วิธีการวางตัวกับบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม

วันที่ 13 ตค. พ.ศ.2558

วิธีการวางตัวกับบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม


วางตัวอย่างไรให้เหมาะสม
           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการวางตัวกับกลุ่มคนทั้ง 4 กลุ่ม ไว้ 5 ลักษณะ คือ การเข้าไปหาการยืน การกระทำ การนั่ง และการนิ่ง ในอาการทั้ง 5 นั้น มีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างสำหรับแต่ละกลุ่มคน และสถานการณ์ ทั้งนี้เพราะความแตกต่างทางความคิด ความเห็น วันธรรมประเพณี รวมทั้งจริตอัธยาศัยในแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกันไป และแม้กระทั่งในกลุ่มเดียวกันก็อาจจะยังมีความแตกต่างกันอีกแต่โดยรวมแล้ว พระภิกษุจะต้องมีกิริยาอาการอันน่าเลื่อมใสตามกรอบของพระธรรมวินัย เมื่อเข้าไปสู่ชุมชนใดแล้วต้องไม่เก้อเขินสง่างามสมกับเป็นสมณะผู้บริบูรณ์ด้วยศีลสมาธิ ปัญญา และต้องไม่เป็นที่น่ารังเกียจของทุกชุมชน เช่นเดียวกับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสว่าพระองค์เข้าไปสู่บริษัทใด ย่อมกลมกลืนกับบริษัทนั้นได้ทันที หมายความว่าพระองค์ทรงทราบถึงความพอดี และทรงปฏิบัติพระองค์เมื่ออยู่ท่ามกลางสมาคมนั้นๆ ได้อย่างดีไม่มีที่ติสักนิดเดียว ซึ่งพระองค์ทรงตรัสเรื่องเหล่านี้ไว้ใน ปริสูตร ว่า


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเข้าไปหาบริษัทกษัตริย์หลายร้อยบริษัท ย่อมรู้ดีว่า แม้ในบริษัทนั้นเราเคยนั่งประชุมด้วย เคยสนทนาปราศรัยด้วย เคยสนทนาธรรมด้วย ในบริษัทกษัตริย์นั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้เห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ บริษัทกษัตริย์เหล่านั้นย่อมไม่รู้ ใครหนอนี่ เป็นเทวดาหรือมนุษย์พูดอยู่ ครั้นเราชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทานให้อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วหายไป เมื่อเราหายไปแล้วกษัตริย์เหล่านั้นก็ไม่รู้ว่าใครหนอนี่ เป็นเทวดาหรือมนุษย์หายไปแล้ว แม้บริษัทพราหมณ์ ฯลฯ บริษัทคฤหบดี ฯลฯ บริษัท มณะ ฯลฯ บริษัทเทวดา ฯลฯ..."


ในอาการที่ควรกระทำ 5 ประการ มีตัวอย่างดังนี้
1. "เข้าไปหา"กรณีนี้สามารถดูตัวอย่างจากการบิณฑบาตของพระภิกษุก็จะเห็นรายละเอียดได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากว่า เป็นกิจวัตรประจำวันที่พระภิกษุจะต้องเข้าไปหาสาธุชนในทุกระดับ ทั้งกษัตริย์พราหมณ์ คฤหบดี ก็พึงต้องเข้าไปหาด้วยอาการอย่างนี้คล้ายๆ กัน และหากจะต่างกันไปบ้างก็คงอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการเข้าไป ในส่วนของพระวินัย พระองค์ทรงสอนให้พระภิกษุเข้าไปบิณฑบาต2 ดังนี

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คิดว่าจักเข้าบ้านในบัดนี้ เมื่อปกปิดมณฑลสามพึงนุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มผ้าซ้อน 2 ชั้น กลัดลูกดุม ล้างบาตรแล้ว ถือเข้าบ้านโดยเรียบร้อยไม่ต้องรีบร้อนพึงปกปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน พึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน พึงมีตาทอดลงไปในละแวกบ้าน อย่าเวิกผ้าไปในละแวกบ้าน อย่าหัวเราะลั่นไปในละแวกบ้าน พึงมีเสียงน้อยไปในละแวกบ้านอย่าโยกกายไปในละแวกบ้าน อย่าไกวแขนไปในละแวกบ้าน อย่าโคลงศีรษะไปในละแวกบ้าน อย่าค้ำกายไปในละแวกบ้าน อย่าคลุมศีรษะไปในละแวกบ้าน อย่าเดินกระโหย่งไปในละแวกบ้านเมื่อเข้านิเวศน์พึงกำหนดว่า จักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ อย่ารีบร้อนเข้าไป อย่ารีบร้อนออกเร็วนัก อย่ายืนไกลนัก อย่ายืนใกล้นัก อย่ายืนนานนัก อย่ากลับเร็วนัก พึงยืนกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ประสงค์จะถวาย ถ้าเขาพักการงาน ลุกจากที่นั่งจับทัพพี หรือจับภาชนะ หรือตั้งไว้ พึงยืนด้วยคิดว่าเขาประสงค์จะถวาย เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกผ้าซ้อนด้วยมือซ้าย พึงน้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวา แล้วพึงใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับภิกษา และไม่พึงมองดูหน้าผู้ถวายภิกษา พึงกำหนดว่าเขาประสงค์จะถวายแกงหรือไม่ประสงค์จะถวาย ถ้าเขาจับทัพพี จับภาชนะ หรือตั้งไว้ พึงยืนอยู่ด้วยคิดว่าเขาประสงค์จะถวาย เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยผ้าซ้อน แล้วกลับโดยเรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน ฯลฯดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นวัตรของภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรซึ่งภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร พึงประพฤติเรียบร้อย"


