ให้ทานด้วยจิตเลื่อมใสมาก ได้บุญมาก
ปัจจุบันมีความเข้าใจผิดกันในหมู่ชาวพุทธ
บางพวกก็ว่า __“ให้ทานมากได้บุญมาก_ถูกต้อง เพราะเศรษฐี 100 ล้าน ทำบุญ 10 บาทกับทำบุญหมื่นบาท จะได้บุญเท่ากันได้อย่างไร”
บางพวกก็ว่า__“ไม่ถูก_ถ้าให้ทานมากได้บุญมาก อย่างนี้คนจนก็หมดสิทธิได้บุญมากสิ”ความจริงชาวพุทธทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ขัดกันเลย เพียงแต่ไปจับประเด็นที่ปลายเหตุเท่านั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนหลักการให้ทานให้ได้บุญมาก ว่าต้องประกอบด้วยองค์ 3 ดังนี้
1. วัตถุบริสุทธิ์ __สิ่งของที่ให้ทานได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปคดโกง ลักขโมยมา
2. เจตนาบริสุทธิ์ __มีจิตเลื่อมใสทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
3. บุคคลบริสุทธิ์__ ผู้รับยิ่งเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมสูงเพียงใด เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน
ในกรณีถกเถียงกันนี้ ประเด็นอยู่ที่ข้อ 1 และ 2 คำกล่าวที่ครบก็คือ “ ให้ทานด้วยจิตเลื่อมใสมาก ได้บุญมาก ” ผู้ที่บอกว่า “ ให้ทานมากได้บุญมากนั้น” พูดไม่ครบ เพราะคนที่จะให้ทานมากได้นั้น ต้องมีจิตเลื่อมใสมากก่อน ไม่อย่างนั้นใครจะไปให้ทานมากๆ จิตที่เลื่อมใส คือ ต้นเหตุแห่งการให้ทาน
ในกรณีเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์มากเท่ากัน ผู้ที่ให้ทานด้วยเงินหมื่นบาท ย่อมได้บุญมากกว่าเศรษฐีที่ให้ทาน 10 บาท เพราะแสดงว่ามีจิตเลื่อมใสมากกว่า ส่วนคนที่ยากจนเข็ญใจ เขาอาจให้ทานด้วยเงินเพียงบาทเดียว แต่เมื่อทำด้วยจิตเลื่อมใสมาก เขาก็ได้บุญมากมหาศาล เพราะทรัพย์เพียงบาทเดียวนั้น อาจเป็นเงินทั้งหมดที่เขามีอยู่ในขณะนั้น
ตัวอย่างในครั้งพุทธกาล
มหาทุคตะ
ที่ยากจนสุดๆ ขนาดผ้าที่จะห่มออกนอกบ้านมีผืนเดียว ต้องผลัดกันใช้กับภรรยา คืนหนึ่งเขาตามมหาชนไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ทั้งคืนเพื่อตั้งใจโปรดมหาทุคตะนี้โดยเฉพาะ จนมหาทุคตะเอาชนะความตระหนี่ได้ ตัดใจเอาผ้าห่มกายเก่าๆ ผืนนั้นถวายพระพุทธเจ้า ร้องประกาศเสียงดังว่า__“ชิตังเม ๆ ๆ” แปลว่า “เราชนะแล้ว ๆ ๆ” __คือ__ชนะความตระหนี่นั่นเอง ผลบุญเกิดทันตาเห็น พระราชาชื่นชมในความเลื่อมใสของมหาทุคตะ พระราชทานสมบัติเป็นอันมากแก่มหาทุคตะ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี
