ปัจจัย 4 กับการฝึกอบรม

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2558

ปัจจัย 4 กับการฝึกอบรม


          นอกจากปัจจัย 4 จะเป็นที่มาของนิสัยแล้ว พระภิกษุยังสามารถนำปัจจัย 4 มาใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกฝนตนเองตามพระธรรมวินัยได้อีกทางหนึ่งการฝึกฝนอบรมตนเอง หมายถึง การนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฝึกปฏิบัติ เพื่อขัดเกลากาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ซึ่งตามที่ทราบกันมาแล้วว่า ปัจจัย 4 เป็นเหมือนดาบ 2 คม ถ้าหากไม่พิจารณาโดยแยบคาย ปัจจัย 4 ก็สามารถทำให้กิเลสคือ ตัณหาในใจพระภิกษุกำเริบขึ้นมาได้ด้วย แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากพิจารณาบริโภคใช้สอยด้วยความแยบคาย ก็ย่อมทำให้ตัณหาคลายไป จนสุดท้ายย่อมละจากกิเลสอาสวะได้เช่นกัน ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสยืนยันเอาไว้เช่นกัน


            "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ  คือดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเสพ "จีวร" เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อนสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดดและสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพ "บิณฑบาต" มิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่าจะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เรา ฉะนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพ "เสนาสนะ" เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อนสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกออกเร้นอยู่พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพ "บริขาร คือยา" อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่งดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะ และความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใดพึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เราตถาคตกล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ"


            ดังนั้น วิธีการนำปัจจัย 4 มาใช้ฝึกอบรมเพื่อขจัดกิเลสอาสวะในใจสามารถทำได้โดยการบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เช่น พระภิกษุต้องทราบว่า จีวรที่มีอยู่ ไม่ใช่มีไว้เพื่อสะสม หรือห่มเพื่อให้เกิดความสวยงาม แต่ห่มเพื่อป้องกันอันตรายจากความหนาว ความร้อน หรือปกปิดร่างกาย และอวัยวะที่ควรละอายส่วนบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย หรือยารักษาโรคก็ในทำนองเดียวกัน หากว่าสามารถใช้สอยได้ตรงตามวัตถุประสงค์แล้ว ย่อมจะทำให้พระภิกษุได้บริโภคปัจจัย 4 ด้วยความระมัดระวังสติสัมปชัญญะก็จะเจริญขึ้นมา ซึ่งการฝึกอย่างนี้ ก่อให้เกิดผลดีอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1. ไม่ต้องเสียเวลาบริหารปัจจัย 4 มากเกินไป ทำให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น
2. ใจไม่ยึดติดกับปัจจัย 4 หรือสิ่งนอกตัวมากไป ใจจึงกลับเข้ามาตั้งมั่นภายในตัวได้ง่ายขึ้นการที่พระภิกษุไม่ติดอกติดใจทั้งในปริมาณ หรือคุณภาพของปัจจัย 4 มากจนเกินไปนัก จะทำให้ใจของท่านไม่ไปติดพันกับสิ่งที่ไม่มีสาระแก่นสารนอกตัว ไม่รู้สึกดีใจเมื่อได้รับหรือได้ใช้ปัจจัย 4 และไม่รู้สึกเสียใจที่ไม่มีหรือไม่ได้ใช้ปัจจัย 4 ใจก็คลายจากความห่วงหาอาลัย ไม่ติดอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ใจจะกลับเข้ามาอยู่ภายในตัว หลังจากนั้น หากพระภิกษุได้ฝึกพิจารณาใช้ อยปัจจัย 4 ตามวัตถุประสงค์อย่างนี้ทุกวันๆ ย่อมจะเกิดเป็นนิสัยคุ้นกับการนำใจกลับมาตั้งไว้ภายในตัว ควบคู่กับการฝึกปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ใจก็จะตั้งมั่น เป็นสมาธิได้ง่าย และสามารถหยุดใจให้นิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางกาย คุณธรรมภายในก็จะก้าวหน้าเรื่อยไปส่งผลให้ท่านสามารถละกิเลสอาสวะได้ในที่สุด ดังเช่นที่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้เคยแสดงพระธรรมเทศนาไว้เกี่ยวกับเรื่องการปล่อยอารมณ์ว่า

 

