เวลากับชีวิต

วันที่ 08 ตค. พ.ศ.2558

เวลากับชีวิต


            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเอาเรื่องการบริหารเวลามาตรัสไว้ในขั้นตอนที่ 5 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการฝึก เพื่อให้เป็นผู้รู้จักบริหารเวลาทำได้ยากกว่าขั้นตอนอื่นๆ ที่เคยศึกษาผ่านมา อีกทั้งเวลายังต้องมีความสำคัญต่อการฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลสด้วย ซึ่งรายละเอียดของการบริหารเวลา จะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป


ความจริงเกี่ยวกับเวลา
            คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เอาใจใส่กับเรื่องของเวลามากนัก และมักจะไม่ได้ให้ความ สนใจว่าเวลาจะมามี
ผลกระทบต่อชีวิตของตนเองอย่างไร บางคนจึงปล่อยเวลาให้ผ่านไปกับสิ่งที่ไม่ใช่สาระแก่นสารที่แท้จริงตั้งแต่เกิดมา เราใช้เวลาไปกับการศึกษาเล่าเรียน การบริหารร่างกาย การพูดคุย การนอนหลับพักผ่อน การทำงาน การเที่ยวเตร่สนุกสนาน ฯลฯ ในแต่ละวันนานหลายชั่วโมง โดยที่ไม่ได้นึกเฉลียวใจเลยว่าขณะที่เวลาล่วงเลยผ่านไป ก็ได้นำสิ่งที่มีค่า ที่สำคัญต่อการแสวงหาแก่นสารสาระในชีวิต คือการสั่งสมบุญบารมี เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานของเราให้ผ่านไปด้วยมีความจริงเกี่ยวกับเวลา ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม อยู่อย่างน้อย 5 ประการ คือ
1) เวลาผ่านไปแล้วย่อมผ่านเลย แม้นี้จะเป็นความจริงที่ทุกคนทราบดี แต่กลับไม่ค่อยมีใครได้สังเกต ว่าทุกวินาทีที่คืบคลานผ่านไป เวลาได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของเราบ้าง


2) นำวัยอันสดใสและความแข็งแรงไป เมื่อเวลาผ่านไป อายุหรือวัยของแต่ละคนก็เพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ แต่เรามักจะสังเกตไม่เห็น เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "สันตติ" คือ การ สืบต่อ หรือการเกิดดับต่อเนื่องกันไป ยกตัวอย่างที่เห็นได้เป็นรูปธรรม เช่น เมื่อผมเส้นหนึ่งหลุดร่วงไป ก็มีผมเส้นใหม่เกิดขึ้นมาแทน หรือเมื่อเซลล์ผิวหนังหลุดลอกออกไป ก็เกิดเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทน เป็นต้น ด้วยลักษณะความ สืบต่อที่ต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่จะสังเกตเห็นต่อเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายๆ ปีจึงจะสังเกต เห็นกันสักทีว่าวัยเราเปลี่ยนแปลงไป จากวัยทารก มาเป็นเด็กเล็ก จากเด็กเล็กมาเป็นเด็กโตจากเด็กโตเข้าสู่วัยรุ่น จากวัยรุ่นเข้าสู่วัยทำงาน จากวัยทำงานเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จากวัยผู้ใหญ่เข้าสู่วัยชรา ซึ่งกว่าจะรู้สึกว่าตนเองเปลี่ยนไป เวลาก็ผ่านไปหลายปี พร้อมกันกับที่ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง


3) นำความชรามาให้ ความชราหมายถึง ความแก่หง่อมของร่างกาย ความคร่ำคร่า ความเสื่อมของอายุ เมื่อความชรามาถึง คนส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกได้ จากทั้งความเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกาย และความแข็งแรงที่ลดน้อยถอยลงอย่างชัดเจน แต่แม้อย่างนั้น ก็ยังมีน้อยคนนัก ที่จะได้ย้อนกลับมาพิจารณาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตนเองได้สั่งสมบุญบารมีมามากน้อยเพียงใด หรือเป็นไปเพื่อการบรรลุเป้าหมายของชีวิตหรือไม่


4) นำโอกาสดีๆ ของชีวิตให้ล่วงเลยผ่านไป เพราะเวลาที่เหมาะสมและดีที่สุด ที่จะสร้างบุญบารมีได้ ก็คือเมื่ออยู่ในยามหนุ่มยามสาวอันสดใสซึ่งมีร่างกายอันสมบูรณ์แข็งแรง แต่ผู้คนจำนวนมากกลับใช้วันเวลาในระยะนี้ไปกับเรื่องที่ไม่เป็นแก่นสาร แทนที่จะรีบขวนขวายสร้างบุญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป บางคนถึงกับมีความเห็นผิดไปอีกว่า ควรรอให้แก่ก่อนจึงค่อยเข้าวัดสร้างบุญบารมี ซึ่งหลายคนก็ไม่มีโอกาสจะมีชีวิตจนถึงตอนนั้น หรือหากถึง ก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอย่างที่คิดไว้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าปล่อยให้โอกาสดีๆ ของชีวิตหลุดลอยไปเพราะความประมาทในชีวิตของตนเอง


