา และใจ ซึ่งเป็นต้นทางให้กุศลธรรมเจริญขึ้นมา เหมือนดังเรื่องตัวอย่างของพระสารีบุตรเถระ


           สมัยที่พระสารีบุตรเถระยังเป็นฆราวาส อยู่ ท่านมีชื่อว่า "อุปติสะ" เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงออกบวชอยู่ในสำนักของสญชัยปริพาชก พร้อมกับเพื่อนชื่อ "โกลิตะ" ซึ่งต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านทั้งสองพบว่า ลัทธิของสญชัยปริพาชกไม่มีแก่นสาร จึงตกลงกันว่าจะออกแสวงหาอาจารย์ที่จะช่วยแนะนำให้ได้บรรลุธรรม โดยหากใครได้บรรลุก่อน ก็ให้กลับมาบอกกันและกันด้วยวันหนึ่งอุปติสสปริพาชกเห็นอิริยาบถอันน่าเลื่อมใสท่าทางสง่างาม มีความสำรวมดีของพระอัสสชิเถระขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาต จึงเกิดเลื่อมใสศรัทธา เดินตามไปเพื่อสอบถามธรรม เมื่อได้ฟังพระอัสสชิแสดงธรรมแต่เพียงสั้นๆ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลในทันทีการที่พระสารีบุตรได้บรรลุธรรม ก็เพราะเริ่มต้นจากความเป็นผู้มีศรัทธาในพระอัสสชิก่อน ศรัทธาจึงเป็นเหมือนต้นทางแห่งความดี ใครที่มีศรัทธาก็ย่อมมีโอกาสจะพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตนสำหรับผู้มีศรัทธา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการพิจารณาไว้ใน ฐานสูตร ว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสพึงรู้ได้ด้วยสถาน 3 คือ
(1) เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย
(2) เป็นผู้ใคร่เพื่อจะฟังธรรม
(3) มีใจปราศจากมลทิน คือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันล้างไว้ (คอยจะหยิบของให้ทาน) ยินดีในการ ละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปันสำหรับผู้มีศรัทธา ก็ควรพัฒนาศรัทธาของตนนั้นให้มั่นคง กลายเป็น "อจลศรัทธา" คือความเลื่อมใสศรัทธาชนิดที่หมดความสงสัยใดๆ ในพระรัตนตรัย เมื่อมีศรัทธาตั้งมั่น จึงจะมั่นใจได้ว่า คุณธรรมความดีของเราจะก้าวหน้า ไม่เสื่อมสลายหรือลดน้อยลงไปได้เลย

 

ศีล
"ศีล" แปลว่า ความประพฤติดีทางกายและวาจา การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้อยู่ในความดีงาม การรักษาปกติตามระเบียบวินัย ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพศีลจึงเป็นเครื่องควบคุมกาย และวาจา ให้เรียบร้อยดีงาม ซึ่งสำหรับพระภิกษุนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้รวบรวมไว้เป็น 4 ประเภท เรียกว่า "ปาริสุทธิศีล" คือ
1. ปาฏิโมกขสังวรศีล คือการเว้นจากข้อที่พระพุทธองค์ทรงห้าม และทำตามข้อที่ทรงอนุญาตและประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย แบ่งออกได้ 3 หัวข้อด้วยกัน คือ
1.1 ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร
1.2 มีปรกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
1.3 มาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2. อินทรียสังวรศีล คือสำรวมระวังในอินทรีย์ทั้ง 6 ไม่ให้บาปอกุศลครอบงำใจ
3. อาชีวปาริสุทธิศีล คือ ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบด้วยการเลี้ยงชีพที่ผิด เช่น หลอกลวงเขา หรือประจบเขาเพื่อหวังสิ่งของ เป็นต้น
4. ปัจจัยสันนิสิตศีล หรือปัจจเวกขณศีล คือ การพิจารณาใช้สอยปัจจัย 4 ให้ถูกต้องตามวัตถุประ งค์และประโยชน์ของสิ่งนั้น