            จะเห็นว่าเพียงการเข้าไปบิณฑบาต พระองค์ยังทรงกำหนดอาการไว้อย่างละเอียดลออ ไม่มีข้อที่จะถูกผู้อื่นตำหนิได้ตรงไหน พระภิกษุที่ฝึกตัวและปฏิบัติตามได้ ย่อมเป็นผู้ยังความเลื่อมใสมาสู่มหาชนส่วนในกรณีอื่นๆ อีกนั้น เช่นหากพระภิกษุจะต้องเข้าไปสู่บ้านของสาธุชน พระองค์ทรงให้หลักในการตัดสินไว้ว่า หากบ้านใดมีลักษณะทั้ง 9 ประการต่อไปนี้ พระภิกษุไม่ควรเข้าไป คือ
1. เขาไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ
2. ไม่กราบไหว้ด้วยความพอใจ
3. ไม่ให้ที่นั่งด้วยความพอใจ
4. ซ่อนของที่มีอยู่ของเขาไว้
5. เมื่อของมีอยู่มาก ก็ให้แต่น้อย
6. เมื่อมีของประณีต ก็ให้ของเศร้าหมอง
7. ให้โดยไม่เคารพ ไม่ให้โดยความเคารพ
8. ไม่นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
9. เมื่อกล่าวธรรมอยู่เขาก็ไม่ยินดี


            แต่หากมีลักษณะตรงกันข้าม ก็ทรงแนะนำให้เข้าไป เมื่อเข้าไปแล้ว ยังให้รักษากิริยาอาการที่ดี อีก5 ประการ คือ
1. อย่าถือวิสาสะกับสาธุชนที่เราไม่คุ้นเคย
2. อย่าบงการ หรือเจ้ากี้เจ้าการให้เขาทำนั่นทำนี่ให้
3. อย่าคบหากับคนที่ไม่ถูกกับเขา หรือไม่หวังดีกับเขา
4. อย่าพูดกระซิบกระซาบกัน
5. อย่าขอมากเกินไป

 

2. "ยืน" ประการถัดมา พระองค์ตรัสว่า "พึงยืนอย่างนี้" ซึ่งอาการยืนที่ถูกต้องนั้น ควรเว้นจาก
ลักษณะ 6 อย่าง2 ดังนี้ คือ
1. ไม่ยืนไกลเกินไป เพราะหากต้องพูดก็ทำให้ต้องพูดเสียงดัง
2. ไม่ยืนใกล้เกินไป เพราะจะทำให้อึดอัด เบียดเสียดกันเกินควร
3. ไม่ยืนเหนือลม เพราะอาจเดือดร้อนด้วยกลิ่นตัว
4. ไม่ยืนสูงกว่า เพราะแสดงถึงความไม่เคารพ
5. ไม่ยืนตรงหน้าเกินไป เพราะเวลามอง จะต้องจ้องตาต่อตาดูกันเกินไป
6. ไม่ยืนข้างหลังเกินไป เพราะทำให้ต้องชะเง้อคอดู
แท้ที่จริง การยืนในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็คือยืนเยื้องๆ ด้านซ้ายหรือขวา ในระยะที่พอเหมาะนั่นเอง

 

