กาลทั้ง 4 กับการฝึกอบรมของพระภิกษุ

วันที่ 08 ตค. พ.ศ.2558

กาลทั้ง 4 กับการฝึกอบรมของพระภิกษุ


          ในหมวดธรรมที่ชื่อว่ากาลัญญู พระพุทธองค์ตรัสแนะนำพระภิกษุที่ฝึกตนเองจนเป็นผู้รู้จักประมาณใน
การรับปัจจัย 4 ได้แล้วว่า ให้เป็นผู้รู้จักกาลทั้ง 4 ต่อไป นั่นย่อมแสดงว่า หากพระภิกษุยังไม่สามารถจะประมาณในการรับปัจจัย 4 ได้ ก็ย่อมไม่อาจจะบริหารเวลาให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้สูงสุด

 

ความสำคัญของกาลทั้ง 4
การเป็นผู้รู้จักกาล หมายถึง การรู้จักเวลาอันสมควรในการทำกิจทั้ง 4 ประการ คือ การเรียนการสอบถาม การประกอบความเพียร และการหลีกออกเร้นให้สมบูรณ์

1) การเรียน หมายถึงการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย หรือคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ซึ่งพระภิกษุต้องใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่าพระพุทธองค์ทรงสอนอะไร เพื่อจะได้นำมาเป็นกรอบให้กับตนเองปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นในการใช้เวลาไปเพื่อการเรียนในข้อนี้ จึงมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การเพิ่มพูนความรู้ทางธรรม หรือเพิ่มพูนความเป็น "ธัมมัญญู" ของตนเองให้สมบูรณ์

 

2) การสอบถาม หมายถึงการซักถามหัวข้อธรรมที่ตนสงสัย กับครูบาอาจารย์หรือผู้รู้ ซึ่ง อาจเป็นหัวข้อธรรมที่ตนไม่เข้าใจจริงๆ พอเข้าใจอยู่บ้าง แต่ไม่มั่นใจว่าจะถูกต้องหรือไม่ เข้าใจแล้ว แต่ต้องการให้ท่านขยายความให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป ต้องการให้ท่านยืนยันในสิ่งที่ตนเข้าใจว่าถูกต้องจริงๆทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริงไป และเพื่อส่องให้ตนเองเห็นแนวทางที่จะนำไปฝึกฝนอบรมตนเองได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในการสอบถามให้บรรลุผลนี้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 2ส่วน ดังนี้


1. "ผู้ถาม" ในที่นี้หมายเอาบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่เพิ่งฝึกอบรมใหม่ หมายถึงผู้ที่บวชใหม่ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นในการศึกษา และเริ่มนำความรู้ที่ได้ศึกษามาฝึกหัดปฏิบัติ เพื่อขัดเกลาตนเอง ซึ่งในที่นี้ แม้จะเป็นพระภิกษุที่บวชมานาน แต่ยังไม่เคยฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนในคณกโมคคัลลานสูตรอย่างจริงจัง หรืออีกนัยหนึ่งคือยังไม่ได้เข้มงวดกวดขันตนเองในเรื่อง ศีลสมาธิ ปัญญา มาเท่าที่ควรจะเป็น ก็ให้ถือว่าอยู่ในกลุ่มผู้อบรมใหม่เช่นกัน
กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ได้ฝึกปฏิบัติจนเห็นผลมาบ้างแล้ว ในกลุ่มนี้ มักจะมีความเข้าใจในธรรมะมา ระดับหนึ่ง แต่ถึงอย่างไร ก็ยังไม่สามารถก้าวล่วงความ งสัยในระหว่างการฝึกไปได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการฝึกจิต หรือการเจริญสมาธิภาวนา หากยังไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใด ก็ยังคงต้องการครูบาอาจารย์ หรือท่านผู้รู้ที่จะช่วยแนะนำ และประคับประคองให้การฝึกใจของตนก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป


