การบวชในพระพุทธศาสนา

วันที่ 18 ตค. พ.ศ.2559

การบวชในพระพุทธศาสนา

การบวชในพระพุทธศาสนา , พระสงฆ์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , เส้นทางการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์

    ในปัจจุบันการบวชในพระพุทธศาสนามี 2 แบบ คือ บวชเป็นสามเณรเรียกว่า "บรรพชา" และบวชเป็นพระภิกษุเรียกว่า "อุปสมบท"

      บรรพชา แปลว่า การบวช อรรถกถากล่าวว่า บรรพชา ชื่อว่า ปลอดโปร่ง และไม่มีความห่วงใยซึ่งตรงข้ามกับชีวิตของฆราวาส ที่เป็นทางคับแคบไม่ปลอดโปร่งต่อการสร้างบารมีเพื่อกำจัดกิเลสไปสู่อายตนนิพพาน

       อุปสมบท แปลว่า การเข้าถึง หมายถึง การบวชเป็นพระภิกษุและภิกษุณี

    ในยุคต้นของพระพุทธศาสนาพระสาวกทุกรูปล้วนเป็นพระภิกษุไม่มีพระสาวกที่เป็นสามเณร  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวชนั้นเรียกว่า เสด็จออกบรรพชา ต่อมาในภายหลังมีพุทธานุญาตให้มีการบวช เป็นสามเณร และให้ใช้คำว่า บรรพชาสำหรับการบวชเป็นสามเณร และใช้คำว่า อุปสมบทสำหรับการบวชเป็นพระภิกษุ

      สามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา คือสามเณรราหุล ท่านได้รับพุทธานุญาตให้บวช เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ครั้งนั้นพระนางพิมพาทรงแนะให้ราหุลกุมารไปทูลขอสมบัติจากพระพุทธองค์ อันเป็นขุมทรัพย์คู่บุญที่เกิดขึ้นพร้อมกับการประสูติของพระองค์

    พระพุทธองค์ทรงดำริว่า "กุมารนี้อยากได้ทรัพย์อันเป็นสมบัติของบิดา ทรัพย์นั้นไปตามวัฏฏะ มีความคับแคบ ช่างเถิด เราจักให้อริยทรัพย์ 7 ประการ อันเราได้เฉพาะที่ควงไม้โพธิ์แก่เธอ จะทำเธอให้เป็นเจ้าของมรดกอันเป็นโลกุตระ" จึงทรงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรบรรพชาพระโอรสราหุลเป็นสามเณรด้วยวิธีไตรสรณคมน์ การบรรพชาด้วยวิธีนี้ ได้ใช้เป็นต้นแบบแห่งการบวชสามเณรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


1. วิธีการบรรพชาเป็นสามเณร
   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีการบรรพชาสามเณรไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุให้กุลบุตรบวชอย่างนี้ ชั้นต้น พึงให้โกนผมและหนวด แล้วให้ครองผ้าย้อมฝาด ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประคองอัญชลี แล้วสั่งว่า จงว่าอย่างนี้ แล้วสอนให้ว่า สรณคมน์"

      การครองผ้าย้อมฝาดและการห่มผ้าเฉวียงบ่า คือ การนุ่งห่มผ้า บงจีวรนั่นเอง

     การกล่าวคำขอถึงสรณคมน์หรือไตรสรณคมน์คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น พระภิกษุผู้รับบวชจะกล่าวนำ และผู้ขอบวชจะกล่าวตาม ดังนี้

พุทธ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธมฺม สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สงฺฆ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ทุติยมฺปิ พุทธ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ 2
ทุติยมฺปิ ธมฺม สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ 2
ทุติยมฺปิ สงฺฆ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ 2
ตติยมฺปิ พุทฺธ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ 3
ตติยมฺปิ ธมมฺ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระธรรม เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ 3
ตติยมฺปิ สงฺฆ สรณํ คจฺฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แม้ครั้งที่ 3

     เหตุที่ต้องกล่าวถึง 3 ครั้งเช่นนี้ เพราะบางครั้งผู้ขอบวชอาจเอ่ยปากโดยเผลอ ติ หรือกล่าวผิดพลาด ฉะนั้นจะถือคำพูดเพียงครั้งเดียวมาเป็นหลักฐานยืนยันความตั้งใจจริงยังไม่ได้ ต้องกล่าวถึง 3 ครั้งเป็นการย้ำเจตนาว่า มิได้พูดเพราะเผลอ ติ เมื่อกล่าวจบ 3 ครั้ง ถือว่าสำเร็จเป็นสามเณร จากนั้นจึงให้สามเณรรับสิกขาบท 10 ประการ คือ

1) ปาณาติปาตา เวรมณี แปลว่า เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป.
2) อทินฺนาทานา เวรมณี แปลว่า เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้.
3) อพฺรหฺมจริยา เวรมณี แปลว่า เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์.
4) มุสาวาทา เวรมณี แปลว่า เว้นจากการกล่าวเท็จ.
5)สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี แปลว่า เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท.
6) วิกาลโภชนา เวรมณี แปลว่า เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล.
7) นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี แปลว่า เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก.
8) มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภู นฏฐานา เวรมณี แปลว่า เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ต่าง ๆ
9) อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี แปลว่า เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่
10) ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี แปลว่า เว้นจากการรับทองและเงิน

