หลักฐานเกี่ยวกับธรรมกาย

วันที่ 30 สค. พ.ศ.2559

หลักฐานเกี่ยวกับธรรมกาย

หลักฐานเกี่ยวกับธรรมกาย , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU

    หลักฐานเรื่องธรรมกายมีปรากฏอยู่หลายคัมภีร์คือทั้งในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา วิสุทธิมรรค มิลินทปัญหา หนังสือปฐม มโพธิกถา จารึกลานทอง ศิลาจารึก และหนังสือทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ นอกจากนี้เรื่องธรรมกายยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานอีกจำนวนมาก ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะหลักฐานในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท ดังนี้

1. หลักฐานธรรมกายในพระไตรปิฎก
        ในพระไตรปิฎกมีคำว่าธรรมกายปรากฏอยู่ 5 แห่งดังนี้
     1) ในอัคคัญญสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คำว่า 'ธรรมกาย' ก็ดี 'พรหมกาย' ก็ดี 'ธรรมภูต' ก็ดี 'พรหมภูต' ก็ดี ล้วนเป็นชื่อของตถาคต

        2) ในสรภังคเถรคาถา พระสรภังคเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี สิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสปะได้ทรงดำเนินไปโดยทางใดแล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมก็ทรงดำเนินโดยทางนั้น พระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ปราศจากตัณหาไม่ทรงยึดมั่น หยั่งถึงความดับ เสด็จอุบัติโดยธรรมกาย ผู้คงที่ ได้ทรงแสดงธรรมนี้ คืออริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ความดับทุกข์ และทางที่ดำเนินไปให้ถึงความสิ้นทุกข์ด้วยทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์

       3) ในปัจเจกพุทธาปทาน บันทึกไว้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีธรรมยิ่งใหญ่มีธรรมกายมากมีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงแห่งทุกข์ทั้งมวลได้แล้ว

     4) ในมหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน พระนางมหาปชาปตีโคตมีเถรีกล่าวไว้ว่า "ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเคยเป็นมารดาเลี้ยงของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้าส่วนพระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานความสุข ที่เกิดจากพระสัทธรรม ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ทรงให้เกิดแล้ว ข้าแต่พระสุคต พระรูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อมฉันเคยฟูมฟักให้เจริญเติบใหญ่แล้วส่วนพระธรรมกายที่น่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทรงฟูมฟักให้เจริญแล้ว"

      5) ในอัตถสันทัสสกเถราปทาน พระอัตถสันทัสสกเถระกล่าวไว้ว่า อนึ่ง พระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงธรรมกาย ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้น ชนทั้งหลายไม่สามารถจะให้กำเริบได้ ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส

     จากหลักฐานธรรมกายที่กล่าวมานี้มีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ประการซึ่งสอดคล้องกับคำสอนของพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ดังนี้

       1) การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระตถาคตนั้นหมายเอา "การเป็นด้วยธรรมกาย" หรือการได้เข้าถึงพระธรรมกาย ไม่ใช่หมายเอากายมนุษย์หรือกายเนื้อ ดังที่พระสรภังคเถระกล่าวไว้ว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ เสด็จอุบัติโดยธรรมกาย" หรือที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ธรรมกายเป็นชื่อของตถาถต"

       2) จากสรภังคเถรคาถาที่ว่า พระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ เสด็จอุบัติโดยธรรมกายแล้ว ทรงแสดงธรรม คือ อริยสัจ 4 นัยนี้ก็คือ การที่พระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ด้วยธรรมกายแล้วจึงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้ดังกล่าว ประเด็นนี้สอดคล้องกับคำสอนหลวงปู่วัดปากน้ำที่ว่า ธรรมกายนั้นเป็นผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ได้แก่รู้ทุกข์, รู้เหตุของทุกข์หรือสมุทัย, รู้ความดับทุกข์หรือนิโรธ และ รู้เหตุของความดับทุกข์หรือมรรคมีองค์ 8

       3) ธรรมกายมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน กล่าวคือ มีอยู่ในกายเนื้อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีอยู่ในกายเนื้อของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีอยู่ในกายเนื้อของพระสาวกสาวิกาทุกรูป และมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ดังข้อความที่ว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีธรรมยิ่งใหญ่ มีธรรมกายมาก" และดังที่พระนางมหาปชาปตีโคตมีเถรีกล่าวว่า "พระธรรมกายที่น่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน อันพระองค์ทรงฟูมฟักให้เจริญแล้ว"

     ด้วยเหตุนี้พระสาวกที่ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธองค์จึงมีคำเรียกว่าสาวกพุทธเจ้าบ้าง อนุพุทธเจ้าบ้างสุตพุทธเจ้าบ้าง พหุสุตตพุทธเจ้าบ้าง หมายถึง ผู้ได้เข้าถึงพระพุทธเจ้าในตัวหรือเข้าถึงพระธรรมกายในตัวนั่นเอง

