ธัมมัญญูสูตร วิธีการฝึกฝนตนเอง

วันที่ 15 ตค. พ.ศ.2558

ธัมมัญญูสูตร วิธีการฝึกฝนตนเอง


             จากการศึกษารายละเอียดในธัมมัญูสูตรทั้ง 7 ประการ ย่อมทำให้มองเห็นการฝึกฝน การพัฒนาตัวของพระภิกษุมาตามลำดับ ตั้งแต่การเป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง จนมาถึงการสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่นได้

ธัมมัญญู
            ในการฝึกฝนพันาตัวเองนั้น เริ่มตั้งแต่การรู้จักเรียนรู้ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างทั่วถึงทั้งหมดในพระไตรปิฎก จนกระทั่งสามารถสรุป หรือมองเห็นภาพรวมสำคัญที่ปรากฏในพระไตรปิฎกได้ เช่นเห็นภาพการบากบั่นสร้างความดี บำเพ็ญบารมีมาอย่างตลอดต่อเนื่องของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้นกระทั่งเกิดเป็นความศรัทธา เชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีกำลังใจที่จะเดินตามแบบอย่างอันดีงามที่พระพุทธองค์เทศนาสั่ง อนไว้ เมื่อพระภิกษุศึกษาได้อย่างนี้ จึงเรียกว่า เป็นธัมมัญูสำหรับฆราวาสนั้น เนื่องจากเวลาและการดำเนินชีวิตจะหมดไปกับภารกิจ หน้าที่การงาน ที่รับผิดชอบ รวมทั้งการดูแลครอบครัว หมู่ญาติ จึงมีเวลาที่จะศึกษาธรรมะให้ทั่วถึงอย่างที่พระภิกษุทำได้ยากการที่จะเป็นธัมมัญญู รู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น เบื้องต้นจึงอยู่ที่การได้เข้าวัด เพื่อได้สนทนาได้ฟังธรรมะจากพระภิกษุเป็นประจำ จนสามารถจดจำธรรมะนั้นมาพินิจพิจารณา เห็นถึงผลดีในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่พระภิกษุแนะนำให้ทำ เห็นถึงข้อเสียในสิ่งที่เป็นโทษที่พระภิกษุห้ามไม่ให้ทำ จนเกิดกำลังใจอยากที่จะปฏิบัติตามอย่างไปด้วย และหากหาโอกาสมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้ ก็ถือเป็นเบื้องสูงต่อไป เช่นฝ่ายชายลางานมาบวชในช่วงเข้าพรรษา เพื่อให้โอกาสตัวเองได้เข้ามาศึกษาความรู้ในพระพุทธศาสนาในช่วงสั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ ฝ่ายหญิงก็มาช่วยงานในวัดเป็นครั้งเป็นคราวตามที่ทางวัดสะดวกรองรับ เป็นต้น

 

อัตถัญญู
            พระภิกษุเมื่อได้ศึกษาความรู้ธรรมะอย่างทั่วถึง ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจในธรรมะ นำความรู้ที่มีอยู่นั้นมาสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้ได้ นั่นหมายถึง จะต้องเข้าใจความหมาย และนัยต่างๆ จนนำมาปฏิบัติให้ได้ผล ซึ่งการที่พระภิกษุจะสามารถทำได้เช่นนี้ ก็ต้องมีครู หรือกัลยาณมิตรผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ที่จะคอยพร่ำสอน บอก แนะนำ แก้ไขความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ในการปฏิบัตินั้นให้สมบูรณ์อย่างเช่น พระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ภายในวัด เป็นต้น เมื่อทำได้อย่างนี้ จึงจะเรียกได้ว่า เป็นอัตถัญญู
สำหรับฆราวา การจะเป็นอัตถัญูได้อย่างพระภิกษุ นอกจากจะขวนขวายในการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างต่อเนื่องแล้ว การได้ครูดีก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงขึ้นอยู่กับการหมั่นเข้าวัดเป็นประจำนั่นเองโดยเฉพาะวัดที่มีความพร้อมในการแนะนำธรรมะ มีบุคลากรทั้งพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่สามารถให้ความรู้กับเรา ซึ่งเท่ากับได้กัลยาณมิตรมาคอยแนะนำ พร่ำสอนให้เราปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามมา

 

อัตตัญญู
            ถัดจากนั้น ขั้นตอนที่สำคัญ คือการประเมินคุณธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตน โดยอาศัยธรรม6 ประการ คือ ศรัทธา ศีลสุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณ เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าในการปฏิบัติรวมทั้งตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจในธรรมะนั้นๆ ด้วย เพราะเมื่อผลที่ได้จากการประเมินตัวไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นตัวชี้วัดว่าความรู้และความเข้าใจ ตลอดจนการปฏิบัติก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย เมื่อประเมินได้อย่างนั้น จะได้ปรับปรุงตนเองได้ทันกาลสำหรับฆราวาสก็อาศัยธรรมทั้ง 6 ประการมาใช้ในการประเมินคุณธรรมของตนเช่นกัน หากแต่ขอบเขตในธรรมที่ใช้ประเมินนั้น จะแตกต่างกันบ้างเพราะความแตกต่างของวิถีชีวิต เช่น การประเมินเรื่องศีลของพระภิกษุก็จะมุ่งเน้นไปในศีลทั้ง 227 ข้อ และปาริสุทธิศีล 4 ในขณะที่ฆราวาสจะมุ่งเน้นในศีล 5 หรือศีล 8 รวมถึงการประกอบอาชีพอันบริสุทธิ์ เป็นต้น

 

มัตตัญญู
             ในวิถีชีวิตประจำวัน ปัจจัย 4 ล้วนมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพให้อยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่พระภิกษุใช้ฝึกเพื่อสร้างนิสัย ดังนั้นจึงต้องรู้จักควบคุมปัจจัย 4 ที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตของตนเองให้ได้ จึงจะเรียกว่าเป็นมัตตัญญูส่วนฆราวาสการฝึกจะเน้นไปที่การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ เหมาะสมกับฐานะของตน โดยต้องพิจารณาตั้งแต่การซื้อหา การนำมาใช้ การดูแลรักษา โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือสิ่งเหล่านี้ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา ฝึกฝนคุณธรรมตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น การไม่เลือกดื่มไวน์ แม้เหตุเพื่อความแข็งแรงของสุขภาพกาย เพราะผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม เป็นต้น

 

กาลัญญู
             เพราะเวลาเป็นสิ่งมีคุณค่า พระภิกษุจึงต้องฝึกบริหารเวลาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดโดยต้องจัดสรรเวลา เพื่อใช้ในงานที่สำคัญของชีวิตทั้ง 4 ประการ คือ การเรียนพระธรรมวินัย การสอบถามการนั่งสมาธิ และหลีกออกเร้น จึงจะเรียกว่าเป็นกาลัญญูสำหรับฆราวาสการรู้จักจัดสรรเวลาย่อมเป็นสิ่งสำคัญไม่ต่างจากพระภิกษุนัก หากแต่ว่าการใช้เวลาของฆราวาสนั้นส่วนใหญ่มักสูญเสียไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การดูแลเอาใจใส่ในครอบครัวของตน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็สามารถฝึกฝนตัวเองเพื่อเป็นกาลัญญูได้ เบื้องต้น คือ การจัดสรรเวลาในระหว่างวัน เพื่อการทำสมาธิภาวนา เพื่อการศึกษาธรรมะ หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรมาวัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ เพื่อจะได้มีโอกาสได้รับคำแนะนำในธรรมะอื่นๆ รวมถึงเพื่อสั่งสมบุญกุศลให้ยิ่งขึ้นไป นอกจากนี้ การหาเวลามาเพื่อปฏิบัติธรรมศึกษาธรรมะให้มากขึ้น เช่น การลาพักร้อน มาปฏิบัติธรรมต่อเนื่องระยะยาว เช่น 7 วัน 10 วัน ก็จะได้ชื่อว่า ได้ฝึกหัดให้เกิดเป็นกาลัญญูขึ้นมาได้

 