  ขั้นตอนการบรรพชากุลบุตรเป็นสามเณรในสมัยพุทธกาลมีเพียงเท่านี้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการเพิ่มพิธีกรรมย่อยต่าง ๆ เข้ามา เพื่อให้ผู้ขอบวชได้บุญกุศลเพิ่มขึ้น และเพื่อให้การบรรพชามีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น แต่รูปแบบพิธีกรรมจะต่างกันไปตามประเพณีท้องถิ่นหรือตามแต่วัดต่าง ๆ จะเห็นเหมาะสม

     ตัวอย่างเช่นขั้นตอนการบรรพชาของวัดพระธรรมกาย จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นลำดับดังนี้คือ พิธีเวียนประทักษิณรอบพระอุโบสถ, พิธีวันทาสีมา, พิธีวันทาพระประธาน, พิธีขอขมาและรับผ้าไตร, พิธีขอบรรพชา จากนั้นก็จะถึงพิธีขอถึงไตรสรณคมน์และขอศีลสุดท้ายก็จะเป็นพิธีรับบาตร หากเป็นการอุปสมบทคือ "บวชเป็นพระภิกษุ" ก็จะมีพิธีขอนิสัย ขออุปสมบท และพิธีรับอนุศาสน์เป็นลำดับต่อไป


2. วิธีการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
      การอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้นมีวิธีการหลัก ๆ 3 วิธีคือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา, ติสรณคมนูปสัมปทาและ ญัตติจตุตถกรรมวาจา ดังนี้

   1) เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นการอุปสมบทโดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้ที่ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีนี้รูปแรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ กล่าวคือ เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์หรือนักบวช 5 รูป ได้แก่ ท่านโกณฑัญญะ เป็นต้น ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ในครั้งนั้นท่านโกณทัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเมื่อท่านได้บรรลุธรรมแล้วก็ได้ทูลต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าพระพุทธเจ้าข้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"   ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ท่านโกณทัญญะก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์

      ในกรณีที่ผู้ขออุปสมบทได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว เช่น ยสกุลบุตร เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะไม่ตรัสประโยคที่ว่า "เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" แต่ตรัสเพียงว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิดธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด"


   2) ติสรณคมนูปสัมปทา คือ การอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์นั่นเอง เป็นการบวชที่มีพระสาวกเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งมีวิธีการเดียวกันกับการบวชเป็นสามเณร แต่ผู้บวชจะต้องถือศีลของพระภิกษุ การอุปสมบทวิธีนี้สืบเนื่องมาจากมีกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบวชแต่อยู่ในชนบทอันห่างไกล พระภิกษุที่อยู่ในถิ่นนั้น ๆ ต้องพากุลบุตรเหล่านั้นเดินทางรอนแรมมาเพื่อให้พระพุทธองค์บวชให้ จึงได้รับความลำบากมาก ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระสาวกในท้องถิ่นนั้น ๆ ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาและอุปสมบทแก่กุลบุตรได้


      3) ญัตติจตุตถกรรมวาจา เป็นการบวชโดยคณะสงฆ์ หากเป็นชนบทที่หาพระภิกษุได้ยากก็ใช้พระสงฆ์ 5 รูป รวมทั้งพระอุปัชฌาย์ หากเป็นเมืองหลวงซึ่งมีพระภิกษุอยู่มากต้องใช้พระภิกษุอย่างน้อย 10 รูป รวมทั้งพระอุปัชฌาย์

     เหตุที่ต้องใช้พระภิกษุถึง 5 รูป หรือ 10 รูป ในการอุปสมบทนั้นก็เพื่อให้ช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบจะได้ไม่พลาดรับคนไม่ดีเข้าบวชอันจะเป็นเหตุให้พระศาสนาเสื่อมเสีย แต่ในปัจจุบันการคัดคนจะอยู่ในขั้นตอนการรับสมัครเพราะมีความสะดวกมากกว่า

    ญัตติจตุตถกรรมวาจาเป็นวิธีการอุปสมบทที่สืบทอดมาจนถึงปัจุจบันส่วนติสรณคมนูปสัมปทานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยกเลิกไป ผู้ได้รับการบวชแบบญัตติจตุตถกรรมวาจารูปแรกคือ ราธพราหมณ์สำหรับการอุปสมบทด้วยวิธีนี้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

       1) บรรพชาเป็นสามเณร 2) ขอนิสัยและขออุปสมบท 3) รับอนุศาสน์
การขอนิสัย คือ การกล่าวคำข้อร้องต่อพระอุปัชฌาย์ เพื่อขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยของตนทำหน้าที่ปกครองอบรมสั่งสอนและให้การศึกษาต่อไป

      ขออุปสมบท คือ การกล่าวคำขออุปสมบทต่อคณะสงฆ์ เพื่อให้คณะสงฆ์รับตนเข้าหมู่ และยกตนขึ้นเป็นพระภิกษุ

      อนุศาสน์ คือ คำสอนที่พระอุปัชฌาย์บอกแก่ภิกษุใหม่ในเวลาอุปสมบทเสร็จ ประกอบด้วยนิสัย 4 และอกรณียกิจ 4 เพื่อให้ภิกษุใหม่ได้ทราบถึงสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาดตามพระธรรมวินัย

       นิสสัย มาจากบทว่า นิสฺสย ในภาษาบาลี แปลว่า นิสัย ดังในอรรถกถาที่ว่า "นิสฺสยกรณีโยมีความว่า เราเป็นผู้มีการถือนิสัยเป็นกิจควรทำ อธิบายว่า นิสัยอันเราพึงทำ คือ พึงถือ"

        นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยหลักของพระภิกษุ 4 อย่าง ได้แก่ เที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุลอยู่โคนไม้ และฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าคือน้ำปัสสาวะ

      อกรณียกิจ คือ กิจที่พระภิกษุทำไม่ได้เด็ดขาด ถ้าทำแล้วจะขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ได้แก่ เสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ และพูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