            ศีลทั้ง 4 ประเภท มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การรักษา กาย วาจา และใจ ให้คิดดี พูดดี และทำดีเหมือนดังเรื่องใน กัญจนขันธชาดกมีกุลบุตรคนหนึ่งเกิดศรัทธา บวชอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้ว พระอาจารย์และอุปัชฌาย์ได้สอนเรื่องศีลที่เธอต้องรักษา โดยจำแนกศีลออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างถี่ถ้วนให้ฟัง ภิกษุรูปนั้นรู้สึกว่าศีลเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มีรายละเอียดมากมาย จึงคิดว่าตนเองคงไม่อาจทำตามได้ทั้งหมด เมื่อคิดอย่างนั้นก็เกิดความท้อใจ จึงไปกราบลาพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์เพื่อขอลาสิกขาพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ได้ฟังดังนั้น จึงพาภิกษุรูปนี้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ หลังจากที่พระองค์ทรงทราบถึงสาเหตุของการขอลาสิกขาแล้ว จึงตรัสกับภิกษุรูปนั้นว่า"ภิกษุ เธอจะต้องการศีลมากๆ ไปทำไมเล่า เธอสามารถจะรักษาศีลเพียง 3 ประเภทได้ไหม"ภิกษุนั้นทูลตอบว่า "ข้าพระองค์สามารถรักษาได้ พระเจ้าข้า"พระศาสดาจึงตรัสว่า "ถ้าเช่นนั้น ตั้งแต่บัดนี้ไป เธอจงรักษาทวารทั้ง 3 ไว้ คือ กายทวารวจีทวาร มโนทวาร อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยกาย อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยวาจา อย่ากระทำกรรมชั่วด้วยใจไปเถิด อย่าสึกเลย จงรักษาศีล 3 ข้อ เหล่านี้เท่านั้นเถิด"


            ด้วยพระพุทธดำรัส เพียงเท่านี้ ภิกษุนั้นก็มีใจยินดี กราบทูลว่า "ดีละพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักรักษา
ศีล 3 เหล่านี้ไว้" แล้วถวายบังคมพระศาสดา กลับออกไปพร้อมกับอาจารย์และพระอุปัชฌาย์เมื่อเธอบำเพ็ญศีลทั้ง 3 เหล่านั้นอยู่เพียง 23 วัน ก็บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนาแท้ที่จริงศีลทั้งหลายสรุปลงที่การรักษากาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดอยู่เสมอ แต่เนื่องจากว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญญาพอจะรู้ว่าตนเองควรรักษาศีลด้วยอาการอย่างไร การรู้แค่เพียงรักษากาย วาจา ใจอาจจะไม่เพียงพอให้นำไปปฏิบัติได้สำหรับทุกๆ คน อย่างในกรณีของพระภิกษุรูปนี้ ท่านเป็นผู้มีปัญญาอันสั่งสมมามาก แม้ได้ฟังวิธีการรักษาศีลแต่เพียงสั้นๆ ท่านก็เข้าใจว่าจะต้องนำไปปฏิบัติอย่างไร แต่สำหรับพระภิกษุทั่วไป การได้ศึกษาเรียนรู้รายละเอียดของศีลที่พระองค์ขยายความไว้ ยังเป็นสิ่งจำเป็น

 

สุตะ
"สุตะ" แปลว่า ได้ยิน ได้ฟังแล้วโดยความหมายสุตะจะหมายถึงการฟัง หรือการศึกษาเล่าเรียน การศึกษาใน มัยก่อน หรือแม้แต่ปัจจุบัน ก็อาศัยจากการฟัง และการดูหรืออ่านเป็นหลัก เป็นการเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ที่ทำให้เราได้ปัญญา ซึ่งการศึกษาธรรมะก็มีหลายวิธี เช่น การฟังเทศน์ การค้นคว้าจากตำรับตำรา การสนทนาธรรม การประชุมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
            โดยสรุปแล้วสุตะ คือการหมั่นเข้าไปแสวงหาความรู้สะสมข้อมูลธรรมะใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อฟังแล้วก็นำมาตรึกตรองตาม ถ้ามีปัญหา หรือข้อสงสัยใดๆ ก็ไม่ยอมปล่อยผ่าน หมั่นเข้าไปสอบถามกับผู้รู้ให้เข้าใจ เพราะการหมั่นฟังธรรม ย่อมจะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ
1. ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
2. เข้าใจสิ่งที่เคยฟังแล้ว ได้อย่างชัดเจน กระจ่างยิ่งขึ้น
3. บรรเทาความสงสัยได้
4. ทำให้มีความเห็นถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง
5. ผู้ฟังมีจิตเลื่อมใส


            ผลที่สุดจากการฟังธรรม จิตของเราจะเลื่อมใสคือเกิดศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากยิ่งๆ ขึ้นไป
และอยากที่จะศึกษาคำสอนของพระองค์เพิ่มขึ้นไปตามลำดับเพราะฉะนั้น การปล่อยชีวิตให้ผ่านไปวันๆ ไม่หมั่นศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมทำให้ความรู้ของเราไม่ก้าวหน้า ปัญญาก็ไม่เพิ่มพูน ดังพุทธพจน์ที่ว่า"คนมีสุตะน้อยนี้ ย่อมแก่เหมือนโคถึก เนื้อของเขาย่อมเจริญแต่ปัญญาของเขาหาเจริญไม่"