ยอดแห่งอุบาสกผู้ถวายทาน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นเศรษฐีใหญ่เมืองสาวัตถี เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เกิดศรัทธาจึงสร้างวัดถวาย ไปพบที่ดินที่เหมาะสมเป็นสวนป่าร่มรื่น ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวเมือง ไปขอซื้อ เจ้าของคือเชตราชกุมาร บอกราคาแบบไม่อยากขายว่า ให้เอาเงินปูเรียงเต็มพื้นที่จึงจะขาย เศรษฐีไม่ต่อเลยสักคำ ไปขนเงินเป็นแท่งๆ มาปูเรียงเต็มพื้นที่เพื่อขอซื้อจริงๆ จนเจ้าเชตทึ่งในความศรัทธาของเศรษฐี จึงให้คนเว้นที่ตรงทางเข้าหน่อยหนึ่งว่า ตรงนี้ไม่ต้องเอาเงินปู ตนขอร่วมบุญสร้างซุ้มประตูด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องใช้ชื่อตนเป็นชื่อวัด
อนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญเพื่อเอาบุญจริงๆ ไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหน้าตาอะไรเลย รับคำทันที เพราะเห็นว่าเจ้าเชตเป็นผู้มีชื่อเสียง มีอำนาจ ใช้เป็นชื่อวัดก็จะยิ่งช่วยในการเผยแผ่ธรรมะ วัดนั้นจึงได้ชื่อว่า เชตวันมหาวิหาร สิ้นทรัพย์ในการสร้างวัดคิดเป็นเงินปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท กลายเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาหลายพันรูป สร้างวัดเสร็จ เศรษฐีก็ให้ทานถวายภัตตาหารหยูกยาตลอด ต่อมาวิบากกรรมในอดีตชาติตามมาทัน ธุรกิจสะดุด ถูกคนโกง ทรัพย์ที่ฝังไว้ก็ถูกน้ำพัดไป ยากจนลง กระทั่งจะเลี้ยงพระก็มีแค่ปลายข้าวกับน้ำผักดอง แต่ก็ยังไม่เลิกให้ทาน
เทวดาที่เฝ้าซุ้มประตูบ้านเศรษฐี เหาะลงมาห้ามเศรษฐีให้เลิกให้ทานเสียเถิด จะหมดตัวอยู่แล้ว เศรษฐีนอกจากไม่เชื่อแล้ว ยังไล่เทวดาไปด้วยว่า ถ้าเป็นเทวดามิจฉาทิฐิอย่างนี้ ไม่อนุญาตให้อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของตน จนสุดท้ายเทวดาต้องไปตามสมบัติกลับมาให้เศรษฐีเป็นการขอขมา เศรษฐีก็กลับมีทรัพย์มากยิ่งกว่าเดิม
ถ้าเราเกิดในยุคเดียวกับเศรษฐี แล้วใครไปตำหนิเศรษฐีว่าหลงบุญ บ้าบุญ ก็จะกลายเป็นวิบากกรรมติดตัว ชาติต่อไปจะเกิดเป็นยาจก ถูกคนด่าว่านินทา เศรษฐีซึ่งเป็นอริยบุคคลย่อมมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหวด้วยสิ่งใดๆ เลย นี้เป็นแบบอย่างของชาวพุทธผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา สมตามคำกล่าว ที่ว่า
บัณฑิตแม้ตกทุกข์ ยังไม่เลิกประพฤติธรรม
พวกเราเห็นใครลำบากแล้วยังไม่เลิกให้ทาน ไม่เลิกทำความดี เขาก็ทำตามแบบอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นยอดแห่งอุบาสกผู้ถวายทานนั่นเอง อย่าไปตำหนิเขาให้เป็นวิบากกรรมติดตัวเรา ควรชื่นชมในความเลื่อมใสศรัทธาของเขา
ส่วนตัวของเราแม้ยังศรัทธาไม่เท่าเขา ก็ให้ทานตามกำลังศรัทธา “อย่าให้เดือดร้อนตนเอง อย่าให้เดือดร้อนครอบครัว” จะให้ทานมากน้อยเพียงใด ก็ให้ทำด้วยใจที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม ให้ทานด้วยจิตเลื่อมใสมาก ย่อมได้บุญมาก
และเมื่อให้ทานแล้ว ก็ควรรักษาศีลและเจริญสมาธิภาวนาด้วย บุญจะได้ครบ
ให้ทาน___ทำให้รวย เป็นที่รัก
รักษาศีล___ทำให้สวย แข็งแรง อายุยืน
เจริญภาวนา___ทำให้ฉลาด บรรลุธรรม