      รายละเอียดการอุปสมบทแบบนี้ยังมีอีกมากแต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ หัวใจหลักของการอุปสมบทวิธีนี้คือ ผู้ขออุปสมบทต้องได้รับความเห็นชอบจากพระสงฆ์ทุกรูปที่ให้การอุปสมบท หากมีรูปใดรูปหนึ่งคัดค้านก็ไม่อาจจะอุปสมบทได้


3. อายุของผู้ควรบรรพชาและอุปสมบท
     ตอนที่พระโอรสราหุลได้บรรพชาเป็นสามเณรนั้นท่านมีพระชนม์ 7 พรรษา2 ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดและได้รับการบรรพชาตามที่บันทึกไว้ในอรรถกถาคือ พระปทุมเถระ ท่านบรรพชาขณะที่อายุได้ 5 ขวบ อย่างไรก็ตามอายุที่เหมาะสมต่อการบรรพชาในปัจจุบันควรจะอยู่ที่ 10 ขวบ ถึง 19 ปี เพราะเด็กที่อายุ 10 ขวบ ขึ้นไปพอจะดูแลตนเองได้แล้ว

    ส่วนวัยที่ต่ำกว่านั้นยังต้องอาศัยการดูแลจากผู้ใหญ่ค่อนข้างมาก หากเข้ามาบวชจะเป็นภาระของพระอาจารย์พระพี่เลี้ยงส่วนเด็กคนใดที่มีอายุน้อยกว่า 10 ขวบแต่สามารถดูแลตนเองได้ดีแล้วก็ควรจะให้บรรพชาได้ หรือแม้อายุจะน้อยและยังดูแลตนเองไม่ค่อยได้แต่พระอุปัชฌาย์เมตตาบรรพชาให้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพระอุปัชฌาย์แต่ละรูปหรือแต่ละวัด

    สำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปนั้นสามารถอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ หากอายุหย่อนกว่านี้ไม่สามารถอุปสมบทได้ แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีอายุครบสำหรับการบวชเป็นพระภิกษุแล้ว แต่ไม่ปรารถนาจะอุปสมบท ต้องการจะบรรพชาเป็นสามเณรอย่างเดียวก็ได้เหมือนกัน

     การนับอายุ 20 ปีนั้นโดยทั่วไปคือ ใช้วันเดือนปีในปัจจุบันเป็นตัวตั้งและใช้วันเดือนปีเกิดเป็นตัวลบหากมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีก็อุปสมบทได้ อย่างไรก็ตามพระพุทธองค์ก็อนุญาตไว้ว่าสามารถนับอายุได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังพระดำรัสว่า "จิตดวงแรกเกิดขึ้นแล้วในครรภ์ของมารดา คือวิญญาณดวงแรกปรากฏแล้วชื่อว่า ความเกิดของสัตว์มีเพราะอาศัยจิตนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทกุลบุตรมีอายุครบ 20 ปี ทั้งอยู่ในครรภ์" กล่าวคือ หากรวมอายุตั้งแต่คลอดกับช่วงที่อยู่ในครรภ์ 9 เดือน แล้วได้ 20 ปีบริบูรณ์ก็สามารถอุปสมบทได้


4. ผู้ถูกห้ามบวชและผู้ที่ไม่ควรให้บวช

1) ผู้ถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาด
      ผู้ถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาดมีอยู่ 3 ประเภทคือ ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม 5 อย่าง และผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา หากคณะสงฆ์ให้อุปสมบทไปโดยที่ไม่รู้ เมื่อทราบภายหลังจะต้องให้ลาสิกขา การห้ามอุปสมบทในที่นี้รวมถึงการห้ามบรรพชาเป็นสามเณรด้วย

ประเภทที่ 1 ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง
     1) บัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทย 2) อุภโตพยัญชนก หมายถึง คนที่มีอวัยวะเพศ 2 เพศ คือ มีทั้งเพศหญิงและเพศชายในคนเดียวกัน 3)สัตว์ดิรัจฉาน

    กรณีการห้ามสัตว์ดิรัจฉานเข้ามาบวชนี้มีเหตุมากจากเมื่อครั้งพุทธกาลมีตัวนาคแปลงร่างเป็นมนุษย์แล้วเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ วันหนึ่งขณะจำวัดอยู่ร่างก็ได้กลับกลายเป็นนาคเหมือนเดิมสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ภิกษุผู้พบเห็นเป็นอันมาก เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทราบเรื่องจึงมีพุทธบัญญัติว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว ต้องให้สึกเสีย"

     ด้วยเหตุนี้ในขั้นตอนการอุปสมบทจึงมีการถามก่อนว่า ผู้ประสงค์จะบวชเป็นมนุษย์หรือไม่ ดังคำว่า "มนุสโสสิ๊" และคำเรียกผู้ประสงค์จะบวชว่า "นาค" นั้นก็มีเหตุมาจากเรื่องนี้

     และในปัจจุบันสตรีก็ไม่อาจบวชเป็นสามเณรีหรือเป็นภิกษุณีในนิกายเถรวาทได้ เพราะการบวชสตรีตามพุทธบัญญัตินั้น ต้องบวชด้วยสงฆ์ 2 ฝ่ายคือ ภิกษุสงฆ์ และ ภิกษุณีสงฆ์ เมื่อภิกษุณีสงฆ์ในนิกายเถรวาทไม่มีแล้วสตรีจึงไม่อาจจะบวชได้อีก