ปริสัญญู
             นอกจากธัมมัญูสูตรจะให้วิธีการฝึกฝนพันาตนเองแก่พระภิกษุอย่างดีแล้ว ก็ยังให้วิธีการทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่ดีให้แก่ชาวโลกอีก 2 ประการด้วย คือ ปริสัญญู การรู้จักบริษัท และปุคคลปโรปรัญญู การรู้จักบุคคลก่อนที่พระภิกษุจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ต้องรู้จักและเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มบุคคลสำคัญในสังคมทั้ง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มนักปกครอง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักธุรกิจ และผู้ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ และนักบวช เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หากรู้จักวางตัวเองได้อย่างเหมาะสม ก็ย่อมจะสามารถแนะนำธรรมะ เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กลุ่มบุคคลนี้ได้ พระภิกษุจึงต้องศึกษาถึงขนบธรรมเนียมของแต่ละกลุ่มไว้ เพื่อจะได้เป็นปริสัญญูสำหรับฆราวาสการพัฒนาตนเองเพื่อการเป็นปริสัญญู ด้วยการเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มบุคคล 4 กลุ่มนี้ก็ทำคล้ายคลึงกับพระภิกษุเช่นกัน แต่ควรมุ่งไปที่การเป็นกัลยาณมิตรให้กับกลุ่มที่มีบทบาททางสังคมใกล้เคียงกับตนเองแทน เช่น หากตนมีอาชีพครู เมื่อต้องเข้าไปหากลุ่มบุคคลทั้ง 4 กลุ่มนี้ ก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมในฐานะครูกับบุคคลทั้ง 4 กลุ่ม รวมทั้งต้องคำนึงไปถึงอายุ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์อื่นๆ อีกด้วย หากเราสามารถเรียนรู้ธรรมเนียมและปฏิบัติตนเองได้อย่างเหมาะสมได้ ก็ถือว่าเป็นปริสัญูได้เช่นกัน

 

ปุคคลปโรปรัญญู
             เมื่อพระภิกษุแสดงธรรม แนะนำความรู้อันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถแนะนำธรรมะให้ตรงกับสภาวะที่คนฟังเป็นอยู่ จนผู้ฟังเกิดกำลังใจ นำธรรมะที่ตนได้ฟังไปปฏิบัติ จนบังเกิดผลดีขึ้นกับตัวเองได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้แก่ผู้อื่น จึงเรียกพระภิกษุได้ว่า เป็นปุคคลปโรปรัญญูสำหรับฆราวาสก็สามารถฝึกตัวเองให้เป็นปุคคลปโรปรัญญูได้เช่นเดียวกับพระภิกษุ คือสามารถแนะนำธรรมะให้เหมาะแก่คนๆ นั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างในด้านของวิธีการแนะนำ อันเนื่องมาจากความ
แตกต่างของเพศภาวะพระภิกษุกับฆราวาสทำให้รูปแบบที่ใช้ ควรเป็นการแนะนำมากกว่าการสั่งสอนในบุคคลระดับเดียวกันหรือสูงกว่าส่วนบุคคลผู้มีระดับต่ำกว่าทั้งอายุ วัย การทำงาน อย่างเช่น เป็นเด็กเป็นลูก เป็นลูกน้องในที่ทำงาน เป็นต้น ก็อาจแนะนำสั่งสอนให้ได้ไปตามความเหมาะสม เป็นต้นจากวิธีการทั้ง 7 ขั้นตอนที่กล่าวมานั้น ธัมมัญญูสูตร จึงเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญต่อการฝึกฝนอบรมตนเองของพระภิกษุอย่างมากมาย เพราะนอกจากจะทำให้ท่านสามารถพันาระดับคุณธรรมภายใน จากเริ่มต้นไปจนถึงการสิ้นกิเลสอาสวะได้แล้ว ก็ยังนำสิ่งที่ฝึกมาได้ไปเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลกได้ด้วย


             นอกจากนั้น ฆราวาสที่ศึกษาพระสูตรนี้มา ก็สามารถอาศัยหลักการสำคัญๆ ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากันกับวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นทางมาของคุณธรรมแล้ว ก็ยังได้สั่งสมบุญบารมี และทำให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีด้วย

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011574824651082 Mins