ตัวอย่างการประมาณในการรับ

วันที่ 06 ตค. พ.ศ.2558

ตัวอย่างการประมาณในการรับ


มีเรื่องตัวอย่างของการรับปัจจัย 4 จากพระไตรปิฎกที่น่าสนใจ ที่จะช่วยทำให้เข้าใจถึงการรับปัจจัย4 ได้ดีขึ้น 2 เรื่อง ดังนี้
1. เรื่องพระเจ้าอุเทนถวายจีวรแก่พระอานนท์เพราะความเลื่อมใส
2. เรื่องภิกษุณีถุลลนันทารับกระเทียมไม่รู้จักประมาณ

 

1. เรื่องพระเจ้าอุเทน
            สมัยหนึ่ง พระเจ้าอุเทนกับพระมเหสีประทับอยู่ในพระราชอุทยาน พระมเหสีทรงทราบว่าพระอานนท์อยู่ในที่ใกล้พระราชอุทยานนั้น จึงทูลขอไปเยี่ยมกราบท่านพระอานนท์ เมื่อทรงได้รับอนุญาตแล้ว จึงเสด็จเข้าไปหา พระอานนท์ได้แสดงธรรมจนพระมเหสีเกิดความปีติเบิกบาน พระนางจึงถวายผ้าจีวรแก่พระอานนท์
500 ผืน เมื่อพระเจ้าอุเทนทรงทราบ และติเตียนพระอานนท์ว่ารับจีวรไปทำไมมากมายแล้ว จากนั้นจึงเสด็จ
เข้าไปหาตรัสถามว่า
(พระเจ้าอุเทน) ท่านพระอานนท์ มเหสีของข้าพเจ้ามาหาหรือ
(พระอานนท์) พระมเหสีของพระองค์มาหา มหาบพิตร


(อุ.) ก็พระนางได้ถวายอะไร แก่ท่านพระอานนท์บ้าง
(อา.) ได้ถวายผ้าห่ม (จีวร) แก่อาตมภาพ 500 ผืน มหาบพิตร
(อุ.) ก็ท่านพระอานนท์จักทำอะไรกะจีวรมากมายเพียงนั้น
(อา.) อาตมภาพจักแจกให้แก่ภิกษุทั้งหลาย ที่มีจีวรคร่ำคร่าต่อไป มหาบพิตร
(อุ.) ก็ท่านพระอานนท์จักทำอย่างไรกะจีวรเก่าคร่ำคร่าเหล่านั้นต่อไป
(อา.) อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าดาดเพดาน มหาบพิตร
(อุ.) ท่านพระอานนท์จักทำอย่างไรกะผ้าดาดเพดานเก่าเหล่านั้น
(อา.) อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าปูฟูก มหาบพิตร
(อุ.) ท่านพระอานนท์จักทำอย่างไรกะผ้าปูฟูกที่เก่าเหล่านั้น
(อา.) อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าปูพื้น มหาบพิตร
(อุ.) ท่านพระอานนท์จักทำอย่างไรกะผ้าปูพื้นที่เก่าเหล่านั้น
(อา.) อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าเช็ดเท้า มหาบพิตร
(อุ.) ท่านพระอานนท์จักทำอย่างไรกะผ้าเช็ดเท้าที่เก่าเหล่านั้น
(อา.) อาตมภาพจักทำผ้าเหล่านั้นให้เป็นผ้าเช็ดธุลี มหาบพิตร
(อุ.) ท่านพระอานนท์จักทำอย่างไรกะผ้าเช็ดธุลีที่เก่าเหล่านั้น
(อา.) อาตมภาพจักโขลกผ้าเหล่านั้น ขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา มหาบพิตร


            เมื่อได้รับคำตอบแล้ว พระเจ้าอุเทนทรงชื่นชมในการรับจีวรด้วยความแยบคายของพระอานนท์ ทรงเกิดความเลื่อมใสจึงถวายผ้าจีวรอีก 500 ผืนให้แก่พระอานนท์ ในคราวนั้น จีวร 1,000 ผืน ได้เกิดขึ้นแก่พระอานนท์ในวันเดียว


            จากตัวอย่างการรับผ้าของพระอานนท์ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการรู้จักประมาณในการรับ เราจะเห็นว่าการประมาณ ไม่ได้หมายความว่าต้องรับให้น้อยที่สุดเท่านั้น แต่หมายถึงเมื่อรับมาแล้ว ปัจจัยนั้นก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพระพุทธศาสนามากกว่า ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมา จะพบผลดีที่เกิดจากการรับผ้าของพระอานนท์ดังนี้
1. เป็นประโยชน์กับตัวพระอานนท์เอง ที่จะมีโอกาสได้บุญจากการถวายผ้าแก่เพื่อนสหธรรมิกที่ขาดแคลน
2. เป็นประโยชน์กับหมู่สงฆ์จำนวนมาก ที่ได้อาศัยผ้าที่พระอานนท์นำมาถวาย
3. เป็นประโยชน์กับสาธุชน คือพระเจ้าอุเทนและพระมเหสี ที่มีโอกาสได้สั่งสมบุญ
4. เป็นประโยชน์กับความเจริญของพระพุทธศาสนา เพราะมีพระภิกษุที่ฝึกฝนอบรมตนเองมาดี เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาอย่างพระอานนท์

 

2. เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
            สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งได้ปวารณากระเทียมไว้แก่ภิกษุณีสงฆ์ว่า ภิกษุณีรูปใดต้องการกระเทียมกระผมขอปวารณา และยังได้สั่งคนเฝ้าไร่ไว้ด้วยว่า ถ้าภิกษุณีทั้งหลายมาขอ จงถวายท่านไปรูปละ 23 กำเวลานั้น ในเมืองสาวัตถีกำลังมีงานมหรสพ กระเทียมที่เขานำมาขายหมดพอดี ภิกษุณีทั้งหลายจึงเข้าไปหาอุบาสกคนนั้น แล้วกล่าวว่าพวกตนต้องการกระเทียมอุบาสกกล่าวว่า ไม่มี กระเทียมเท่าที่เขานำมาหมดแล้ว ขอให้ไปเอาที่ไร่
ภิกษุณีถุลลนันทาจึงไปที่ไร่ ขนกระเทียมไปมาก ไม่รู้จักประมาณ คนเฝ้าไร่จึงเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ทำไมภิกษุณีทั้งหลายไปถึงไร่แล้วจึงไม่รู้จักประมาณ ขนกระเทียมไปมากมายจากเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของผู้ที่ไม่รู้จักประมาณในการรับ ทำให้เกิดผลเสีย คือ นอกจากตนเองจะถูกติเตียนแล้ว ยังทำให้สาธุชนเสื่อมความศรัทธาอีก

            ดังนั้น การประมาณในการรับ จึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อตนเองแล้วยังส่งผลไปถึงหมู่คณะสาธุชน และพระพุทธศาสนาโดยรวมด้วย

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018206067879995 Mins