วิธีการแสดงธรรม

วันที่ 15 ตค. พ.ศ.2558

วิธีการแสดงธรรม


            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแบบที่ดีของการเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก ทรงแนะนำแสดงธรรมได้อย่างงดงาม ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย เป็นแบบอย่างที่พระภิกษุผู้เป็นพุทธบุตรควรจะดำเนินรอยตาม แต่ก่อนจะศึกษาถึงวิธีการแสดงธรรมนั้น ควรจะมีความเข้าใจพื้นฐานที่ตรงกัน 2 ประการคือ

 

การแสดงธรรมไม่ใช่ของง่าย

            เพราะต้องอาศัยความพร้อมอย่างมากของผู้สอน ทั้ง ภาพใจ ทั้งความรู้ที่ต้องถ่ายทอดไปตามลำดับ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แก่พระอานนท์ ว่า

"ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม5 ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น 5 ประการเป็นไฉน  คือ ภิกษุพึงตั้งใจว่า
1. จักแสดงธรรมไปโดยลำดับ
2. จักแสดงอ้างเหตุผล
3. จักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู
4. จักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิ แสดงธรรม
5. จักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น"

 

 ต้องไม่ดูเบาในการแสดงธรรม

            ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นใครก็ตาม การเตรียมความพร้อมในการแสดงธรรมทั้งเนื้อหา ทั้งตัวพระภิกษุผู้แสดงธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าผู้ฟังนั้นจะเป็นผู้มีความรู้ มีระดับ สติปัญญาสูง หรือเป็นเด็ก เป็นนักเรียนวัยเยาว์ก็ตาม พระภิกษุก็จะแสดงธรรมด้วยความเคารพ คือ ไม่ให้เนื้อหาธรรมะผิดพลาด เตรียมความพร้อมอย่างตั้งใจ ไม่ประพฤติตัวเข้าทำนองว่าสอนกลุ่มคนมีความรู้ มีฐานะต้องเตรียมตัวมาก ขณะที่สอนกลุ่มคนด้อยความรู้ คนอ่อนวัย ไม่ต้องเตรียมตัวแต่อย่างใด เป็นต้นพระพุทธองค์แม้จะตรัสอนแก่ใครก็ตาม ทรงแสดงธรรมโดยเคารพ แม้แต่การแสดงธรรมแก่ขอทาน ดังตรัสไว้ใน สีหสูตร ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ตถาคตย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่
แสดงโดยไม่เคารพถ้าแม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย...อุบาสิกาทั้งหลาย...ปุถุชนทั้งหลาย... โดยที่สุดแม้แก่คนขอทานและพรานนก ย่อมแ ดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพในธรรม"


           ด้วยบุญบารมีอันเต็มเปียมที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญมา เพื่อปรารถนาความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ก้าวพ้นจากสังสารวัฎอันเป็นทุกข์ จึงมีพระปรีชาสามารถประการหนึ่ง ดังปรากฏในพระพุทธคุณว่า "อนุตตโร ปุริ ทัมมสารถิ" คือเป็นสารถีฝึกคนที่พึงฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม การแสดงธรรม การแนะนำธรรม เพื่อฝึกฝนคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีหลากหลายวิธี
การ ดังจะขอยกลักษณะการแสดงธรรมพอให้เห็นเป็นแนวทางแต่เพียงสังเขป 7 ประการ คือ

1. แนะนำจากที่เข้าใจง่าย ไปหาที่เข้าใจยาก
2. แนะนำด้วยเนื้อหาที่มีความลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่สลับเนื้อหา หรือกระโดดข้ามไปมา
3. แนะนำให้เห็นด้วยสิ่งที่เป็นจริง หากสิ่งที่สอนนั้นสามารถแสดงให้เห็นด้วยของจริง ก็จะนำมาแสดงให้เห็นทันที หมายถึง เรื่องใดมีประสบการณ์ตรงที่ได้ไปพบ หรือเคยกระทำมาก่อน ก็จะอธิบายจนเข้าใจ
4. แนะนำตรงตามเนื้อหา ไม่ออกนอกประเด็น หากเรื่องที่พูดนั้นไม่เกี่ยวข้อง ก็จะไม่กล่าวถึง
5. แนะนำอย่างมีเหตุผล คือ เนื้อหามีความสมเหตุสมผล ผู้ฟังสามารถใคร่ครวญและตรองตามได้
6. แนะนำอย่างพอดีกับความเข้าใจของผู้ฟัง ไม่มากเกินความจำเป็นจนจดจำไม่ไหว และไม่น้อยเกินไปจนไม่พอเหมาะแก่ความรู้ของผู้ฟัง
7. แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง มุ่งหวังประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ หากสิ่งใดเห็นว่ายังไม่เป็นประโยชน์นัก ก็จะยังไม่กล่าวสอน


            นอกจากนี้ ถ้อยคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวสอนแก่ผู้ฟัง ไม่ว่าผู้ฟังนั้นจะเป็นชนชั้นกษัตริย์พราหมณ์ คหบดีสมณะ หรือชนชั้นใดก็ตาม ล้วนมีคุณลักษณะเหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์ กล่าวคือ มีลีลาในการแสดงธรรมครบถ้วนทั้ง 4 ประการ คือ
1. แจ่มแจ้ง (สันทัสนะ) หมายถึง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาธรรมะที่กล่าวสอนได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน หมดความสงสัย
2. จูงใจ ( มาทปนะ) หมายถึง ทำให้ผู้ฟังยอมรับธรรมะและเกิดแรงบันดาลใจอยากนำธรรมะที่ได้ฟังไปปฏิบัติตาม
3. หาญกล้า ( มุตเตชนา) หมายถึง ทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจ เกิดความบากบั่น พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในการนำธรรมะที่ได้ฟังไปปฏิบัติ เพราะรู้ว่าธรรมะที่ทำนั้น จะเป็นประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญแก่ตัวเอง จึงพร้อมหาญกล้าฝ่าฟันอุปสรรค
4. ร่าเริง (สัมปหังสนา) หมายถึง ทำให้จิตใจผู้ฟังเกิดความแช่มชื่น ร่าเริง แจ่มใสเบิกบานใจไม่เบื่อหน่าย


            จะเห็นได้ว่า นอกจากเนื้อหาธรรมะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังอยู่แล้ว การรู้จักใช้ลีลาเพื่อการแสดงธรรมก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะจะทำให้คนฟังอยากที่จะนำธรรมะที่ฟังไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตน แม้อาจไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ แต่ก็มีกำลังใจ จนเกิดความอาจหาญ กล้าที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้พระภิกษุจึงควรยึดถือไว้เป็นแนวทางหนึ่งในการแสดงธรรม

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0052315831184387 Mins