ประเภทที่ 2 ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม
     1) ผู้ที่ฆ่าบิดา 2) ผู้ที่ฆ่ามารดา 3) ผู้ที่ฆ่าพระอรหันต์ 4) ผู้ที่ทำร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต 5) ผู้ที่ทำสังฆเภทคือทำสงฆ์ให้แตกกัน

ประเภทที่ 3 ผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา
    1) ผู้ที่เคยต้องอาบัติปาราชิก หมายถึง ผู้ที่เคยบวชแล้วแต่ทำผิดร้ายแรงถึงระดับที่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ บุคคลประเภทนี้จะกลับมาบวชอีกไม่ได้
       2) ผู้ที่ทำร้ายภิกษุณี
       3) คนลักเพศ หมายถึง ปลอมบวชคือเอาผ้าเหลืองมาห่มเองโดยไม่มีพระอุปัชฌาย์
      4) ผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์ หมายถึง พระภิกษุสามเณรที่เปลี่ยนไปเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาส่วนผู้ที่เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อนแต่ต้องการจะบวชในพระพุทธศาสนาสามารถทำได้โดยจะต้องอยู่ปริวาส 4 เดือนก่อนแล้วจึงบวชได้

     ปริวาสเป็นพิธีกรรมสงฆ์อย่างหนึ่ง ปกติพระภิกษุจะอยู่ปริวาสเพื่อแก้ไขและทบทวนความผิดพลาดในเรื่องศีลของตน จะได้สำรวมระวังต่อไป แต่ในที่นี้เป็นการอยู่ปริวาสเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับละวัตรปฏิบัติเดิมและหันมาปฏิบัติตามกิจของนักบวชในพระพุทธศาสนา

2) ผู้ที่ไม่ควรได้รับการอุปสมบท
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่ไม่ควรได้รับการอุปสมบทไว้ 20 ประการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีพระอุปัชฌาย์ หรือ ผู้ที่พระอุปัชฌาย์มีปัญหา เช่น พระอุปัชฌาย์เป็นกะเทย, ไปเข้ารีตเดียรถีย์, พระอุปัชฌาย์เป็นปาราชิก เป็นอุภโตพยัญชนก เป็นลักเพศ ประเภทที่สอง ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีบริขารเป็นของตนเอง คือ ไม่มีบาตรและจีวร บุคคลเหล่านี้ไม่ควรให้บวช หากภิกษุรูปใดบวชให้จะต้องอาบัติทุกกฎ แต่เมื่อใดบุคคลเหล่านี้สามารถหาพระอุปัชฌาย์ที่เหมาะสมได้และหาบริขารได้แล้วก็สามารถอุปสมบทได

3) ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชา
     ผู้ที่ไม่ควรได้รับการบรรพชานั้นถือว่าเป็นผู้ไม่ควรได้รับการอุปสมบทด้วย เพราะอุปสมบทกรรมเป็นพิธีที่ต้องผ่านการบรรพชามาก่อน บุคคลที่ไม่ควรได้รับการบรรพชาแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้ที่มีพันธะและผู้ทำผิดกฎหมาย, ผู้พิการหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ และผู้ป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง

      ประเภทที่ 1 ผู้ที่มีพันธะและผู้ทำผิดกฎหมาย ได้แก่ มารดาบิดาไม่อนุญาต, มีหนี้สิน, เป็นทาส , ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต, โจรผู้ร้าย และ คนที่ถูกออกหมายจับ เป็นต้น

      ประเภทที่ 2 ผู้พิการหรือมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ ได้แก่ มือเท้าด้วน หูขาด นิ้วขาด เอ็นขาด จมูกแหว่ง นิ้วติดกันเป็นแผ่น ตาบอด ใบ้ หูหนวก ง่อย เปลี้ย คอพอก ค่อม เตี้ยเกินไป เท้าปุก ชราทุพพลภาพ รูปร่างไม่สมประกอบ คนกระจอกคือฝ่าเท้าไม่ดีต้องเดินเขย่ง เป็นต้น

     ประเภทที่ 3 ผู้ป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง ได้แก่ โรคอัมพาต มีโรคเรื้อรัง โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคลมบ้าหมู โรคมองคร่อ (โรคที่มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านหลอดลม) โรคเหล่านี้ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ป่วยจึงไม่ควรที่จะเข้ามาบวช แต่ในปัจจุบันมีโรคร้ายแรงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้ก็ไม่ควรให้บวชเช่นกัน

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า หากพระอุปัชฌาย์ท่านใดให้บุคคลเหล่านี้บรรพชาจะต้องอาบัติทุกกฎแต่ทั้งนี้ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏว่า พระพุทธองค์ประสงค์ให้บุคคลที่ได้รับการบวชแล้วลาสิกขาแต่อย่างใด ในบางแห่งอรรถกถากล่าวไว้ว่า หากสงฆ์ให้บุคคลเหล่านี้บวชแล้ว "ก็เป็นอันอุปสมบทด้วยดี" บุคคลดังกล่าวหากได้บวชแล้วจะสามารถดำรงเพศบรรพชิตอยู่ได้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสงฆ์ในแต่ละวัด ถ้าข้อบกพร่องมีไม่มากก็คงให้บวชอยู่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าหากให้อยู่ต่อไปจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ที่ดีของสงฆ์ก็ควรให้ลาสิกขาออกไป

