สามัญญผลลำดับที่ 8

วันที่ 19 พย. พ.ศ.2558

สามัญญผลลำดับที่ 8


    เมื่อผู้เจริญภาวนาสามารถประคองจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ยิ่งขึ้นต่อไปอีก จิตย่อมบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส และอุปกิเลส โดยสิ้นเชิง จิตจึงผ่องแผ้วสว่างไสวถึงที่สุด ยังผลให้บรรลุญาณอันหยั่งรู้อริยสัจ 4รู้ว่าจิตของตนหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงแล้ว นั่นคือบรรลุอรหัตตผล ซึ่งเป็นสามัญญผลขั้นสูงสุดดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรู ดังนี้

 

    "ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสนุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์)นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางดับทุกข์) ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ (กิเลสเครื่องหมักดองใจ) นี้อาสวสมุทัย (เหตุแห่งกิเลส นั้น) นี้อาสวนิโรธ (ความดับกิเลสนั้น) นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา (ทางดับกิเลสนั้น) เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ (อาสวะ
คือกาม) แม้จากภวาสวะ (อาสวะคือภพ) แม้จากอวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

 

     มหาบพิตร เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระ จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่าสระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบบ้างก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้างเหล่านี้ กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้นดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ "อาสวักขยญาณ" ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงมหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ มหาบพิตร ก็สามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่นๆ ที่ดียิ่งกว่า หรือประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ ย่อมไม่มี"

 

    ญาณอันหยั่งรู้อริยสัจ 4 ชัดเจนแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง อันทำให้อาสวะกิเลสหมดสิ้นไปจากใจนี้ มีชื่อทางศาสนาว่า "อาสวักขยญาณ"


    สามัญญผลเบื้องสูง หรืออานิสงส์แห่งการเจริญภาวนา ซึ่งก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ลำดับที่ 1 จนถึงลำดับที่ 8 นี้ มีชื่อเรียกว่า "วิชชา 8" โดยเรียงลำดับดังนี้ คือ


1. วิปัสสนาญาณ
2. มโนมยิทธิ
3. อิทธิวิธี
4. ทิพพโสต หรือ หูทิพย์
5. เจโตปริยญาณ
6. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
7. ทิพพจักขุ หรือ ตาทิพย์ หรือ จุตูปปาตญาณ
8. อาสวักขยญาณ

 

    จากพระพุทธดำรัส ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกี่ยวกับวิชชา 8 นี้ จะเห็นว่าหลักสำคัญในการ
ปฏิบัติเพื่อบรรลุญาณระดับต่างๆ ก็คือ "จิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว"

 

    ได้กล่าวไว้ในตอนต้นบทนี้แล้วว่า การอบรมใจให้เป็นสมาธิแน่วแน่นั้น จะต้องวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งเป็นที่ตั้งถาวรของใจ ดังนั้น "จิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว" จึงหมายถึงการตั้งจิตมั่นไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เมื่อผู้เจริญภาวนาสามารถตั้งจิตมั่นไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อย่างแท้จริง จนสามารถบรรลุ "วิปัสสนาญาณ" ได้แล้ว หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า "บรรลุธรรมกายโคตรภู" ซึ่งจะเป็นบาทฐานไปสู่ธรรมกายพระอริยบุคคลระดับต้น ครั้นเมื่อสมาธิก้าวหน้ามากขึ้น บรรลุญาณสูงขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู ธรรมกายพระโสดา ธรรมกายพระ กทาคามี ธรรมกายพระอนาคามี ย่อมหมายถึงได้บรรลุธรรมกายสูงขึ้นตามลำดับ จนถึงธรรมกายพระอรหัต ซึ่งเป็นภาวะที่บรรลุอาสวักขยญาณ หลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง

 

    อนึ่ง การที่ผู้เจริญภาวนาซึ่งบรรลุญาณระดับต่างๆสามารถรู้เห็นการตายและการเกิดของหมู่สัตว์รู้เห็นความแตกต่างของหมู่สัตว์อันมีกรรมเป็นเหตุ ตลอดจนมีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือระลึกชาติได้ เหล่านี้ล้วนรู้ด้วยญาณของธรรมกาย และเห็นด้วยตาของธรรมกายทั้งสิ้น จะรู้ด้วยความรู้ของกายมนุษย์ หรือเห็นด้วยตาของกายมนุษย์ก็หาไม่ ดังนั้นจึงกล่าวในเชิงปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า "บรรลุญาณก็คือบรรลุธรรมกายนั่นเอง"

 

 

    ตลอดเวลาแห่งการสดับพระธรรมเทศนานั้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงติดตามสดับตรับฟังด้วยความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตอบปัญหา ได้ตรงประเด็นตามที่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงกระหายใคร่รู้มานานนักหนาแล้ว วิธีการตอบของพระพุทธองค์ยังสมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมด้วยศิลปะสามารถยังผลให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงตรองตามด้วยเหตุผลอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากความกังขา ทั้งทรงรู้สึกทึ่งในคุณวิเศษอันน่าอัศจรรย์ใจของพระธรรมคำสั่งสอนอีกด้วยยังความปีติเบิกบานมาสู่พระองค์ยิ่งนัก จึงได้กราบทูลสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า

 