      4) ธรรมกายนั้นเป็นบ่อเกิดของรัตนะทั้งหลาย ดังที่พระอัตถสันทัสสกเถระกล่าวไว้ว่า "อนึ่งพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสดงธรรมกาย ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้น" คำว่ารัตนะในที่นี้ตามทัศนะของหลวงปู่วัดปากน้ำนั้นหมายเอาพระรัตนตรัย เมื่อผู้ใดได้เข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็น "พุทธรัตนะ" แล้ว ก็จะได้เข้าถึง "ธรรมรัตนะ" และ "สังฆรัตนะ" ด้วย เพราะรัตนะทั้งสามนี้อาศัยซึ่งกันและกันและรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

2. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ธรรมกาย
      ประเด็นที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือธรรมกายในตัว ไม่ได้หมายถึงกายเนื้อของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น มีหลักฐานอื่น ๆ อีกมาก เช่น ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระวักกลิผู้มีศรัทธาจริตนิยมชมชอบในลักษณะมหาบุรุษของพระองค์ว่า "อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปอยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม" ในอรรถกถาวักกลิสูตรอธิบายไว้ว่า "ธรรมกายแลคือพระตถาคต..." หมายถึงเมื่อพระวักกลิได้เข้าถึงธรรมคือ พระธรรมกายในตัวก็ย่อมได้เห็นพระตถาคตเจ้าส่วนร่างกายภายนอกอันเปอยเน่านั้นไม่ใช่พระตถาคต

    ในสังฆาฏิสูตรพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ทำนองเดียวกันว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิแล้วพึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลัง ๆ เดินไปตามรอยเท้า ของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท... โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ 100 โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ... มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวสำรวมอินทรีย์โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา

   ในอรรถกถาสังฆาฏิสูตรอธิบายไว้ว่า "โลกุตรธรรม 9 อย่าง ชื่อว่า ธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตรธรรมนั้นได้ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌา เป็นต้น ประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้นเธอจึงชื่อว่าไม่เห็นธรรมกาย" และในอรรถกถาวักกลิสูตรก็บันทึกไว้อีกด้วยว่า "ธรรมกายแลคือพระตถาคต ความจริงโลกุตรธรรม 9 อย่าง ชื่อว่า พระกายของพระตถาคต"

         อภิชฌา หมายถึง ความคิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของคนอื่น จัดเป็นกิเล ตระกูลโลภะ


3. ธรรมกาย คือ โลกุตรธรรม 9
      โลกุตรธรรม 9 หมายถึง ธรรมที่พ้นจากโลก เหนือโลก ตรงข้ามกับโลกียธรรมคือธรรมที่ยังเป็นวิสัยของโลกหรือยังไม่พ้นโลก โลกุตรธรรม 9 ได้แก่ "มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1"

        "มรรค 4 ได้แก่ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และ อรหัตตมรรค

         ผล 4 ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และ อรหัตตผล"

      จากอรรถกถาสังฆาฏิสูตรข้างต้นที่กล่าวว่า  "การไม่เห็นธรรม คือไม่เห็นโลกุตรธรรม 9 และการไม่เห็นโลกุตรธรรม 9 ชื่อว่าไม่เห็นธรรมกาย" และจากอรรถกถาวักกลิสูตรที่ว่า "ธรรมกายแลคือพระตถาคตและโลกุตรธรรม 9 อย่าง ชื่อว่า พระกายของพระตถาคต" นั้น

        เพราะฉะนั้น มรรค 4 ผล 4 ก็คือธรรมกายในแต่ละระดับนั่นเอง อาจเรียกชื่อได้ดังนี้

       มรรค 4 ได้แก่ ธรรมกายโสดาปัตติมรรค ธรรมกาย สกทาคามิมรรค ธรรมกายอนาคามิมรรค และธรรมกายอรหัตตมรรคส่วนผล 4 ได้แก่ ธรรมกายโสดาปัตติผล ธรรมกาย สกทาคามิผล ธรรมกายอนาคามิผลและ ธรรมกายอรหัตตผล

      ประเด็นนี้มีหลักฐานยืนยันอีก คือ ในอรรถกถาโสณสูตรบันทึกไว้ว่า "ท่านพระโสณะพอบวชแล้วก็เรียนกรรมฐานในสำนักของพระเถระ เพียรพยายามอยู่... ได้เป็นพระโสดาบัน...จึงเจริญวิปัสสนาเพื่อมรรคชั้นสูงได้อภิญญา 6 ภายในพรรษานั้นเอง... ก็เพราะเห็นอริยสัจ จึงเป็นอันชื่อว่าเธอได้เห็นธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า" และในอรรถกถาธนิยสูตรบันทึกไว้ว่า "คนทั้ง 4 คือ นายธนิยะ ภรรยาของเขาและธิดาของเขา 2 คน ได้ฟังคาถาที่แสดงสัจ 4 ประการ... ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ลำดับนั้น นายธนิยะเห็นแล้วซึ่งธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยปัญญาจักษุ ด้วยศรัทธา ซึ่งตั้งมั่นแล้ว..."