5) นำความตายมา นี้เป็นความจริงแท้แน่นอนสำหรับทุกคน ในขณะที่เวลาผ่านเลยไป แม้อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือทุกชีวิตล้วนกำลังเดินทางไปสู่จุดสุดท้ายซึ่งก็คือความตายนั่นเองและเมื่อความตายมาถึงสำหรับผู้ที่ไม่ได้สร้างความดี เพราะมัวปล่อยให้โอกาสดีๆ ในชีวิตผ่านเลยไปก็ย่อมประสบกับวิบากที่ตนเองทำไว้ในโลกหน้า โดยไม่อาจจะย้อนเวลาเพื่อกลับมาแก้ตัวใดๆ เหมือนดังที่
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสในเทวทูตสูตร1 ถึงผู้ที่ประมาท ทำบาปไว้ในคราวมีชีวิต เมื่อละโลกไป พญายมจะ
ถามเขาว่าตอนยังมีชีวิตอยู่ได้เห็นเทวทูตทั้ง 5 คือ เด็กที่เกิดใหม่ คนแก่ คนเจ็บ คนที่ถูกลงโทษจองจำ และ
คนตาย หรือไม่ เมื่อเขาตอบว่าเห็น พญายมจะถามเตือน ติต่อไปว่า ตัวท่านนั้นก็มี ติดี เป็นผู้ใหญ่แล้วเคยคิดบ้างไหม ว่าตนเองก็ต้องมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ การถูกลงโทษเมื่อทำความชั่ว และมีความตายเป็นธรรมดา ควรที่จะทำความดีทาง กาย วาจา และใจ เมื่อเขาตอบว่าไม่ได้คิด เพราะมัวประมาทอยู่พญายมจึงกล่าวกับเขาว่า


"ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ไม่ใช่ มณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้"

 

            ดังนั้น เวลาจึงมีคุณค่ากับทุกๆ ชีวิต และแม้เวลาจะเดินไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวก็ตาม ก็ต้องพยายามพิจารณา เพื่อใช้เวลาที่มีอยู่นั้น ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตให้มากที่สุด


ความไม่ประมาทในชีวิต
            สำหรับผู้รู้จักความจริงของเวลา ว่าสุดท้ายแล้วก็จะนำความตายมาให้ ย่อมจะไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เขาเหล่านั้นจะเร่งขวนขวายในการสร้างความดี เพื่อให้ชีวิตนี้ไปสู่จุดหมายปลายทาง คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งหนึ่งในบรรดาผู้ที่เห็นคุณค่าของเวลา ก็คือพระภิกษุ ผู้ทิ้งความสนุกสนานเพลิดเพลินในทางโลก มาประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเห็นว่าไม่ควรประมาทในการทำความดี แตกต่างจากผู้ที่ไม่เข้าใจเหมือนกับเรื่องราวใน รัฏฐปาลสูตร ที่พระเจ้าโกรัพยะ ผู้ครองกุรุรัฐ ถามพระรัฐปาละด้วยความสงสัยในการออกบวชของท่านตั้งแต่ยังหนุ่มว่า
"คนบางคนในโลกนี้จะออกบวชก็ต่อเมื่อพบกับความเสื่อม 4 ประการ คือ
1. เสื่อมเพราะความชรา ด้วยเห็นว่าคงทำมาหากินต่อไปก็ไม่ก้าวหน้าอีกแล้ว จึงออกบวช
2. เสื่อมเพราะความเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยคิดว่าคงทำมาหากินต่อไปได้ยาก จึงออกบวช
3. เสื่อมเพราะสิ้นทรัพย์สมบัติ ทำอะไรต่อไปลำบาก จึงออกบวช
4. เสื่อมเพราะไร้ญาติที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไป จึงออกบวช"


พระองค์ยังตรัสต่อไปว่า ไม่ทรงเห็นว่าพระรัฐปาละจะเสื่อมจากทั้ง 4 เรื่องแต่อย่างใดพระรัฐปาละ ไปรู้อะไรมาหรือ ถึงได้ตัดสินใจออกบวชเช่นนั้นพระรัฐปาละจึงถวายพระพรตอบว่า เพราะได้ฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ 4 ข้อจึงทำให้ท่านตัดสินใจอกบวช คือ
1. โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน หมายถึง วันหนึ่งทุกคนต้องแก่ชราลง ไม่มีใครจะห้ามไม่ให้ตนเองแก่ชราได้ ความแข็งแรงที่เคยมีก็จะหายไปด้วย


2. โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน หมายถึง ในยามที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่มีใครจะมาช่วยแบ่งเบาความทุกข์จากเราได้ มีแต่เรานั่นแหละ ที่ต้องทนกับทุกขเวทนาด้วยตัวของเราเอง