    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ไพเราะแจ่มแจ้งจับใจยิ่งนัก เปรียบเสมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด เพื่อให้คนมองเห็นสิ่งต่างๆ ข้อนี้ฉันใดพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น บริบูรณ์พร้อมด้วยคุณวิเศษโดยเอนกประการ"

 

    ครั้นแล้วพระเจ้าอชาตศัตรู จึงทรงขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต โดยปฏิญาณว่า


    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

 

    ความสงสัยเรื่องสามัญญผลที่ติดค้างพระทัยมาเป็นเวลานาน แม้จะทรงพยายามเสด็จไปหาเจ้าลัทธิผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายให้ช่วยคลี่คลายข้อข้องใจ แต่กลับทรงผิดหวังมาโดยตลอดนั้น บัดนี้พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงพบแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงสามารถปลดเปลื้องทุกข์อันใหญ่หลวงในพระทัยของพระองค์ได้ จึงทรงกราบทูลสารภาพความผิดของพระองค์ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งเป็นการขอขมาต่อพระราชบิดา โดยผ่านพระพุทธองค์ด้วยว่า

 

    "โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด ข้าพระองค์ได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดา ผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะปรารถนาความเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงรับทราบความผิดของข้าพระองค์ โดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวมต่อไป"


    ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่จะทรงอนุเคราะห์พระเจ้าอชาตศัตรู พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเป็นพยาน รับทราบคำสารภาพผิดของพระเจ้าอชาตศัตรู โดยตรัสว่า

 

    "จริง มหาบพิตร ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตร ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม ผู้เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะปรารถนาความเป็นใหญ่ แต่เพราะทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วทรงสารภาพผิดตามเป็นจริง ฉะนั้นตถาคตขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้เป็นวันธรรมในวินัยของพระอริยะแล"

 

    เมื่อสิ้นกระแสรับสั่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงปีติยินดีเป็นล้นพ้น เมื่อได้สดับว่าพระพุทธองค์ทรงรับการสารภาพผิดของพระองค์ โดยมิได้ทรงซ้ำเติมให้โทมนัสยิ่งขึ้นไปอีก มิหนำซ้ำยังทรงสรรเสริญว่าการยอมสารภาพผิดเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม พระพุทธดำรัส ดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมพระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรูให้แช่มชื่น และทรงมุ่งมั่นประกอบกุศลกรรมอย่างยิ่งยวดต่อไปเป็นการเริ่มต้นบำเพ็ญบุญบารมี เพื่อเป็นปัจจัยแห่งภพหน้าต่อๆ ไป

 

    นับเป็นบุญประการหนึ่งของพระเจ้าอชาตศัตรู ที่ทรงมีอุปนิสัยกล้ายอมรับผิด เมื่อทรงตรองเห็นว่า การทำปิตุฆาตเป็นความผิดจริง ก็มิได้ทรงนิ่งเฉยเสีย แต่กล้าสารภาพความผิดนั้น และนับเป็นบุญอย่างยิ่ง อีกประการหนึ่ง ที่ทรงได้โอกาสารภาพความผิดเฉพาะพระพักตร์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นการผูกเวรระหว่างพระราชบิดากับพระองค์ที่มีมาแต่อดีตชาติ จึงเป็นอันยุติแต่เพียงเท่านี้ เหลือเพียงแต่ผลของอนันตริยกรรมที่พระองค์จะต้องเสวยในทุคติภูมิต่อไป

    เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงคลายพระทัยจากความทุกข์ ความขุ่นข้องกังวลพระทัยทั้งปวง และทรงพิจารณาเห็นเป็นเวลาอันสมควรแล้ว จึงกราบทูลลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป

 

    ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูและเหล่าข้าราชบริพารกลับไปหมดสิ้นแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่หมู่ภิกษุสงฆ์ในที่นั้นว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนี้ถูกบาปจากการทำปิตุฆาต ปิดกั้นหนทางสวรรค์นิพพานเสียแล้วในชาตินี้ หาไม่เช่นนั้นแล้ว ย่อมจะทรงได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันในค่ำคืนนั้นเอง

    มีคำอธิบายปรากฏในอรรถกถาสามัญญผลสูตรว่า ตั้งแต่เวลาที่ปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดาแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูมิได้บรรทมหลับเลยทั้งกลางคืนและกลางวัน ครั้นหลังจากเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจึงทรงบรรทมหลับได้ ทั้งนี้เพราะทรงได้อานิสงส์จากการ ดับพระธรรมเทศนา ทรงขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ทรงมีศรัทธาอันยิ่งใหญ่ต่อพระรัตนตรัย จะหาปุถุชนคนใดเสมอเหมือนได้ยาก

 

    แม้จะต้องเสวยผลแห่งอนันตริยกรรม ไปบังเกิดในพื้นเบื้องล่างของนรกขุมบริวารชื่อโลหกุมภีถึง 3 หมื่นปีนรก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ไว้ว่า เมื่อพ้นทัณฑกรรมในเบื้องล่างของโลหกุมภีนั้นแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูจะไปบังเกิดในพื้นเบื้องบนของโลหกุมภีอีก 3 หมื่นปีนรก หลังจากนั้นแล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระนามว่า "ชีวิตวิเสส" แล้วบรรลุนิพพานในที่สุด

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013561169306437 Mins