            ดังนั้น การสั่งสมความรู้ธรรมะยิ่งมากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดี เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์กับการฝึกฝนอบรมตนเอง ยังเป็นประโยชน์กับการแนะนำผู้อื่นด้วย การมีสุตะเหมือนกับการมีอาวุธไว้สู้กับข้าศึกภายใน คือกิเลส ที่ฝังแน่นอยู่ในใจตนสมดังที่พระพุทธองค์ตรัสเปรียบเทียบไว้ใน "นครสูตร" ว่า"อริยสาวกเป็นพหูสูต ทรงสุตะสั่งสมสุตะ ได้สดับตรับฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง เปรียบเหมือนในปัจจันตนครของพระราชา มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคมสำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฉะนั้นดูก่อนภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้มีสุตะเปรียบเหมือนกับอาวุธ ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมอันไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์"

 

 จาคะ
"จาคะ" แปลว่า การสละ การให้ปัน การเสียสละ การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ การสละกิเลส จาคะกับทานใช้ในความหมายที่ใกล้กัน ทานมักจะหมายถึงการให้ทานเป็นสิ่งของ แต่จาคะจะรวมการสละอารมณ์ที่เกิดจากการถูกกิเลสครอบงำ คือ ความโลภ โกรธ หลง เป็นต้นจาคะ เป็นเรื่องของการเสียสละอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. สละทรัพย์สินสิ่งของ ออกมาทำบุญทำทานสร้างบุญสร้างกุศล เพื่อเป็นเสบียงบุญไปในภพชาติเบื้องหน้า การมีทรัพย์สมบัติมาก มักจะทำให้ใจเป็นห่วงกังวล เกิดความตระหนี่หวงแหนได้ง่าย จึงต้องแก้ไขด้วยการให้ทาน เมื่อให้แล้วก็ตัดใจ ไม่ให้มีความอาลัยหรือเสียดายทรัพย์ในภายหลังเมื่อตัดความตระหนี่ถี่เหนียว ความหวงแหนในทรัพย์สินสมบัติ ซึ่งเป็นกิเลส อย่างหยาบ คือความโลภได้แล้ว การสละกิเลส อย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในใจจะสามารถ สละได้ง่ายขึ้น และเมื่อหวนนึกถึงการทำทานอย่างต่อเนื่องในครั้งก่อนๆ ของตน ก็จะทำให้ใจรวมหยุดนิ่งได้ง่าย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน"มหานามสูตร" ว่า"ดูก่อนมหานามะสมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงการบริจาคเนืองๆสมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว"


2. สละความสะดวกสบายที่มากเกินจำเป็น ซึ่งเป็นเหตุให้เกียจคร้าน ความเพียรย่อหย่อน เช่นแค่เดินไปใกล้ๆ ก็อยากให้มีรถไปส่ง ไม่อยากเดิน นั่งอยู่ในห้องธรรมดาได้ ก็อยากได้เครื่องปรับอากาศขาดความอดทน จึงกลายเป็นคนประเภทหนักไม่เอาเบาไม่สู้ ติดความสบาย เมื่อรักสบาย เท่ากับตามใจกิเลสกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง และไม่รักที่จะฝึกฝนอบรมตน


3. สละอารมณ์ คือ สละอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ ออกไปจากใจให้หมด ทั้งอารมณ์ที่เกิดเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อสละอารมณ์ได้ ใจก็คลายจากสิ่งต่างๆ นอกตัว กลับเข้ามาตั้งมั่นอยู่ภายในเช่นเมื่อใจถูกนิวรณ์ทั้ง 5 ครอบงำ จึงทำให้ใจไม่ผ่องใสจิตไม่ตั้งมั่น ไม่เป็นสมาธิ การสละนิวรณ์ 5 ได้ จึงให้ผลในทางตรงข้าม คือสามารถหยุดใจ และจิตก็ตั้งมั่นสมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน "เตวิชชสูตร"ว่า"เมื่อภิกษุตามเห็นนิวรณ์ 5 เหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีปราโมทย์ก็เกิดปีติ เมื่อใจประกอบด้วยปีติกายก็สงบ เมื่อกายสงบก็เสวยสุข เมื่อเสวยสุขจิตก็ตั้งมั่น"


            ดังนั้น เราจึงควรหมั่นฝึกใจด้วยการสละอารมณ์ ไม่ให้เกิดความยินดี และยินร้าย เพื่อรักษาภาพความเป็นปกติของใจ ดังที่พระมงคลเทพมุนีได้เคยกล่าวถึงการสละอารมณ์ และผลจากการสละไว้ว่า"ทานในพระปรมัตถ์ 6 คือ อายตนะ 6 คือ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ถอนความยินดีในอารมณ์เหล่านี้ออกเสียได้สละความยินดีในอารมณ์เหล่านี้เสียได้...ความยินดีเหล่านี้ หากถอนอารมณ์ออกเสียได้ ไม่ให้เสียดแทงเราได้ พิจารณาว่านี้เป็นอารมณ์ของชาวโลก ไม่ใช่อารมณ์ของธรรมปล่อยอารมณ์เหล่านั้นเสีย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้เข้าไปเสียดแทงใจ ทำใจให้หยุดให้นิ่ง นี่เขาเรียกว่า ให้ธรรมารมณ์เป็นทาน ย่อมมีกุศลใหญ่ เป็นทางไปแห่งพระนิพพานโดยแท้ และเป็นทานอันยิ่งใหญ่ทางปรมัตถ์"

