สามัญญผลลำดับที่ 7

วันที่ 19 พย. พ.ศ.2558

สามัญญผลลำดับที่ 7


    เมื่อผู้เจริญภาวนาสามารถประคองจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ยิ่งขึ้นต่อไปอีก จิตย่อมบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นผ่องแผ้วสุกสว่างยิ่งขึ้นอีก ย่อมปราศจากกิเลส และอุปกิเลส จึงยิ่งทวีประสิทธิภาพในการงานยิ่งขึ้นอีกยังผลให้บรรลุญาณซึ่งสามารถทำให้เล็งเห็นการเกิดและการตายของหมู่สัตว์ทั้งหลายสามารถเล็งเห็นความแตกต่างของเหล่าสัตว์โลก อันเป็นไปตามอำนาจกรรม ซึ่งตามนุษย์มองไม่เห็น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

 

    "ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสนุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ(การตาย) และอุบัติ (การเกิด) ของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย "ทิพย-จักษุ" อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์ที่ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกส่วนสัตว์ที่ประกอบด้วยกายสุจริตวจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลก
สวรรค์ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดีมีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

 

    มหาบพิตร เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ท่ามกลางทาง 3 แพร่ง บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าบ้านบ้าง ออกจากบ้านบ้างเดินอยู่ตามถนนบ้าง นั่งอยู่ท่ามกลางทาง 3 แพร่งบ้าง เขาจะพึงรู้ว่าคนเหล่านี้เข้าบ้าน คนเหล่านี้ออกนอกบ้าน คนเหล่านี้เดินตามถนน คนเหล่านี้นั่งอยู่ท่ามกลางทาง 3 แพร่งฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์
ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ... ด้วย "ทิพยจักษุ" อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ"

 

    ญาณที่ทำให้สามารถเล็งเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของหมู่สัตว์ ตลอดจนกฎแห่งกรรมนี้ มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า "ทิพยจักษุ" หรือ "จุตูปปาตญาณ" หรือ "ตาทิพย์" นั่นเอง

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011117021242778 Mins