2. "ผู้ตอบคำถาม" ในที่นี้หมายถึงครูบาอาจารย์ หรือท่านผู้รู้ที่รู้จริง คือรู้ทั้งธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนไว้ รู้ทั้งความหมายและเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ได้ผล และท่านต้องเป็นผู้ฝึกฝนอบรมตนเองมาอย่างดีแล้ว ครูบาอาจารย์อย่างนี้ จึงจะเป็นผู้ที่เข้าใจถึงสิ่งที่ผู้ถามต้องการถาม และสามารถจะให้คำตอบที่ชัดเจนกระจ่างดุจดั่งเห็นลายมือบนฝ่ามือตนเอง ดังนั้นการมีครูบาอาจารย์ที่สามารถแนะนำและช่วยขจัดความสงสัยให้ได้ จึงมีความสำคัญอันยิ่งใหญ่สำหรับพระภิกษุที่มีเป้าหมายอยู่ที่การบรรลุมรรคผลนิพพานดุจดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน "เสนาสนสูตร" ซึ่งมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้ คือ พระภิกษุที่ฝึกตนเองมาดีแล้วหากได้อยู่ในสถานที่ที่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้ 5 ประการ ก็ย่อมจะบรรลุมรรคผลนิพพานภายในเวลาไม่นานคือ
1. ได้เสนาสนะที่เหมาะสม คือสถานที่อาศัยที่ไม่ใกล้ไม่ไกลชุมชนนักสงบเงียบเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม
2. ปัจจัย 4 หาได้ง่าย ไม่ลำบาก
3. ณ ที่นั้น มีพระเถระทั้งหลายที่เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย
4. พระภิกษุนั้นหมั่นเข้าไปสอบถามในหัวข้อธรรมต่างๆ กับท่าน
5. พระเถระเหล่านั้นอธิบายธรรมที่ยังไม่ได้อธิบาย และทำให้เข้าใจง่าย จนพระภิกษุนั้นหายสงสัยในแต่ละหัวข้อธรรมด้วยปัจจัยดังกล่าวหัวข้อการสอบถามในกาลัญญูนี้ จึงจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่สามารถแนะนำธรรมะให้ได้ด้วย และการสอบถามนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระภิกษุมีคุณสมบัติเป็น "อัตถัญญู" ให้ยิ่งๆขึ้นไป

 

3) การประกอบความเพียร หมายถึงการฝึกฝนอบรมตนเองในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายเอาการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นหัวใจของการฝึกฝนอบรมตนเองให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะจากการศึกษาที่ผ่านมา นักศึกษาได้ทราบแล้วว่า พระภิกษุมีวิธีในการฝึกฝนอบรมตนเองหลายทางโดยผ่านสิ่งต่างๆ ดังนี้
1. ฝึกผ่านกิจวัตรที่พระภิกษุต้องปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การบิณฑบาต การสวดมนต์การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
2. ฝึกผ่านกิจกรรม หรือภารกิจหน้าที่การงานของสงฆ์ ได้แก่ การดูแลรักษา ซ่อมแซม หรือสร้างเสนาสนะ หรือธุระอื่นใด ที่สงฆ์มอบหมายให้รับผิดชอบ
3. ฝึกผ่านปัจจัย 4 ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์การฝึกที่ช่วยสร้างนิสัยดีๆ ให้เกิดขึ้น นิสัยเหล่านี้ จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้พระภิกษุได้ฝึกฝนตนเอง จนมีคุณธรรมก้าวหน้าได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปจากการฝึกเหล่านั้น นอกจากจะทำให้พระภิกษุเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ มีศีลาจารวัตรอันงดงาม เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ก็ยังเป็นเครื่องฝึก ติสัมปชัญญะ ใจไม่ไปเกาะอยู่กับสิ่งต่างๆนอกตัว ซึ่งการฝึกทุกอย่างที่ผ่านมานั้น ท้ายที่สุดแล้วก็ทำให้ใจของท่านกลับเข้ามาตั้งมั่นอยู่ภายในตัว


          ดังนั้นในการทำความเพียรตามหมวดธรรมกาลัญูนี้ จึงมุ่งไปที่ "การเจริญสมาธิภาวนา" เพื่อกลั่นใจให้ใส
สะอาด หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงการทำความเพียร จึงเป็นการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อขัดเกลากาย วาจา และใจ โดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจจากการเป็น "อัตถัญญู" มาใช้

 

4) การหลีกออกเร้น หมายถึง
1. การหลีกออกไปหา ถานที่อันเหมาะแก่การเจริญสมาธิภาวนา เพื่อหาความสงบสงัด ที่เรียกว่า "กายวิเวก" ซึ่งหมายถึงการปลีกตัวเองออกไปจากหมู่คณะ เพื่อแสวงหาที่อันเงียบสงบ ละเว้นจากการคลุกคลี เช่นเดียวกับพระธุดงค์ที่เดินทางไปตามที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความสงัดกาย เป็นต้น


2. การหลีกออกจากกิเล ทั้งปวง เช่น ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้นอย่างไร  ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละความถือตัวว่าเป็นเราแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้วทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา"ในที่นี้ การหลีกออกเร้นมีความมุ่งหมาย 2 นัยด้วยกัน คือ
1. หลีกออกเร้นเพื่อเจริญสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง
2. หลีกออกเร้นเพื่อทบทวนพิจารณาคุณธรรมความก้าวหน้าของตนเองความต่างระหว่าง "การประกอบความเพียร" และ "การหลีกออกเร้น" ก็คือ การประกอบความเพียร หมายเอาการเจริญสมาธิภาวนาที่พระภิกษุได้ฝึกปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวันของท่านอยู่แล้วส่วนการหลีกออกเร้น จะหมายเอาการเจริญสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องในการฝึกใจ ซึ่งจะช่วยให้ใจหยุดนิ่งได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น


            ดังนั้น ในการหลีกออกเร้น จึงเน้นในการฝึกปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตใจ หรือ "อัตถัญญู" และการประเมินคุณธรรมภายในหรือ "อัตตัญญู"

