ถ่มน้ำลายรดฟ้า
คนไทยหลายคนอาจไม่คุ้นกับสำนวนคำว่า "ถ่มน้ำลายรดฟ้า" แต่ถ้าคนเคยอ่านนิยายเรื่องสามก๊ก ก็คงจะคุ้นเคยอยู่บ้าง เพราะสำนวนนี้ เกิดจากนิยายสามก๊ก ตอนจิวยี่แค้นขงเบ้งจนกระอักเลือดตาย เพราะจิวยี่พยายามกำจัดขงเบ้งหลายครั้ง แต่ขงเบ้งก็เล็ดรอดภยันตรายมาได้ทุกครั้ง ด้วยสติปัญญาความสามารถที่เหนือกว่าจิวยี่ทุกประตู จนจิวยี่ต้องรำพันออกมาว่า ...
"เมื่อฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งขงเบ้งมาเกิดด้วย"
จิวยี่จึงเหมือนถ่มน้ำลายรดฟ้า ที่พ่นน้ำลายขึ้นฟ้าทีไร น้ำลายก็หล่นลงมาเปรอะหน้าตัวเองทุกครา การถ่มน้ำลายรดฟ้า จึงกลายมาเป็นสำนวนไทย หมายถึง การดูหมิ่นหรือคิดร้ายกับผู้ที่มีคุณธรรมเป็นที่เคารพของคนทั่วไปหรือมีฐานะสูงกว่าตน อนาคตก็จะเกิดผลร้ายกับตน ซึ่งก็ตรงกับคำของพระศาสดาว่า ...
"อันตราย จะเป็นอันตราย ต่อผู้ทำอันตราย แก่ผู้ไม่เป็นอันตราย" ดังภาษิต ...
โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
สุทฺธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส
ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาป
สุขุโม รโช ปฏิวาตํว ขิตฺโต
บุคคลใดประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสดุจเนิน บาปย่อมกลับถึงบุคคลนั้นผู้เป็นคนพาลนั่นเอง เหมือนธุลี อันละเอียดที่เขาซัดทวนลมไปฉะนั้น
(พระสุตตันตปิฎก ธรรมบทเรื่อง พรานสุนัขโกกะ)
Cr. สภากาแฟ J. Mhin