  จะเห็นว่าระบบระเบียบการคัดคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นระบุไว้อย่างละเอียดชัดเจนมากจึงเป็นเครื่องชี้วัดว่า ผู้ที่จะมาบวชได้จะต้องมีความสมบูรณ์พร้อมจริงๆ ทั้งเรื่องบุคลิกภาพและความประพฤติต้องเป็นคนที่สั่งสมบุญมาอย่างดีแล้ว มาบวชเพื่อหวังทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างแท้จริง และจะได้เป็นที่พึ่งให้พระศาสนาได้ ไม่ได้มาบวชเพื่อหวังพึ่งพระศาสนา มีข้อสังเกตว่า ผู้ที่ออกบวชในสมัยพุทธกาลส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในทางโลกมาแล้ว ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอัครสาวกทั้งสองพระมหาเถระผู้ใหญ่ 80 รูป ฯลฯ ก่อนบวชแต่ละรูปต่างถึงพร้อมทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติแต่ยังได้ละกามสุขทั้งปวงเพื่อแสวงหาสุขอันเที่ยงแท้ในพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า


5. ศีลของพระภิกษุ
     ศีลของพระภิกษุ เป็น "อปริยันตปาริสุทธิศีล" หมายถึง มากมาย ไม่มีที่สุด แต่โดยรวมแล้วแบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ ๆ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล 4 ดังนี้คือ

      1) ปาฏิโมกขสังวรศีล หมายถึง ศีล 227สิกขาบท

     2) อินทรียสังวรศีล หมายถึง การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูปเวลาได้ยินเสียง เวลาดมกลิ่น เวลาสัมผัส เวลาลิ้มรส หรือระลึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ

    3) อาชีวปาริสุทธิศีล หมายถึง การเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพด้วยวิสัยของสมณะคือการปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมวินัย แล้วอาศัยปัจจัย 4 ที่ญาติโยมถวายด้วยศรัทธาเลี้ยงชีพ ไม่เลี้ยงชีพด้วยการประกอบอาชีพอย่างฆราวาสหรือไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ กล่าวคือ บวชแล้วไม่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่อาศัยผ้าเหลืองเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นต้น

     4) ปัจจัยสันนิสิตศีล หมายถึง ศีลที่ว่าด้วยการให้พิจารณาปัจจัย 4 ก่อนบริโภค คือ จีวร บิณฑบาตที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค โดยให้พิจารณาว่า เราบริโภคสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ยังชีพอยู่ได้ จะได้มีเรี่ยวแรง และบำเพ็ญ มณธรรมได้สะดวก ไม่บริโภคด้วยตัณหาปาริสุทธิศีล 4 นี้ยังมีรายละเอียดอีกมากในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะปาฏิโมกข์สังวรศีลคือศีล 227 สิกขาบทเท่านั้น

    ปาฏิโมกขสังวรศีล แบ่งออกเป็น 8 หมวดคือ ปาราชิก 4สิกขาบท,สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท, อนิยต 2สิกขาบท, นิสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท, ปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท, ปาฏิเท นียะ 4 สิกขาบท, เสขิยวัตร 75 สิกขาบท และอธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท รวมทั้งหมดเป็น 227สิกขาบท

      คำว่าสิกขาบท มาจากสิกขา  บท "บท" คือ ข้อ และ "สิกขา" คือ ศึกษาสิกขาบทจึงแปลว่าข้อศึกษา หมายถึง ศีลแต่ละข้อนั่นเอง

     สิกขาบทเหล่านี้จะเรียงลำดับจากโทษหนักไปหาโทษเบา กล่าวคือ ปาราชิกมีโทษหนักที่สุดส่วนสิกขาบทอื่นจะมีโทษลดหย่อนลงมาเรื่อยๆ โดยเสขิยวัตรจะมีโทษเบาที่สุดส่วนอธิกรณสมถะนั้นเป็นวิธีระงับอธิกรณ์ ไม่ได้มีการกำหนดโทษเหมือนสิกขาบทหมวดอื่น เพราะไม่ได้เป็นสิกขาบทที่ต้องถือปฏิบัติโดยทั่วไปแต่จะใช้เฉพาะการระงับอธิกรณ์หรือคดีความที่เกิดขึ้นเท่านั้น

     1) ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ พ่ายแพ้ในที่นี้คือพ่ายแพ้ต่อเส้นทางของนักบวชเพราะปาราชิกเป็นสิกขาบทหนักที่ภิกษุใดล่วงละเมิดจะขาดจากความเป็นภิกษุทันที ไม่ว่าจะมีผู้อื่นรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แม้ยังครองผ้าเหลืองอยู่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นพระภิกษุแล้ว แต่เป็นฆราวาสที่เอาผ้าเหลืองมาห่อไว้เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทปาราชิกเข้าแล้วจึงต้องลาสิกขาออกไป และจะไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุอีก

    การล่วงละเมิดหรือทำผิดสิกขาบทแต่ละข้อเรียกว่า "อาบัติ" หรือ "ต้องอาบัติ" ผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบทปาราชิกก็จะเรียกว่า "ต้องอาบัติปาราชิก" จะเห็นว่าสิกขาบทปาราชิกนั้นมีชื่อสิกขาบทกับชื่ออาบัติเหมือนกัน แต่บางสิกขาบท เช่น หมวดเสขิยวัตรนั้นชื่อสิกขาบทกับชื่ออาบัติไม่เหมือนกัน กล่าวคือ หมวดเสขิยวัตรมีชื่ออาบัติว่า "ทุกกฎ"

  2)สังฆาทิเสส แปลว่า สิกขาบทที่ต้องอาศัยสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ หมายความว่าเป็นสิกขาบทที่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดเข้าแล้วจะต้องอาศัยสงฆ์ช่วยจัดการแก้ไขให้สังฆาทิเสนั้นมีโทษหนักรองลงมาจากปาราชิก ผู้ล่วงละเมิดไม่ถึงกับขาดจากความเป็นภิกษุ ยังสามารถแก้ไขได้ส่วนผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกไม่สามารถแก้ไขได้