      จากอรรถกถาที่กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่า การเป็นพระโสดาบัน คือ การได้เห็นธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งก็คือ พุทธรัตนะนั่นเอง และพุทธรัตนะนี้ก็มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน การจะเห็นธรรมกายดังกล่าวได้ จะต้องปฏิบัติธรรมจนใจหยุดนิ่งแล้วเข้าถึงธรรมกายระดับต่าง ๆ ในตัว คือ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภูจนถึงธรรมกายอรหัตผล จะเห็นว่าที่กล่าวมานี้ อดคล้องกันอย่างยิ่งกับคำสอนหลวงปู่วัดปากน้ำ

     ส่วนนิพพานนั้นหลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวไว้ว่า ธรรมกายต่างๆ จะมีธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายอยู่ที่ศูนย์กลางของแต่ละกาย โดยธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตนั้นเป็นวิราคธาตุวิราคธรรม และตัวนิพพานก็เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม จึงทำให้ดึงดูดกัน พอถูกส่วนเข้าก็ดึงดูดกันรั้งกันไปเอง กล่าวคือ พอถึงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตก็ถึงนิพพาน นิพพานอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่มีธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัต ก็ไปนิพพานไม่ได้

    คำว่า "วิราคะ" ในคำว่าวิราคธาตุวิราคธรรมนั้น หมายถึง ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของนิพพานนั่นเอง

      หลักฐานธรรมกายที่ยกมานี้ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ก็ไม่อาจจะทำให้นักศึกษาเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งได้ นอกจากจะลงมือปฏิบัติสมาธิจนเข้าถึงธรรมกายด้วยตนเอง ใน มัยหลวงปู่วัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่มีผู้เข้าถึงพระธรรมกายจำนวนมาก และในปัจจุบันก็ยังมีพยานบุคคลที่ได้เข้าถึงพระธรรมกายด้วยตนเองอยู่ไม่น้อย ประเด็นนี้จะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป หลักฐานและเนื้อหาที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแผนที่และแนวทางในการปฏิบัติธรรมเท่านั้น

      พระธรรมกายที่อยู่ภายในตัวของมนุษย์ทุกคนนั้นมีอานุภาพมาก เมื่อเข้าถึงแล้วสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่กายมนุษย์ทำไม่ได้ เช่น ระลึกชาติหนหลังได้ หยั่งรู้ใจของผู้อื่นได้ แก้ไขคนที่เจ็บป่วยให้หายได้ไปนิพพานก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ ไปนรกก็ได้สามารถไปช่วยคนที่ตกนรกได้ เช่น คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เคยไปช่วยคุณพ่อของท่านขึ้นมาจากนรก ดังนี้

      คุณยายเล่าว่า "เมื่อยายเข้าถึงธรรมกายใหม่ ๆ องค์พระชัดใสยายนี่เข้าธรรมกายไป ไปเยี่ยมพ่อยายในนรก ไฟนรกมันดับชั่วคราว ยายก็อาราธนาพระธรรมกายให้ศีลแก่พ่อ พอพ่อยายตั้งใจรับศีลเท่านั้นบุญที่เคยทำมาในอดีตชาติ เคยรักษาศีลมา บุญนั้นก็ตามมา บุญที่เกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล การทำภาวนา ข้ามภพข้ามชาติตั้งแต่ชาติก่อน ๆ โน้น มันตามมาทัน พอนึกถึงบุญเก่าออก แล้วก็ตั้งใจรับศีลจากพระธรรมกายเท่านั้น บุญเก่าบุญใหม่มาประจบกัน บุญนั้นพาพ่อยายให้พ้นจากนรกได้ และเนื่องจากทำบุญทำทานอย่างอื่นไว้บ้าง ทำให้มีวิมานเก่า ๆ อยู่ในสวรรค์ชั้นต้น พ่อยายก็ได้ไปอยู่บน สวรรค์กับเขาได้เหมือนกัน"

     นี้คืออานุภาพโดยย่อของพระธรรมกายสำหรับอานุภาพที่สำคัญที่สุดของพระธรรมกายคือ ช่วยกำจัดกิเลสในใจของมนุษย์ให้หมดสิ้นได้

 


หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011018315951029 Mins