"ปล่อยอารมณ์ทั้ง 6 คือ รูปารมณ์สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์ ใจหยุด นิ่ง เฉย ไม่ไปแตะ ไปเกี่ยวกับอารมณ์เหล่านั้น ไม่ไปกินอารมณ์เหล่านั้น ไม่ไปเอารสของอารมณ์เหล่านั้นมาพินิจพิจารณา ปล่อยอารมณ์ทั้ง 6 เสียหมดทีเดียว ใจหยุดทีเดียวนี้เขาเรียกว่า โผฏฐพฺพารมฺมณ กริตฺวา ลภติสมาธิ ทำได้อย่างนี้ได้ชื่อว่าได้สมาธิแล้ว"


           ดังนั้น ในการนำปัจจัย 4 มาเป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกฝนอบรมตนเอง นอกจากจะทำให้เกิดความสำรวมระวังใน กาย วาจา ใจแล้ว ยังทำให้กิเลสตัณหาที่เกิดมาจากปัจจัย 4 ลดน้อยลงไป ความบริสุทธิ์ของกายวาจา ใจ ก็เพิ่มพูนขึ้นมา คุณธรรมก็จะยิ่งเจริญก้าวหน้าทับทวีขึ้นไปสำหรับพระภิกษุแล้ว ปกติเมื่อจะบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 ท่านจะมีวิธีในการพิจารณาใน 3 กาล ด้วยกันคือ ก่อนจะใช้ ขณะที่ใช้ และหลังจากใช้ไปแล้ว ซึ่งพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เคยแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องนี้ไว้ว่า


"จีวรเมื่อเวลาจับจีวรที่เขาถวายเข้า จีวรนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุ เป็นปัจจัยสักแต่ว่าธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเขาเราใดๆ แล้วก็เป็นของว่างเปล่าไปจีวรนี้เป็นของไม่เน่าไม่เปื่อย น่าดูน่าชม ไม่สกปรกเปรอะเปื้อนใดๆ เป็นของดีมาก พอถูกต้องร่างกายกลายเป็นของเสียหายไปได้ ไม่น่าดูน่าชมไปได้พิจารณาจีวรอีก จีวรเมื่อเวลาจะนุ่งเข้า ไม่ได้นุ่งเพื่ออื่น นุ่งเพื่อจะป้องกันเสียซึ่งกายหนาวแลร้อน เพื่อกันเหลือบ ยุง ตะเข็บ ตะขาบต่างๆ เพื่อจะไม่ให้กามกำเริบเท่านั้น พิจารณาดังนั้นก็นุ่งห่มไป นุ่งห่มไปแล้วก็พิจารณาแบบเดียวกันอีก ซ้ำอีก เรียกว่าอภิณหปัจจเวกขณ์ พิจารณาจีวรนุ่งห่มพร้อมด้วยองคคุณธาตุปัจจเวกขณ์...ก็แบบเดียวกัน...นั่งนอนเสนาสนะ
เหล่าบริโภคหยูกยาก็พิจารณา"


           แต่เนื่องจากปัจจัย 4 มีความแตกต่างกันทั้งประเภท และวิธีการใช้งาน ทำให้การนำมาเป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกจึงต้องละเอียดอ่อนแตกต่างกันไป หากพิจารณาให้ดี จะพบว่าในบรรดาปัจจัย 4 "บิณฑบาต" หรือ
อาหาร เป็นสิ่งที่ควบคุมหรือบริหารได้ยากที่สุดสำหรับจีวร และเสนาสนะ เมื่อมีแล้วก็สามารถใช้กันได้ยาวนาน ไม่ต้องการการบำรุงรักษามากนัก หรือสำหรับยารักษาโรค นานๆ จึงจะได้ใช้กันสักครั้งหนึ่ง แต่กับอาหาร พระภิกษุต้องประมาณกันในทุกครั้งที่มีการฉันเลยทีเดียว เพราะแต่ละมื้อก็ขบฉันในปริมาณที่ไม่เท่ากัน แต่ว่าส่งผลกระทบกันทันตาเห็นคือหากฉันน้อยเกินไป ไม่นานก็จะหิวใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าฉันมากไป ร่างกายก็อึดอัด และไม่สบายตัว นอกจากนี้หากฉันอาหารที่ไม่มีคุณภาพ เช่น เป็นของแสลงแก่ร่างกาย หรือมีรสจัด หรือเป็นของที่เสียแล้ว ก็จะส่งผลต่อร่างกายโดยตรง อาจเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะอาหาร ทำให้ขัดขวางการบำเพ็ญ สมณธรรม ดังนั้นพระภิกษุจึงต้องระมัดระวังในการบริโภคอาหารให้ดี และหากใครได้ฝึกควบคุมการบริโภคอาหารนี้ได้ดีพอ การควบคุมปัจจัย4 อื่นๆ ก็จะทำได้ไม่ยากเกินไป

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016051173210144 Mins