   ภิกษุใดต้องอาบัติสังฆาทิเสจะแก้ไขด้วยการอยู่ปริวาส กล่าวคือ จะให้อยู่ในสถานที่ที่แยกไว้สำหรับผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสโดยเฉพาะไม่อยู่ปะปนกับภิกษุทั่วไป เพื่อให้ผู้ต้องอาบัติได้สำนึกผิดและสำรวมระวังต่อไป เมื่ออยู่ปริวาสจนครบกำหนดเวลาและผ่านขั้นตอนของการอยู่ปริวาส ทุกอย่างแล้วก็สามารถกลับมาอยู่รวมกับภิกษุทั่วไปได้

   ในปัจจุบันพระภิกษุจำนวนมากนิยมอยู่ปริวาสแม้ไม่ได้อาบัติสังฆาทิเสส หรือบางรูปเพียงแค่สงสัยก็ขออยู่ปริวาสแล้วทั้งนี้เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์แห่งศีลของตน นอกจากนี้จะได้มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมมาก ๆ ด้วย เพราะในระหว่างอยู่ปริวาสพระภิกษุรูปอื่นจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปรบกวน

     สำหรับผู้ต้องอาบัติอื่น ๆ นอกเหนือจากปาราชิกและสังฆาทิเสสนั้น จะแก้ไขได้ด้วยการ "ปลงอาบัติ" ซึ่งหมายถึง การเปิดเผยอาบัติของตนต่อภิกษุอื่นหรือต่อสงฆ์

    3) อนิยต แปลว่า ไม่แน่นอน หมายถึงสิกขาบทที่ไม่แน่นอนว่าภิกษุผู้ถูกกล่าวหาจะถูกปรับว่าได้ทำผิดสิกขาบทข้อไหนในระหว่าง "ปาราชิกสังฆาทิเสสและ ปาจิตตีย์" หากเป็นทางโลกอนิยตเปรียบเหมือนกับคดีที่มีทางตัดสินลงโทษได้หลายระดับขึ้นอยู่กับพยานบุคคลผู้เห็นเหตุการณ์ที่เชื่อถือได้

     4) นิสัคคิยปาจิตตีย์ คำว่า "นิสัคคิยะ" แปลว่า "ทำให้ ละสิ่งของ"ส่วนคำว่า "ปาจิตตีย์" แปลว่า "การล่วงละเมิดอันทำให้กุศลธรรมคือความดีตกไป" นิสัคคิยปาจิตตีย์ จึงหมายถึงสิกขาบทที่ภิกษุใดล่วงละเมิดเข้าแล้วจะต้อง ละสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับสิกขาบทข้อนั้น ๆ เช่น ไตรจีวร เป็นต้น เมื่อ ละแล้วจึงสามารถแก้ไขได้ด้วยการปลงอาบัติได้

    5) ปาจิตตีย์ เป็นสิกขาบทที่ไม่มีเงื่อนไขให้ต้อง ละสิ่งของ เมื่อล่วงละเมิดแล้วสามารถแก้ไขด้วยการปลงอาบัติได้เลย

     6) ปาฏิเทสนียะ แปลว่า จะพึงแสดงคืน เป็นสิกขาบทที่ภิกษุรูปใดต้องอาบัติแล้วจะแก้ไขด้วยการแสดงคืนว่า "ท่านทั้งหลาย กระผมต้องธรรมคือ ปาฏิเทสนียะ เป็นธรรมที่น่าตำหนิ ไม่เป็นสัปปายะ กระผมขอแสดงคืนธรรมนั้น" การแสดงคืนนี้เป็นการปลงอาบัติอย่างหนึ่ง

      7) เสขิยวัตร แปลว่า วัตรที่พระภิกษุพึงศึกษา ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทอันดีงามต่างๆ ได้แก่ นุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย การฉันให้เรียบร้อย การแสดงธรรม และเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ภิกษุที่กระทำผิดพลาดเมื่อตั้งใจว่าจะศึกษาปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ถือว่าพ้นจากอาบัตินั้น

    8) อธิกรณสมถะ แปลว่า ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์ เป็นวิธีการระงับอธิกรณ์หรือคดีความที่เกิดขึ้นให้สงบเรียบร้อย


ตัวอย่างสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์
     สิกขาบทในพระปาฏิโมกข์มีทั้งหมด 8 หมวด 227สิกขาบท ในที่นี้จะยกตัวอย่าง เฉพาะหมวดปาราชิกและหมวดสังฆาทิเสสเท่านั้น เพื่อให้นักศึกษาได้ทราบพอสังเขปว่าสิกขาบทแต่ละข้อของพระภิกษุนั้นมีเนื้อหาเป็นอย่างไร

ปาราชิก มี 4 สิกขาบทดังนี้

1) ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ต้องอาบัติปาราชิก
2) ภิกษุใดลักขโมยทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 5 มาสก ขึ้นไป ต้องอาบัติปาราชิก
3) ภิกษุใดจงใจฆ่ามนุษย์ตายหรือพรรณนาคุณแห่งความตายจนผู้อื่นคล้อยตามแล้วฆ่าตัวตาย ต้องอาบัติปาราชิก
4) ภิกษุใดกล่าวอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนหากผู้ฟังเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิกยกเว้นภิกษุนั้นสำคัญผิดว่าตนมีคุณวิเศษ

