สมาธิในทางปฏิบัติ

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2558

สมาธิในทางปฏิบัติ


          เพื่อให้เข้าใจการทำสมาธิทั้ง 2 ระดับดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอน้อมนำคำอธิบายในเชิงปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มาขยายความไว้ในที่นี้

             "สมาธิเบื้องต่ำในทางปฏิบัติ" หมายถึง การสละอารมณ์ไม่ให้ติดกับจิต ตัวอย่างเช่น เวลานอนหากมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 6 อย่าง (รูป รสกลิ่น เสียงสัมผัสธรรมารมณ์) ติดอยู่กับจิตจนเปลื้องไม่ออก หรือที่เรียกว่า " ละอารมณ์ไม่ได้" เราก็จะนอนไม่หลับทั้งคืน เพราะถูกอารมณ์บังคับไว้ ต้องสละอารมณ์ออกจากใจให้ได้ จึงจะนอนหลับได้

 

            การทำสมาธิก็เช่นเดียวกัน หากจิตติดอยู่กับอารมณ์ ใจย่อมนึกคิดซัดส่ายไปตามอารมณ์นั้นๆหากเมื่อใดที่สละอารมณ์ได้ จิตหลุดจากอารมณ์โดยเด็ดขาดไม่เกี่ยวข้องกัน เหมือนไข่ขาวกับไข่แดงที่แม้จะอยู่รวมกันในไข่ฟองเดียว แต่ก็แยกจากกัน ไม่ปะปนกัน เพราะมีเยื่อบางๆ หุ้มไข่แดงไว้ เมื่อสละอารมณ์ได้เช่นนั้น ใจจึงจะหยุดนิ่งแน่วแน่ และมองเห็นดวงธรรมที่อยู่ภายใน

 

           การที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่มีอารมณ์ใดในอารมณ์ทั้ง 6 เข้าไปเกี่ยวข้องกับดวงจิตเลย ได้ถึงซึ่งเอกัคคตา ดวงจิตถึงซึ่งความเป็นหนึ่ง นี้แหละ คือ "สมาธิในทางปฏิบัติ" แท้ๆ จัดว่าเป็นสมาธิเบื้องต่ำในพระพุทธศาสนาส่วน "สมาธิเบื้องสูงในทางปฏิบัติ" คือสมาธิในฌาน เมื่อผู้ปฏิบัติวางใจหยุดนิ่งอยู่กลางดวงจิตที่ใสนั้น พอหยุดได้ถูกส่วน ก็จะเข้าถึงสมาธิเบื้องสูง เกิดเป็น "ดวงฌาน" ขึ้นกลางดวงจิตนั้น มีลักษณะกลมรอบตัวเป็นปริมณฑล ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า มีกายมนุษย์ละเอียด นั่งอยู่กลางดวงฌานที่ผุดขึ้นมานั้น

 

            ใจของกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดนิ่ง อยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด เมื่อเห็นดวงจิต
ของตนว่าเป็นสมาธิ จึงเข้าฌาน เมื่อเข้าฌานแล้วจะไปไหนก็คล่องแคล่ว จึงเกิด "วิตก" (คิด) ขึ้นว่า นี่อะไร
รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างนี้ ไม่เคยพบเห็นมาก่อน จึงตรึกดู (ปักจิตลงสู่อารมณ์ฌาน) ครั้นแล้ว "วิจาร"ก็เกิดขึ้นเต็มวิตก คือพิจารณาตรวจตราดูรอบกายมนุษย์ละเอียด ตรวจตราดูทั่วแล้วก็เกิด "ปีติ" ปลื้มอกปลื้มใจ เมื่อเบิกบานสำราญใจเต็มส่วนของปีติแล้ว ก็มีความสุขกายสบายใจ เมื่อสุขกายสบายใจแล้วก็นิ่งเฉย เกิดแต่วิเวก ใจวิเวกนิ่งอยู่กลางดวงนั้น เต็มส่วนขององค์ฌาน เป็น "เอกัคคตา"ภาวะที่กายมนุษย์ละเอียด เข้าฌานอยู่กลางดวงฌานนี้คือสมาธิในทางปฏิบัติ เป็นสมาธิเบื้องสูงในระดับ "ปฐมฌาน"

 

