ที่มาของวัฒนธรรมชาวพุทธ

วันที่ 20 กพ. พ.ศ.2559

ที่มาของวัฒนธรรมชาวพุทธ

มนุษย์มีงานสำคัญที่ต้องทำให้ครบถ้วน 3 งาน คือ
1. งานอาชีพ ทำเพื่อให้ได้ปัจจัย 4 เครื่องอุปโภคบริโภคมาใช้ในการดำรงชีพเพื่อสร้างความดีงานอาชีพจะอยู่ในรูปของงานรักษาองค์กร เพื่อให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง

2. งานพัฒนานิสัย เป็นการศึกษาธรรมะทั้งจากการอ่านหรือการสอบถามจากพระภิกษุหรือผู้รู้แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องหรือนิสัยที่ไม่ดีของตนเองเพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ลดการกระทบกระทั่ง มีหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

3. งานพัฒนาจิตใจ โดยอาศัยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา เพื่อรักษาใจให้สงบ ละเอียดสุขุม ได้รู้เห็นชีวิตตามความเป็นจริง เมื่อใจได้รับการพัฒนาจะมีศักยภาพในการนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่

 

         งานทั้งสามนี้จะต้องทำไปพร้อมๆ กันในชีวิตประจำวัน หากขาดอย่างใด อย่างหนึ่ง ความสมบูรณ์ของชีวิตก็จะขาดหายไป ความมั่นคงในชีวิตก็จะไม่เกิดขึ้นคนในสังคมส่วนใหญ่มุ่งพัฒนาส่งเสริมงานอาชีพส่วนงานพัฒนานิสัยนั้นให้ความสนใจน้อย ยิ่งงานพัฒนาจิตใจด้วยแล้วจะถูกมองข้ามไปเลย จึงเป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีแต่ความรู้ความสามารถแต่ขาดคุณธรรม จึงนำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้ในทางที่ผิดทำนองคลองธรรม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในชีวิตหรือการทำงานก็จะแสวงหาทางออกในทางผิดศีลธรรม ขาดความยั้งคิด เพราะใจขาดสมาธิ ไม่รู้จักความสงบ ไม่มีหลักแห่งศีลธรรมมาเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ

          แต่หลักการพัฒนาตนเองพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีทั้ง 3 งานดังกล่าวข้างต้น อย่างครบถ้วน โดยมีงานอาชีพหรือกิจวัตรกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องหล่อหลอมจิตใจ อาศัยร่างกายมนุษย์และปัจจัย 4 รวมถึงสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ตั้งแต่ผู้คนรอบข้างและสรรพสิ่งต่างๆ เป็นอุปกรณ์ในการฝึก

 


             ลำดับขั้นในการฝึกพัฒนาคุณธรรมจะเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวออกไปสู่สิ่งไกลตัว หรือจากเรื่องง่ายๆ ไปสู่เรื่องยาก ดังจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยขั้นตอนการฝึกพัฒนาคุณธรรม 8 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 ฝึกวินัยในตนเอง เช่น การตรงต่อเวลา มีกิจวัตรประจำวันสม่ำเสมอ ไม่บกพร่อง เป็นต้น

 

ขั้นที่ 2 ฝึกดูแลตนเอง เช่น ความสะอาดของร่างกายสุขภาพอนามัย อิริยาบถที่เหมาะสมในการทำงาน เป็นต้น

 

ขั้นที่ 3 ฝึกดูแลสมบัติส่วนตัว เช่น จัดพับเก็บสิ่งของของตนให้เรียบร้อย แยกแยะส่วนเกินและของจำเป็นได้ เป็นต้น

 

ขั้นที่ 4 ฝึกดูแลสมบัติส่วนรวม เช่น ความสะอาดของสาธารณสมบัติ ศาสนสมบัติ รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายจากหมู่คณะอย่างเต็มที่ เป็นต้น

 

ขั้นที่ 5 ฝึกมารยาทและศาสนพิธี เช่น มารยาทและการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมต่อโอกาสสถานที่และสังคมต่างๆ เป็นต้น

 

ขั้นที่ 6 ฝึกรักษาและปฏิบัติตามวินัยของส่วนรวม เช่น ทำงานเป็นทีม อยู่ในกฎระเบียบและกฎหมาย รู้จักปรับตัวเข้าหาส่วนรวม เป็นต้น

 

ขั้นที่ 7 ศึกษาธรรมะ ทั้งภาคปริยัติ(ทฤษฎี) และภาคปฏิบัติ นำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม

 

ขั้นที่ 8 เป้าหมายมั่นคงชัดเจน เมื่อผ่านการฝึกทั้ง 7 ขั้นแล้ว กำลังใจและเป้าหมายในการสร้างความดีจะชัดเจนมั่นคง

 

              บทฝึกทั้ง 8 ขั้นนี้เป็นขั้นตอนการฝึกคุณธรรมหรือนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นในจิตใจ แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นในการฝึกจากเรื่องหยาบไปสู่เรื่องละเอียด จากเรื่องใกล้ตัวไปสู่เรื่องไกลตัวส่งผลให้คุณธรรมค่อยๆซึมซาบเข้าไปในจิตใจอย่างแน่นแฟ้น จนเป็นนิสัยที่ดีติดตัวไป

               การพัฒนาคุณธรรมตามหลักทั้ง 8 ขั้น เป็นการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันซึ่งต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว จึงเป็นเครื่องหล่อหลอมนิสัยใจคอของคนเราให้มีแบบแผนการปฏิบัติตัว จนกลายมาเป็นอุปนิสัยประจำอย่างถาวรไปโดยปริยาย พุทธศาสนิกชนได้นำคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหล่อหลอมชีวิตจิตใจของตนเองมายาวนาน จนกลายมาเป็นวัฒนธรรม และถือสืบเนื่องกันมาจนถึงอนุชนรุ่นหลัง

 

            บทฝึกพัฒนานิสัยของพุทธศาสนิกชน ใช้คำสั่งสอนของพระบรมศาสดา จากพระวินัยปิฎกเป็นแม่บทโดยปู่ ย่า ตา ทวดของชาวพุทธได้ยินได้ฟังมาจากหลวงปู่ หลวงตา ที่เทศน์สอนไว้ หรือผู้ชายไทยที่มีโอกาส
เข้ามาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา เมื่อลาสิกขาออกมาก็ได้นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาปฏิบัติให้สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตของตนเอง เล่าขานสืบต่อกันมาสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่าจวบจนถึงยุคปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ยาวนานหลายพันปีสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

             พระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นมานั้นเป็นบทป้องกัน และขัดเกลากิเลสจากขันธสันดานเป็นเสมือนเส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้ให้เป็นมาลัย โดยรวมดอกไม้หลากสีหลากพันธุ์เข้าเป็นหนึ่งเดียวเหนียวแน่นมั่นคง แม้จะมีกระแสลมพัดมาก็มิอาจทำให้ดอกไม้ที่ร้อยเรียงไว้ดีแล้วนั้นกระจัดกระจายไร้ระเบียบจนหมดคุณค่าไปได้ เปรียบเหมือนผู้คนที่มาจากทั่วสารทิศ เมื่อมาอยู่รวมกันจะมีความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงามได้นั้น ต้องอาศัยวินัยหรือแบบแผนการปฏิบัติที่เหมือนๆ กัน

-----------------------------------------------------------------------
SB 202 วัฒนธรรมชาวพุทธ
กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010748898983002 Mins