ความหมายของ "วัฒนธรรมชาวพุทธ"

วันที่ 20 กพ. พ.ศ.2559

ความหมายของ "วัฒนธรรมชาวพุทธ"

            ในปัจจุบัน คำว่า "วัฒนธรรม" เป็นคำพูดที่คุ้นหูที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน แต่คำว่า "วัฒนธรรมชาวพุทธ" อาจเป็นคำใหม่สำหรับนักศึกษาหลายๆ ท่าน ดังนั้นก่อนที่จะศึกษารายละเอียดในเนื้อหาต่อไปควรทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า "วัฒนธรรมชาวพุทธ" ก่อน

          คำว่า "วัฒนธรรมชาวพุทธ" ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำหลัก คือ "วัฒนธรรม" กับ "ชาวพุทธ"เมื่อพิจารณาจากความหมายของคำ คำว่า "วัฒนธรรม" ถอดศัพท์มาจาก คำว่า"culture" ของภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก "" ในภาษาละติน มีความหมายว่า การเพาะปลูกหรือการปลูกฝังอธิบายได้ว่ามนุษย์เป็นผู้ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้เกิดความเจริญงอกงาม ในภาษาไทย "วัฒนธรรม" เป็นคำสมาส คือการรวมคำสองคำเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่


"วัฒนะ" ซึ่งมีความหมายทั่วไปว่า เจริญงอกงาม รุ่งเรือง
"ธรรม" ซึ่งในที่นี้หมายถึง กฎระเบียบหรือข้อปฏิบัติ


            เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำว่า "วัฒนธรรม" ในความหมายทั่วไป หมายถึง ข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า "วัฒนธรรม" (น.) หมายถึง
สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น
วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา
        นอกจากนี้ ได้มีนักวิชาการให้ความหมายไว้หลายประการ เช่น ในหนังสือมนุษย์กับวัฒนธรรมนักมานุษยวิทยาได้สรุปลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของวัฒนธรรมไว้ 6 ประการ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียง 
2 ประการ คือ


1. วัฒนธรรมเป็นความคิดร่วม ( shared ideas) และค่านิยมทางสังคมซึ่งเป็นตัวกำหนดมาตรฐานของพฤติกรรม คนในวัฒนธรรมเดียวกันจะสามารถคาดคะเนพฤติกรรมของผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆได้ ซึ่งทำให้พฤติกรรมของเขามีความสอดคล้องต้องกันกับผู้อื่น เช่น ค่านิยมอย่างหนึ่งในสังคมไทยคือการเคารพนับถือผู้ใหญ่ เมื่อเด็กพบผู้ใหญ่ที่ตนรู้จัก เด็กทราบดีว่าตนควรยกมือไหว้เพื่อทักทาย และแสดงความเคารพ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็สามารถคาดคะเนได้ว่า เด็กจะไหว้ตนและตนควรจะรับไหว้

 

2. วันธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์เรียนรู้ ( culture is learned) ทีละเล็กทีละน้อยจากการเกิดและเติบโตมาในสังคมแห่งหนึ่ง วัฒนธรรมเปรียบเสมือน "มรดกทางสังคม" ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งโดยผ่านกระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมหรือกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม(ฯ) ซึ่งรวมถึงการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ครูอาจารย์ และประสบการณ์ต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับการสั่งสมมาจากการเป็นสมาชิกสังคม จากกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมนี้ มนุษย์สามารถเข้าใจได้ว่าตนควรมีพฤติกรรมเช่นไรในสถานการณ์ต่างๆ พฤติกรรมเช่นไรที่คนยอมรับว่าดีงามและถูกต้องมนุษย์จะรับเอาทัศนคติ ค่านิยมและความเชื่อที่สังคมยอมรับมาเป็นของตน


        "วัฒนธรรม" เป็นศัพท์ทางวิชาการ (Technical Vocabulary) ซึ่งในทรรศนะของสังคมวิทยาหมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต กระสวนแห่งพฤติกรรม และบรรดาผลงาน ทั้งมวลที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นตลอดจนความคิด ความเชื่อ และความรู้ เป็นต้น

 

          โดยสรุป "วัฒนธรรม" หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม นับตั้งแต่วิธีกิน วิธีอยู่วิธีแต่งกาย วิธีทำงาน วิธีแสดงอารมณ์ วิธีพักผ่อน วิธีสื่อความ วิธีจราจรและขนส่ง วิธีอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ วิธีแสดงความสุขทางใจ และหลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต โดยแนวทางการแสดงออกถึงวิถีชีวิตนั้นอาจเริ่มมาจากเอกชนหรือบุคคลทำเป็นต้นแบบ แล้วต่อมาคนส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา


            คำว่า "ชาวพุทธ" คือ ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน หมายถึง กลุ่มคนหรือกลุ่มชนที่ นับถือพระพุทธศาสนาร่วมกันดังนั้นสรุปได้ว่า "วิชาวัฒนธรรมชาวพุทธ" คือวิชาที่ว่าด้วยระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเพื่อปลูกฝังคุณธรรม เพื่อการฝึกฝนพัฒนานิสัยที่ดีของผู้นับถือศาสนาพุทธ หรือการนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาแปรรูปสู่วันธรรมเพื่อนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

 

-----------------------------------------------------------------------
SB 202 วัฒนธรรมชาวพุทธ
กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.090103868643443 Mins