สังฆาทิเสมี 13 สิกขาบทดังนี้

1) ภิกษุใดจงใจทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
2) ภิกษุใดมีจิตกำหนัดแล้วจับต้องร่างกายสตรี ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
3) ภิกษุใดมีจิตกำหนัดแล้วพูดกับสตรีพาดพิงเมถุนธรรม ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
4) ภิกษุใดมีจิตกำหนัดแล้วพูดกับสตรีให้บำเรอตนด้วยกาม ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
5) ภิกษุใดชัก สื่อให้ชายและหญิงเป็นสามีภรรยากันหรือเพื่ออยู่ร่วมกันชั่วคราว ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
6) ภิกษุใดสร้างกุฏิส่วนตัว โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบการสร้างกุฏิ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
7) ภิกษุใดให้สร้างวิหารใหญ่เพื่อตัวเอง โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบการสร้างวิหาร ที่วางไว้ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส
8) ภิกษุใดใส่ความภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
9) ภิกษุใดอ้างเลศแล้วใส่ความภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูลต้องอาบัติสังฆาทิเสส
10) ภิกษุใดพยายามทำให้สงฆ์แตกกัน แม้ภิกษุทั้งหลายตักเตือนในที่ประชุมสงฆ์ถึง 3 ครั้งแล้วยังไม่เลิกพฤติกรรมนั้น ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
11) ภิกษุใดสนับสนุนภิกษุรูปที่พยายามทำให้สงฆ์แตกกัน แม้ภิกษุทั้งหลายตักเตือนในที่ประชุมสงฆ์ถึง 3 ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกพฤติกรรมนั้น ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
12) ภิกษุใดว่ายาก อนยาก แม้ภิกษุทั้งหลายตักเตือนในที่ประชุมสงฆ์ถึง 3 ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกพฤติกรรมนั้น ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
13) ภิกษุใดประจบคฤหัสถ์ แม้ภิกษุทั้งหลายเตือนในที่ประชุมสงฆ์ถึง 3 ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกพฤติกรรมนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

     จุดเด่นประการหนึ่งของพระวินัยคือ เน้นการควบคุมและตรวจสอบตนเอง กล่าวคือ พระภิกษุที่ไปทำผิดพระวินัยเข้าถือว่ามีความผิดต้องโทษนับตั้งแต่กระทำความผิด เช่น ไปเสพเมถุนเข้าก็จะอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ไม่ว่าจะมีผู้อื่นรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ในขณะที่กฎหมายทางโลกจะต้องโทษก็ต่อเมื่อผู้ทำผิดถูกจับได้และถูกพิจารณาลงโทษแล้ว


6. นิสัย 4 ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต
     วิถีชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางเป็นแบบแผนไว้นั้นใช้ต้นทุนน้อยแต่เกิดผลมาก นักบวชดำรงชีพอยู่ด้วยนิสัย 4 คือ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้และฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า มีเพียง 4 อย่างนี้เท่านั้นก็สามารถ สืบทอดพระพุทธศาสนาไปได้แล้ว

      นักบวชไม่ต้องทำมาหากินมีเพียงบาตรใบเดียวก็สามารถจาริกเผยแผ่พระศาสนาได้ทั่วหล้า ค่ำไหนนอนนั่นคืออยู่โคนไม้เป็นวัตร เครื่องนุ่งห่มก็เที่ยวหาเอาจากกองขยะที่เขาทิ้งแล้ว ขอเพียงมีผ้าช่วยปกปิดร่างกายและให้ความอบอุ่นได้ก็พอแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างคือ "ทรงถือเอาผ้าที่เขาคลุมร่างนางปุณณทาสีซึ่งทิ้งแล้วเป็นผ้าบังสุกุล ทรงสลัดสัตว์เล็ก ๆ คือหมู่หนอนต่าง ๆ ประมาณตุมพะหนึ่ง คือ 4 ทะนาน" ทรงนำผ้านั้นมาทำจีวรนุ่งห่มพระวรกาย

    พระอนุรุทธะผู้ออกบวชจากตระกูลกษัตริย์ เป็นสุขุมาลชาติ สมบูรณ์พร้อมทุกอย่างไม่เคยได้ยินแม้คำว่า "ไม่มี" ท่านก็ยังไม่รังเกียจในการ "หาผ้าบังสุกุลมาใช้ ครั้นได้มาแล้วก็มาซักย้อมเอาเองแล้วนุ่งห่ม" ยามเจ็บป่วยก็ฉันยาธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวคือ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า แม้ไม่มีเงินทองก็มียาฉันซึ่งการแพทย์ปัจจุบันก็ยืนยันว่าน้ำมูตรเน่าหรือน้ำปัสสาวะสามารถรักษาโรคได้หลายชนิด

     จะเห็นว่า การเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนานั้นใช้ทุนน้อยแต่สามารถสืบอายุพระศาสนาไปได้จนตลอดชีวิต หมู่สงฆ์จึงเปรียบเสมือนต้นกระบองเพชรคือ ในภาวะที่แห้งแล้งที่สุดก็ยังอยู่ได้แม้ต้นไม้อื่น ๆ จะล้มตายหมดแล้ว

     มีข้อสังเกตว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกหลายรูปสละสมบัติอันมากเพื่อออกบวช เมื่อบวชแล้วก็ยอมลำบากด้วยปัจจัย 4 แม้ทางบ้านจะมีอันจะกินก็ไม่ยอมนำทรัพย์ในอดีตมาใช้เพราะผิดวิสัยของบรรพชิต แต่อาศัยการเลี้ยงชีพด้วยศรัทธาสาธุชน การเลี้ยงชีพด้วยศรัทธานี้เป็นประเพณีสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนนาน เพราะศรัทธาเป็นอริยทรัพย์เป็นทรัพย์ที่ไม่หมดไปเพราะการใช้ มีแต่ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มและประเสริฐกว่าสมบัติจักรพรรดิมาก เพราะสมบัติจักรพรรดิแม้ตักไม่พร่องก็จริง แต่จะคงอยู่เฉพาะในยุคที่เจ้าของทรัพย์ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น หากยุคต่อไปไม่มีคนที่มีบุญมากพอที่จะรองรับได้สมบัติจักรพรรดิก็จะหายไป

