ผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล

วันที่ 21 ตค. พ.ศ.2558

ผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล


              พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยึดถือ เหตุ และผล เป็นหัวใจสำคัญสามัญญผลอันจะบังเกิดแก่นักบวชนั้น ใช่ว่าจะมีเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ดลบันดาลให้เกิดขึ้นก็หาไม่ นักบวชจะต้องประกอบเหตุด้วยตนเอง จึงจะได้รับผลเป็นของตน เมื่อประกอบเหตุดี ย่อมจะต้องได้รับผลดี ดังพุทธภาษิตที่ว่า"หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น"ในสามัญญผลสูตรนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดข้อปฏิบัติอันเป็นทางแห่งการบรรลุ
มรรคผลไว้อย่างชัดเจน ถ้านักบวชรูปใดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่มีขาดตกบกพร่อง ไม่มีการพลิกแพลง
ดัดแปลงการปฏิบัติให้ผิดเพี้ยนแตกต่างออกไป เพื่ออนุโลมตามความสะดวกหรือความพอใจของตน ก็ถือ
ได้ว่าประกอบเหตุดี ดังนั้นผลดีคือสามัญญผลอันประณีต ก็ย่อมจะบังเกิดขึ้นแก่นักบวชผู้นั้น ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้วอย่างแน่นอนนักบวชผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล หรือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการบวช จึงจำเป็นต้องขวนขวายในการประกอบเหตุดี นำข้อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัยมาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง มิใช่เพียงแค่จำพระคัมภีร์ หรือแตกฉานในพระไตรปิฎกแต่มิได้นำมาปฏิบัติ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว นักบวชย่อมไม่ได้รับผลดีอันใดแก่ตนเลย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า


"หากกล่าวพุทธพจน์ได้มาก แต่เป็นคนประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้นก็ไม่มีส่วนแห่งสามัญญผล เหมือนคนเลี้ยงโค คอยนับโคให้ผู้อื่นฉะนั้น"

 

         พุทธศาสนสุภาษิตนี้มีความหมายว่า บุคคลที่สามารถจำพระธรรมคำสั่งสอนได้มาก แต่ไม่ประพฤติธรรมนั้น เปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค รุ่งเช้าก็รับโคไปเลี้ยง เย็นลงก็นับโคไปส่งคืน แต่ไม่เคยได้ลิ้มรสนมโคหรือผลิตภัณฑ์จากนมโคเลย เทียบได้กับผู้รู้ธรรมมาก แสดงธรรมได้มาก มีชื่อเสียงมาก แต่หากมิได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติ ก็ย่อมไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0048950672149658 Mins