วงจรปัจจัย 4

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2558

วงจรปัจจัย 4


หากจะมองวงจรของปัจจัย 4 ที่เข้ามามีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพระภิกษุให้ครอบคลุมแล้วเราอาจแบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การแสวงหาปัจจัย 4
2. การรับปัจจัย 4
3. การบริโภคใช้ อยปัจจัย 4
4. การดูแลรักษาปัจจัย 4
5. การสละ และการกำจัดปัจจัย 4

 

            1. การแสวงหาปัจจัย 4 เนื่องจากมีพระบรมพุทธานุญาตว่า พระภิกษุต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพเท่านั้นจึงไม่อาจจะซื้อหาปัจจัย 4 มาใช้ได้ตามใจตนเอง ดังนั้นเมื่อมีความจำเป็นต้องได้ปัจจัย 4 มา พระภิกษุจึงต้องแสวงหาด้วยการขอจากสาธุชน ซึ่งในการหานั้น ต้องทำโดยสัมมาอาชีวะ คือ แสวงหามาโดยชอบธรรมไม่แสวงหามาด้วยการเลี้ยงชีพอันไม่สมควรแก่สมณะ ที่เรียกว่า "อเนสนา" เช่น การหลอกลวงเขา การลงทุนหาผลประโยชน์ การให้ข้าวของเพื่อหวังผลตอบแทน การประจบรับใช้คฤหั ถ์ หรือการเป็นหมอเวทมนตร์ เสกเป่า เป็นต้น


            2. การรับปัจจัย 4 หลังจากพระภิกษุแสวงหาปัจจัย 4 มาได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการรับปัจจัย 4ที่สาธุชนถวายมา ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาขั้นตอนทั้งหลาย ดังพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงไว้ในตอนต้นว่า"ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณใน"การรับ" จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร..."แสดงให้เห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญในขั้นตอน "การรับ" มากกว่าขั้นตอนอื่นๆส่วนว่าจะมีความสำคัญอย่างไร จะได้อธิบายโดยละเอียดต่อไปในหัวข้อ "ความสำคัญและวิธีการรับปัจจัย 4"


            3. การบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 ขั้นตอนนี้หมายถึงภายหลังจากที่รับปัจจัย 4 มา พระภิกษุก็สามารถนำมาบริโภคใช้สอยต่อไป ซึ่งหลักการสำคัญก็คือ ต้องพิจารณาใช้ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ทั้งนี้เพราะนอกจากปัจจัย 4 จะเป็นทางมาของนิสัยทั้งที่ดีและไม่ดีแล้ว ยังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกฝนอบรมเพื่อความสำรวม กาย วาจา ใจ และเพื่อขจัดกิเลสอาสวะของพระภิกษุได้ด้วย


            4. การดูแลรักษาปัจจัย 4 หมายถึงการใช้ปัจจัย 4 ที่สาธุชนถวายมาให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งในที่นี้พระภิกษุจะต้องคอยหมั่นดูแลรักษา หรือบำรุงให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา เพื่อให้อายุการใช้งานยาวนานยิ่งขึ้น หรือถ้าหากชำรุดเสียหาย ต้องหมั่นซ่อมแซมให้อยู่ใน ภาพที่ดีพร้อมใช้งาน เช่น จีวรที่ใช้ ก็ต้องดูแลรักษาความสะอาดให้ดี เวลาซักก็ไม่ขยี้ผ้าแรงเกินไป ไม่บิดผ้าจนทำให้เสียรูปทรง เวลาผึ่งหรือตากให้แห้ง ต้องระวังไม่ให้ถูกแดดจัดไป เพราะจะทำให้ สีซีดได้ง่าย เวลาเก็บรักษาก็พับให้เรียบร้อย และเก็บรักษาไว้ในที่แห้ง
เป็นต้น


            ในปัจจัย 4 อื่นๆ ที่แม้จะมีลักษณะของการใช้แตกต่างกันไป ก็ยังคงใช้หลักการเดียวกัน ซึ่งการรู้จักดูแลปัจจัย 4 อย่างนี้ ย่อมทำให้พระภิกษุเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา ปัจจัย 4 ที่ได้มาก็จะเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่บริบูรณ์ แต่หากพระภิกษุขาดความระมัดระวัง ไม่ดูแลรักษาปัจจัย 4 ที่ได้มาดีพอ ย่อมเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือสาธุชนก็จะมีความเลื่อมใสศรัทธาลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เพราะพระภิกษุต้องอาศัยปัจจัย 4 ที่ได้มาจากสาธุชน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสถึงความเสื่อมจากการไม่ดูแลข้าวของ ไว้ว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน 4 หรือสถานใดสถานหนึ่ง...คือ
1. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว
2. ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า
3. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
4. ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน"

 

            5. การสละ และการกำจัดปัจจัย 4 ในขั้นตอนที่ 5 นี้ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
1) การสละ หมายถึงเมื่อได้รับปัจจัย 4 มาแล้ว หากเห็นว่าสามารถแบ่งปันปัจจัย 4 ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนสหธรรมิกผู้ประพฤติธรรมได้ก็ควรทำ หรือบางครั้งได้ปัจจัย 4 ที่มีความประณีตมาก เหมาะสมแก่ผู้มีคุณธรรมมากกว่าตน เช่น พระเถระผู้มีคุณธรรม หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็อาจน้อมนำปัจจัย 4 นั้นถวายให้ท่านได้ใช้สอย
2) การกำจัดปัจจัย 4 หมายความว่าหากพระภิกษุใช้สอยปัจจัย 4 จนหมดอายุการใช้งานแล้วหรือจำเป็นต้องทำลายไป ต้องกำจัดสิ่งนั้นไปให้เหมาะสมตามวิธีการ เช่น ผ้าจีวรเก่าๆ ที่ใช้ไม่ได้แล้ว อาจนำไปตัดแบ่งเป็นผ้าผืนเล็กๆสำหรับทำความสะอาด หรืออาหารบิณฑบาตที่เหลือ ไม่สามารถเก็บไว้ได้ให้นำไปเททิ้งในที่อันสมควร เป็นต้น

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014771334330241 Mins