 

 ปัญญา
"ปัญญา" แปลว่า ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่เรียน และคิด ปรีชาหยั่งรู้เหตุผลความรู้เข้าใจชัดเจน ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ความรอบรู้ในกองสังขาร4 มองเห็นตามเป็นจริงปัญญามีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่
1. จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการคิดพิจารณาหาเหตุผล โดยอาศัยความรู้เดิมที่มีอยู่เป็นพื้นฐาน
2.สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน หรือได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่น
3. ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาให้พระภิกษุเข้าถึง

            คือปัญญาที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา หรือที่เรียกว่า "อธิปัญญา" ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า"อธิปัญญาสิกขาเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยปัญญาอันให้ถึงความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุให้เกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา"อธิปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 หมายถึงความรู้ของพระอริยเจ้าที่รู้ในความทุกข์ รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นคืออะไร รู้ว่าทุกข์สามารถที่จะดับหรือกำจัดได้ และเห็นวิธีปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นนั้นความรู้เช่นนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า คือปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ ซึ่งก็คือการเห็นไตรลักษณ์ นั่นเอง เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง และเสื่อมสลายไปสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภูเขา บ้านเรือน รวมถึงตัวของเราเองล้วนตกอยู่ในความเกิดและความดับ ร่างกายนี้มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นความรู้เท่าทันและทั่วถึงในความเกิดและความดับในตัวของเราว่า ตัวตนของเรานี้ แท้ที่จริงไม่ใช่เป็นของของเรา ไม่ใช่เป็นตัวของเรา มีวันที่จะแตกสลายไปได้ ความรู้เท่าทันในการเกิดและดับ จึงหมายถึงการรู้เท่าทันในสังขาร รู้เท่าทันในตัวของตัวเอง

 

ปฏิภาณ
"ปฏิภาณ" แปลว่า เชาวน์ไวในการกล่าวแก้ หรือโต้ตอบได้ฉับพลันทันที และแยบคาย ปัญญาแก้การณ์เฉพาะหน้า ความคิดทันการปฏิภาณ หมายถึง ความสามารถในการตีกลับ โต้กลับ คือเป็นการเอาปัญญามาใช้โต้ตอบได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นคุณธรรมที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง หากใครมีปฏิภาณมาก มีความเฉียบแหลม เชาว์ไวไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็จะมีมากตามไปด้วยผู้มีปฏิภาณ คือผู้ที่สั่งสมปัญญาไว้มาก ในทางพระพุทธศาสนามีคำที่ใช้เรียกผู้มีปัญญาแตกฉานว่า"ปฏิสัมภิทา" มีอยู่ 4 ประการ คือ
1. อรรถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ หรือความหมาย
2. ธรรมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ หรือภาษา
4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ


            ในบรรดาความแตกฉานเหล่านั้น ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ถือว่าเลิศที่สุด เพราะผู้ที่แตกฉานในปฏิภาณนี้
ต้องเป็นทั้งผู้ที่แตกฉานในอรรถ ในธรรม และในนิรุตติไปพร้อมกัน จึงจะสามารถนำความรู้ที่ตนเองแตกฉานนั้น
มาใช้โต้ตอบหรือแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์สำหรับบุคคลผู้สามารถโต้ตอบปัญหานี้ แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. ตอบไม่แม่นยำ และช้า
2. ตอบไม่แม่นยำ แต่เร็ว
3. ตอบแม่นยำ แต่ช้า
4. ตอบแม่นยำ และเร็ว


            ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ผู้ที่ตอบปัญหาได้แม่นยำ และเร็ว คือผู้ที่มีปฏิภาณดีที่สุด ซึ่งการจะมีปฏิภาณ
ดีอย่างนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีการสั่งสมปัญญามามากและฉลาด หรือมีความคล่องแคล่วในการใช้ปัญญา ถ้า
อุปมาปัญญาเหมือนข้าวของเครื่องใช้ที่แต่ละชิ้นก็มีประโยชน์แตกต่างกันไป ผู้มีปฏิภาณคงเปรียบได้กับ
ผู้ที่ฉลาดในการนำข้าวของนั้นมาจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อถึงคราวต้องใช้ ก็ทราบได้ทันทีว่าต้องใช้ของ
ชิ้นใด อยู่ตรงไหน จึงสามารถหยิบมาใช้ได้ตามชอบใจ รวดเร็วและทันท่วงที

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013869365056356 Mins