             ครั้นแล้วกายมนุษย์ละเอียดก็คิดว่า "ปฐมฌาน" นี้ยังใกล้ของหยาบนัก จึงคิดทำให้สูงขึ้นไปอีกใจของกายมนุษย์ละเอียดจึงขยายจากปฐมฌานของกายมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่ง ใสนิ่ง หนักเข้าๆ พอถูกส่วน ก็มีดวงผุดขึ้นมาอีกดวงหนึ่งขนาดเท่าดวงแรก ดวงนี้คือ "ทุติยฌาน" ปรากฏมีกายทิพย์เกิดขึ้น ด้วยอาศัยกายทิพย์หยาบนี้ กายทิพย์ละเอียดซึ่งซ้อนอยู่ในกายทิพย์หยาบก็เข้าฌาน แบบเดียวกับกายมนุษย์ละเอียดในปฐมฌาน คราวนี้ละวิตก วิจารได้แล้ว เหลือแต่ "ปีติ" ชอบอกชอบใจว่ามันดีกว่าเก่า ใสะอาดกว่าเก่ามาก จึงปลื้มอกปลื้มใจ เมื่อปลื้มอกปลื้มใจเช่นนั้น จนเต็มส่วนของความปีติ ก็เกิด "ความสุข" ขึ้น พอเต็มส่วนของความสุขเข้า ใจก็นิ่งเฉยเป็น "เอกัคคตา"

 

         ครั้นแล้วกายทิพย์ละเอียดก็คิดว่า ที่ละเอียดกว่านี้ยังมีอีก ดังนั้นใจของกายทิพย์ละเอียดก็ขยายจากทุติยฌาน แล้วหยุดนิ่งอยู่กลางดวงจิตซึ่งอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็มีดวงฌานผุดขึ้นมาอีก มีขนาดเท่า 2 ดวงที่ผ่านมา แต่ใสกว่า ดีกว่า วิเศษกว่า ดวงนี้คือ "ตติยฌาน" มีกายรูปพรหมนั่งอยู่กลางดวงฌาน ด้วยอาศัยกายรูปพรหมนี้ กายรูปพรหมละเอียดก็เข้าฌาน นั่งนิ่งอยู่กลางดวงของตติยฌาน ในนี้ไม่มีปีติ มีแต่ "สุข" และ "เอกัคคตา" นิ่งเฉยอยู่กับสุขนั้น มีองค์ 2 เต็มส่วน เมื่อรับความสุขของตติยฌานพอสมควรแล้ว กายรูปพรหมละเอียดก็คิดว่าละเอียดกว่านี้ยังมีอีกครั้นแล้วใจของกายรูปพรหมละเอียดก็ขยายจากตติยฌาน นิ่งอยู่กลางดวงจิตของตน ซึ่งใสอยู่ภายในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ พอถูกส่วนเข้า ผุดขึ้นมาอีกดวงหนึ่ง เป็นดวงที่ สี่ เข้าถึง "จตุตถฌาน" มีกายอรูปพรหมนั่งอยู่กลางดวงฌาน ด้วยอาศัยกายอรูปพรหมกายอรูปพรหมละเอียดก็เข้าจตุตถฌานไป เมื่อเข้าจตุตถฌานหนักเข้า ละสุขเสียได้ เป็น "อุเบกขา" มีสติบริสุทธิ์ เป็น "เอกัคคตา"

 

            ฌานทั้ง 4 ระดับ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานนี้เป็นฌานในภพ ไม่ใช่ฌานนอกภพ บางทีเรียกว่า "รูปฌาน 4" จัดเป็นสมาธิเบื้องสูงโดยทางปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วนี้สิ่งที่ปรากฏชัด ทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น เป็นตัว "ปฏิเวธ"การเข้าถึงฌานและกายต่างๆ ล้วนเป็น "ปฏิเวธ" ทั้งสิ้น
ปฏิเวธในปฐมฌาน ก็คือ กายมนุษย์ละเอียด
ปฏิเวธในทุติยฌาน ก็คือ กายทิพย์และกายทิพย์ละเอียด
ปฏิเวธในตติยฌาน ก็คือ กายรูปพรหมและกายรูปพรหมละเอียด
ปฏิเวธในจตุตถฌาน ก็คือ กายอรูปพรหมและกายอรูปพรหมละเอียด
       

           เมื่อเข้าสู่รูปฌานแน่นอนแล้ว ใจของกายรูปพรหมละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ซึ่งนั่งอยู่กลางดวงจตุตถฌานเพื่อที่จะเข้าอรูปฌานต่อไป คือ เข้าอากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยใช้กายอรูปพรหมละเอียดกายเดียวเข้าฌานตลอดทั้งรูปฌานและอรูปฌานนี้คือสมาธิเบื้องสูง ซึ่งเกิดจากการเจริญ มถภาวนา หรือ สมถกัมมัฏฐาน จัดเป็นสามัญญผลเบื้องกลาง

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010790348052979 Mins