ความสำคัญของธรรม 6 ประการ

วันที่ 02 ตค. พ.ศ.2558

ความสำคัญของธรรม 6 ประการ


            การที่พระองค์ทรงให้พระภิกษุใช้ธรรมทั้ง 6 ประการมาประเมินคุณธรรมที่เกิดขึ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความจริงที่สำคัญของธรรมทั้ง 6 นี้ อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. ต้องเป็นธรรมที่สามารถใช้ประเมินคุณธรรมที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าพระภิกษุจะฝึกฝนอบรมตนเองด้วยวิธีการไหน หรือมีรายละเอียดในการฝึกแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เช่นพระภิกษุที่ฝึกปฏิบัติกรรมฐานด้วยวิธีอสุภะ อานาปานสติ กสิณ อนุสติ หรือวิธีอื่นใด ผลที่เกิดขึ้นต้องสามารถใช้ธรรม 6 ประการนี้ประเมินได้เสมอ
2. ต้องเป็นธรรมที่สามารถใช้ประเมินคุณธรรมของพระภิกษุได้ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่พระภิกษุปุถุชน จนถึงพระอริยเจ้า
3. คุณธรรมสูงสุดที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมาย คือ การสิ้นกิเลสอาสวะได้บรรลุอรหัตผล ดังนั้นธรรมทั้ง 6 ประการที่ใช้ประเมิน ต้องมีความเกี่ยวเนื่องระหว่างกัน โดยต้องมีลักษณะส่งเสริมกันและกันไปสู่การบรรลุพระอรหันต์ในที่สุด


            จากความจริงทั้ง 3 ประการ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธรรมทั้ง 6 ประการ จึงเหมาะสมจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินคุณธรรมภายในของพระภิกษุได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหากพิจารณาให้ดี จะเห็น
ว่าธรรมทั้ง 6 ประการ เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน ในด้านที่ช่วยผลักดันให้คุณธรรมพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปซึ่งสามารถอธิบายในภาพรวมได้ดังนี้
1. "ศรัทธา" ความเลื่อมใสศรัทธาเกิดขึ้นมาจากการได้ฟังพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกระทั่งเกิดความเข้าใจถูกว่า ชีวิตของตนเองเกิดมาเพื่อสั่งสมบุญบารมี และเป้าหมายสูงสุดของชีวิตนี้คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน และเพราะการจะบรรลุเป้าหมาย ต้องฝึกฝนอบรมตนเองให้กาย วาจา และ ใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะใดๆ ทั้งปวง ความศรัทธาจึงเป็นจุดตั้งตนให้อยากทำความดีโดยอาศัยคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตของตนเอง
2. "ศีล" หลักปฏิบัติเบื้องต้นตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือการควบคุมกาย และวาจาของตนเองให้บริสุทธิ์ ได้แก่การระมัดระวังกาย และวาจา ไม่ให้ไปทำบาปอกุศลทั้งปวง ดังนั้นข้อปฏิบัติในขั้นแรกสำหรับผู้มีศรัทธา ก็คือการรักษาศีลของตนให้มั่นคง
3. "สุตะ" เมื่อรักษาศีลของตนได้ดีแล้ว กาย วาจาที่บริสุทธิ์ จะนำความสุขมาให้แก่ผู้รักษา และจะทำให้อยากมีความบริสุทธิ์ทางกายและวาจายิ่งๆ ขึ้นไป เช่น หากรักษาศีล 5 ได้เป็นปกติ ก็จะคิดว่าหากรักษาศีล 8 ได้ ตนเองก็จะยิ่งมีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อรู้สึกเช่นนี้ ความอยากรู้อยากเข้าใจในธรรมก็มีมากขึ้น จึงเกิดความขวนขวายที่จะได้ยินได้ฟังธรรม ซึ่งก็คือ "สุตะ" นั่นเอง
4. "จาคะ" เมื่อฝึกจนมีกาย และวาจาใสสะอาดบริสุทธิ์มาได้ระดับหนึ่ง จะพบว่าแท้ที่จริง ศีลก็คือเครื่องมือที่ช่วยฝึกให้ใจไม่ไปติดในสิ่งนอกตัวมากนัก เพราะการที่ไม่ได้นำกายและวาจาไปทำความชั่วอะไรเท่ากับเป็นการควบคุมใจของตนเองไว้ให้อยู่กับตัว เมื่อกายวาจาบริสุทธิ์ผ่องใสใจก็เริ่มตั้งมั่นอยู่ในฐานที่ตั้งของ
ใจ และในที่สุดใจจะค่อยๆ คลายจากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งก็คือ "จาคะ" หรือการ สละอารมณ์นั่นเอง
5. "ปัญญา" เมื่อใจคลายจากอารมณ์ทั้งหลาย ก็ตั้งมั่นอยู่ที่กลางกายของตนเอง เมื่อตั้งมั่นก็สงบหยุดนิ่ง เกิดเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งก็คือปัญญาที่ได้จากการบรรลุธรรม
6. "ปฏิภาณ" เมื่อเกิดปัญญา ก็สามารถใช้ปัญญาได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว ครั้นฝึกฝนเรื่อยไปก็กลายเป็นปฏิภาณในที่สุด

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0080720186233521 Mins