3. "ทำ" ประการถัดมา พระองค์ตรัสว่า "พึงทำอย่างนี้" ซึ่งการกระทำนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ซึ่งอาจแตกต่างกันไป แต่ถึงอย่างไร การจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังตัวอย่างเรื่องของสามเณรนิโครธ ที่ทำให้พระเจ้าอโศกทรงเกิดความเลื่อมใสจนเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้นอย่างมากมายทีเดียวเรื่องของสามเณรนิโครธเกิดขึ้นเพราะ วันหนึ่งพระเจ้าอโศกทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรเดินไปด้วอาการงดงามน่าเลื่อมใสจึงทรงโปรดให้นิมนต์สามเณรมาในพระราชวังเมื่อสามเณรเข้ามาด้วยอาการสงบแล้ว พระราชาตรัสบอกสามเณรว่า ให้หาที่นั่งอันควรแล้วนิมนต์นั่งเถิดสามเณรนั้นเหลียวดูข้างโน้นข้างนี้แล้วคิดว่า บัดนี้ ไม่มีภิกษุเหล่าอื่น จึงเดินเข้าไปใกล้บัลลังก์ ซึ่งยกเศวตฉัตรกั้นไว้ แล้วแสดงอาการแด่พระราชา เพื่อต้องการให้ทรงรับบาตรพระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรนั้นกำลังเดินเข้าไปใกล้บัลลังก์นั่น จึงทรงดำริว่า วันนี้เองสามเณรรูปนี้จักเป็นเจ้าของราชมณเฑียรนี้ในบัดนี้สามเณรถวายบาตรที่พระหัตถ์พระราชา แล้วขึ้นนั่งบนบัลลังก์ พระราชาทรงน้อมถวายอาหารทุกชนิดคือข้าวต้ม ของควรเคี้ยว และข้าวสวย ที่เขาเตรียมไว้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ แก่สามเณรจากเรื่องตัวอย่างของสามเณรนิโครธ จะเห็นว่าเมื่อได้รับการเชื้อเชิญให้นั่งสามเณรยังต้องดูว่า ณ ที่นั้นมีพระภิกษุที่เราต้องให้ความเคารพอยู่ด้วยไหม เมื่อไม่มี จึงคิดว่าเรานี้เป็นผู้มีศีลสูงสุด ควรแก่อาสนะที่


            ดีที่สุด คือบนบัลลังก์ใต้เศวตฉัตร การกระทำของสามเณรนี้ เป็นที่ถูกพระราชหฤทัย แต่มิได้หมายความว่าจะสามารถทำอย่างสามเณรนิโครธได้ทุกครั้ง เพราะนี่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และวิจารณญาณของผู้ที่ฝึกฝนอบรมตนเองมาอย่างดี เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ชี้ว่า การกระทำที่เหมาะสม มีผลต่อความเจริญของพระพุทธศาสนา

 

4. "นั่ง" ประการถัดมา พระองค์ตรัสว่า "พึงนั่งอย่างนี้" ซึ่งอาการนั่งที่ถูกต้องนั้น ควรเว้นจาก
ลักษณะ 6 อย่าง2 ดังนี้ คือ
1. นั่งไกลเกินไป
2. ใกล้เกินไป
3. เหนือลม
4.สูงไป
5. ตรงหน้าเกินไป
6. หลังเกินไป
            สำหรับเหตุผลที่ไม่ให้นั่งอย่างนั้น ก็เช่นเดียวกันกับการยืนส่วนการนั่งที่ดี จึงควรนั่งข้างหน้าเยื้องซ้ายหรือขวาเล็กน้อย และมีระยะที่เหมาะสม


5. "นิ่ง" ประการสุดท้าย พระองค์ตรัสว่า "พึงนิ่งอย่างนี้" การนิ่งมีทั้งนิ่งเพราะรู้ และนิ่งเพราะไม่รู้ การนิ่งเพราะรู้ อาจเป็นเพราะบางครั้งไม่อยู่ในสถานการณ์หรือกาลเทศะที่ควรพูด ก็ควรนิ่งไว้ โดยเฉพาะหากทราบว่าพูดไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ซึ่งการนิ่งในลักษณะนี้จะเป็นการนิ่งที่สง่าและงดงาม แตกต่างจากการนิ่งเพราะไม่รู้ เช่นถูกถามคำถาม แต่ไม่ทราบว่าคำตอบคืออะไร ก็เลยต้องนิ่งด้วยอาการของคนไม่รู้การนิ่งที่สง่างาม จะเป็นอาการที่น่าเลื่อมใสเหมือนกับพระภิกษุทั้งหลายที่พระพุทธองค์ตรัสแนะนำไว้ว่า หากมาประชุมพร้อมกัน ก็ควรทำกิจเพียง 2 ประการ คือ
1. กล่าวธรรมีกถา หรือ 2. เป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ
ซึ่งหมายความว่า หากต้องพูด ให้พูดแต่เรื่องธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ให้นิ่งเหมือนกับอาการของพระอริยเจ้าไปเสียเลยกิริยาอาการตั้งแต่การเข้าไปหาจนถึงการอยู่นิ่ง ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่พระภิกษุจะต้องศึกษาให้เข้าใจ
เพราะมีความจำเป็นที่พระภิกษุจะต้องนำไปใช้ เพื่อเผยแผ่พระศาสนาให้กว้างไกลเป็นที่พึ่งแก่มหาชน

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023552898565928 Mins