      แต่ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นแก่มหาชนแล้วสามารถปลูกฝังสืบต่อไปสู่ลูกหลานได้ไม่มีที่สิ้นสุด จะเป็นใครก็ได้ขอเพียงเขาไม่ถึงกับเป็นมิจฉาทิฏฐิก็สามารถปลูกศรัทธาได้ทั้งนั้น และศรัทธานี้แหละที่จะหล่อเลี้ยงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ได้ยาวนาน แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายจะปรินิพพานไปแล้วก็ตาม

      นอกจากนี้ นิสัย 4 นี้ยังเป็นเครื่องคัดคนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ผู้ใดที่ปฏิบัติตามหลักนี้ไม่ได้ เช่น ติดในลาภสักการะไม่มักน้อยสันโดษก็จะอยู่ในหมู่คณะไม่ได้ จะต้องมีเหตุให้ต้องออกจากหมู่คณะไปในที่สุดด้วยเหตุนี้นักบวชในพระพุทธศาสนาโดยมากจึงมีเฉพาะผู้ที่มีเป้าหมายเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง นักบวชเหล่านี้จะช่วยกันรักษาและสืบทอดแบบแผนหรือวันธรรมที่ดีเอาไว้ได้

      จุดประสงค์หลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัตินิสัย 4 ขึ้น เพื่อให้ภิกษุมีความมักน้อยสันโดษในปัจจัย 4 ในยุคต้นพุทธกาลภิกษุได้ดำรงชีวิตด้วยนิสัย 4 นี้เรื่อยมา ภายหลังอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาได้กราบขออนุญาตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอถวายคหบดีจีวรบ้าง นิมนต์พระสงฆ์ไปฉันที่บ้านบ้างสร้างวัด สร้างวิหารให้ภิกษุอยู่บ้าง ถวายยารักษาโรคบ้าง หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นผู้กราบขออนุญาตพระพุทธองค์ เพื่อถวายคหบดีจีวร เพื่อไม่ให้พระภิกษุมีความกังวลเรื่องการแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาทำจีวร ราชคหเศรษฐีเป็นผู้ขอสร้างวิหารถวายพระสงฆ์เป็นคนแรก นางวิสาขาเป็นผู้ขออนุญาตถวายภัตต่าง ๆ มีอาคันตุกภัตเป็นต้น

     แต่ทั้งนี้พระพุทธองค์ก็ยังสรรเสริญการยินดีปัจจัยตามมีตามได้ ดังพุทธานุญาตคหบดีจีวรว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวรแต่เรา รรเสริญการยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้"


7. อานิสงส์การออกบวชเป็นบรรพชิต
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์การออกบวชเป็นบรรพชิตไว้ในสามัญญผลสูตรซึ่งว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ หรืออานิสงส์ที่ได้จากการบวชนั่นเองสามัญญผลนั้นจะอธิบายอย่างละเอียดใน "วิชา 304 ชีวิตสมณะ" ในที่นี้จะกล่าวโดยย่อซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับคือสามัญญผลเบื้องต้นสามัญญผลเบื้องกลาง และสามัญญผลเบื้องสูง

1)สามัญญผลเบื้องต้น
      (1) เป็นการยกสถานภาพของผู้บวชให้สูงขึ้นจากฐานะเดิม กล่าวคือ แม้จะเคยเป็นเพียงทาส หรือกรรมกร แต่เมื่อออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ก็จะได้รับการเคารพกราบไหว้จากคนทุกระดับในสังคมแม้แต่กษัตริย์ก็ยังต้องให้ความเคารพกราบไหว้

     (2) ได้รับความเคารพ ยกย่อง บูชา กราบไหว้ และบำรุงด้วยปัจจัย 4 กล่าวคือ แม้จะเคยเป็นชาวนาต้องทำงานเสียภาษีให้รัฐ แต่เมื่อออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐอีกต่อไปแต่จะได้รับการบำรุงด้วยปัจจัย 4 จากหมู่ชนรวมทั้งผู้ปกครองบ้านเมืองด้วย

2)สามัญญผลเบื้องกลาง
      เป็นอานิสงส์หรือผลดีที่ภิกษุได้รับจากการเจริญสมาธิภาวนา กล่าวคือ เมื่อภิกษุรักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์และหมั่นเจริญสมาธิภาวนาก็จะบรรลุฌานไปตามลำดับ ๆ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน จะได้รับความสุขที่เลอเลิศกว่าสุขใดในทางโลกมากนัก

3)สามัญญผลเบื้องสูง
     สามัญญผลเบื้องสูงเป็นผลขั้นสูงสุดของการบวชในพระพุทธศาสนาคือการได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว และได้บรรลุวิชชา 8 อันเป็นคุณวิเศษต่าง ๆ ได้แก่ วิปัสสนาญาณคือญาณที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา, มโนมยิทธิคือมีฤทธิ์ทางใจ, อิทธิวิธีคือแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้, ทิพพโสตคือมีหูทิพย์, ทิพพจักขุคือมีตาทิพย์, เจโตปริยญาณคือกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้, ปุพเพนิวาสานุสติญาณคือระลึกชาติได้ และ อาสวักยญาณ คือกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001360281308492 Mins