 

3. โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป หมายถึง ทรัพย์สินเงินทอง ความสุขทั้งหลายในทางโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้สักอย่างเดียว


4. โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา หมายถึง คนเรามีความอยากได้อยู่ตลอด
เวลา ไม่รู้จักพอ ไม่มีวันอิ่ม เป็นทาสของกิเลสตัณหาเรื่อยไปเพราะความจริงทั้ง 4 ประการนี้ จึงเป็นเหตุให้ท่านพระรัฐปาละเห็นว่าชีวิตของคนเรานี้มีแต่ความทุกข์ ร่างกายที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ย่อมจะไม่มีค่าอะไร หากไม่ได้ใช้ร่างกายนี้ไปเพื่อการทำความดี"การกล่าวถึงความตาย บางคนอาจมีความคิดว่าพระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความจริงก็ต้องเป็นความจริงอยู่นั่นเอง ผู้มีปัญญา จึงควรนำความจริงนั้นมากระตุ้นให้ตนเองได้สร้างความดี เช่นเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุให้หมั่นพิจารณาถึงความตายอยู่เนืองนิตย์ ไม่ใช่เพื่อให้เรากลัวความตาย แต่ให้อาศัยความจริงนั้นเพื่อกระตุ้นเตือนตนเองให้ทำความดี


ดังที่พระองค์ตรัสไว้ใน จตุตถปฏิปทาสูตร ว่าสมัยหนึ่ง พระองค์ตรัสอนพระภิกษุว่าควรจะได้เจริญมรณสติ คือ ระลึกถึงความตายทั้งกลางวันและกลางคืน โดยไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน ก็ให้นึกว่าอาจมีเหตุให้เราตายได้ตลอดเวลา เช่น อาจถูกงูกัด แมงป่องต่อย ตะขาบกัด พลาดหกล้ม อาหารไม่ย่อย ถูกคนทำร้าย หรือถูกอมนุษย์เบียดเบียน แล้วจึงพิจารณาต่อไปว่า บาปอกุศลทั้งหลายที่จะเป็นอันตรายหากเราตายไปนั้น ตอนนี้เราละได้แล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ให้รีบทำความเพียรเพื่อละบาปอกุศลนั้นเสีย เหมือนกับคนมีผ้าถูกไฟไหม้ หรือที่ศีรษะถูกไฟไหม้ ก็จะต้องรีบดับไฟนั้นให้ได้โดยเร็วคนเราเมื่อยังแข็งแรงอยู่ย่อมไม่รู้สึกถึงความตายที่กำลังย่างกรายมาถึง ต่อเมื่อต้องนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย จึงจะเข้าใจ และเริ่มหาที่พึ่งสุดท้ายให้กับชีวิต บางครั้งเพื่อความไม่ประมาท ทุกคนควรมีโอกาสถามคำถามกับตนเอง ว่าเมื่อถึงวันที่เราต้องจากโลกนี้ไป วันนั้นเราอยากทำอะไรที่สุด แต่แน่นอนว่าคำตอบที่ได้ย่อมแตกต่างกันไป ตามแต่ใครจะมีปัญญาเพียงพอจะมองความจริงของโลกและชีวิตออกว่าเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้มีตัวอย่างที่ดี ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถามคำถามให้พระเจ้าปเสนทิโกศลตอบใน ปัพพโตปมสูตร ว่า

 

"หากเวลานี้ มีข้าราชการของพระองค์ผู้มาจากทั้ง 4 ทิศ กราบทูลว่า ขณะนี้มีภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆกำลังกลิ้งบดขยี้สัตว์ทั้งหลายเข้ามา พระองค์จะทรงปรารถนาเพื่อทำสิ่งใด ก็ขอได้โปรดทำเถิด"จากนั้นทรงถามต่อไปว่า "เมื่อมหาภัยใหญ่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างนี้ พระองค์จะทำอะไร"พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลตอบว่า "ข้าพระองค์จะประพฤติปฏิบัติธรรม และทำบุญกุศล พระเจ้าข้า"พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพขอบอกกล่าว ขอเตือนให้ทรงทราบดูก่อนมหาบพิตร ชราและมรณะย่อมครอบงำพระองค์ ดูก่อนมหาบพิตร ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำพระองค์อยู่ อะไรเล่า จะพึงเป็นกิจที่มหาบพิตรพึงกระทำ"พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลตอบย้ำเช่นเดิมว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำข้าพระองค์อยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรจะทำ นอกจากประพฤติธรรม นอกจากประพฤติสม่ำเสมอนอกจากทำกุศล นอกจากทำบุญ"


ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาสก็ต้องไม่ประมาทในวันเวลาที่ผ่านไป และจะต้องรีบเร่งขวนขวายสั่ง มบุญบารมีเรื่อยไปให้ได้ทุกวัน

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014630993207296 Mins