            สรุปได้ว่า กาลทั้ง 4 ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุฝึกปฏิบัติ ก็คือกิจวัตรที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด 4 ประการ หากพระภิกษุหวังที่จะมีคุณธรรมก้าวหน้า ก็ต้องพยายามใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน เพื่อมาทำเรื่องทั้ง 4 ให้สมบูรณ์ส่วนเวลาที่เหลือนอกจากนั้น จึงค่อยแบ่งไปทำกิจอื่นๆ ที่สำคัญรองลงไป

 

ความสัมพันธ์ของกาลทั้ง 4 ที่มีต่อการทำพระนิพพานให้แจ้ง
            จากการบริหารเวลาเพื่อมาทำกิจวัตรที่สำคัญที่สุด 4 ประการดังที่กล่าวมา เราอาจสรุปได้ว่า"การเรียน" และ "การสอบถาม" คือการศึกษาพระพุทธศาสนาในด้าน "ปริยัติ" ในขณะเดียวกัน "การประกอบความเพียร" และ "การหลีกออกเร้น" คือการศึกษาในด้าน "ปฏิบัติ" ซึ่งถ้าพระภิกษุได้หมั่นตอกย้ำหมั่นฝึกฝนตนเองทั้งด้าน "ปริยัติ" และ "ปฏิบัติ" อย่างเอาจริงเอาจังสุดท้ายย่อมได้รับ "ปฏิเวธ" หรือผลจากการกระทำนั้น เป็นการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งมวลการฝึกฝนอบรมตนเองตามวิธีการตั้งแต่ธัมมัญญูจนถึงกาลัญญูนี้ จึงสามารถเรียงลำดับการฝึกที่เป็นขั้นเป็นตอนได้ชัดเจนดังนี้
1. การศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หมดสิ้น เพื่อที่จะได้รู้จริงว่าพระองค์ทรงสอนอะไร(ธัมมัญญู)
2. ทำความเข้าใจคำสอนนั้น ว่าพระองค์หมายถึงนัยใด มีความลุ่มลึกเช่นไร และนำความเข้าใจนั้นมาสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนเอง (อัตถัญญู)
3. เมื่อฝึกจนได้ผลเป็นคุณธรรมภายใน ต้องรู้จักประเมินความก้าวหน้าของตนเองให้ได้ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก (อัตตัญญู)
4. เนื่องจากพระภิกษุ ไม่ได้มีหน้าที่การงาน หรือทำกิจต่างๆ เหมือนกับที่ฆราวาสทำ ดังนั้นการฝึกทั้งหมดของท่าน จึงไม่อาจจะฝึกด้วยวิธีการอื่นใด นอกจากอาศัยสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว หรือสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือ จำเป็นต้องฝึกกาย วาจา ใจ ผ่านกิจวัตร กิจกรรม และโดยเฉพาะปัจจัย 4 ที่เกี่ยวพันกับชีวิตของท่าน (มัตตัญญู)
5. การจะฝึกให้ได้ผลสมบูรณ์ จำเป็นต้องตอกย้ำปฏิบัติกันจนถึงระดับที่เรียกกันว่า "เสพคุ้น" คือทำซ้ำเดิมบ่อยๆ ดังนั้นเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวัน พระภิกษุจึงต้องจัดสรรมาเพื่อการฝึกแบบตอกย้ำซ้ำเดิม ซึ่งก็คือการทำขั้นตอนที่ 1 ถึง 4 ให้มีความเข้มข้นยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งต้องอาศัยความเพียรพยายาม ความสม่ำเสมอและความอดทน (กาลัญญู)

 

            ดังนั้น การฝึกเพื่อพัฒนาคุณธรรมให้เจริญก้าวหน้าของพระภิกษุ จึงต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมผ่านขั้นตอน 4 อย่างนี้ ได้แก่
(1) กิจวัตรประจำวัน
(2) กิจกรรม หรือหน้าที่การงาน
(3) ปัจจัย 4
(4) การบริหารเวลา


            หากอุปมาขั้นตอนที่ 1 ถึง 4 หรือธัมมัญูถึงมัตตัญญู ว่าเหมือนการใช้ขวานฟันเพื่อโค่นไม้ใหญ่กาลัญญูก็คงเป็นเหมือนการฟันซ้ำๆ ลงไป โดยทุ่มความพยายามลงไปที่เป้าหมาย และไม่ยอมเสียเวลาไปกับเรื่องอื่นที่ไม่สำคัญด้วยอาศัยวิธีการฝึกไปตามลำดับอย่างนี้ ย่อมทำให้การฝึกตามขั้นตอนที่มีในคณกโมคคัลลานสูตร
ไม่ว่าจะเป็น (1) การสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์ (2) การมีอินทรียสังวร (3) การรู้จักประมาณในโภชนาหาร
(4) การเป็นผู้ตื่นอยู่ (5) การมี ติสัมปชัญญะ และ (6) การเสพเสนาสนะอันสงัดสามารถทำได้ไม่ยากจนเกินไปนัก

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012250502904256 Mins