องค์ประกอบของดวงธรรม
วัตถุต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นกายมนุษย์นั้น ทางศาสนาเรียกว่า " ธาตุ " และสามารถแยกธาตุออกได้เป็น 6 ธาตุด้วยกัน ได้แก่
ธาตุดิน หมายถึงธาตุส่วนที่เป็นของแข็งในกายมนุษย์
ธาตุน้ำ หมายถึงธาตุส่วนที่เป็นของเหลวในกายมนุษย์
ธาตุไฟ หมายถึงธาตุส่วนที่เป็นความร้อนให้ความอบอุ่นร่างกาย
ธาตุลม หมายถึงธาตุส่วนที่ละเอียด พัดผ่านไปมาในร่างกาย
ธาตุอากาศ หมายถึงธาตุส่วนละเอียดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งบรรจุอยู่ในที่ว่างของธาตุชนิดอื่นได้
ธาตุวิญญาณ หมายถึง ใจซึ่งเป็นธาตุรู้
ธาตุทั้ง 6 นี้เป็นธาตุส่วนหยาบ เมื่อประกอบได้ส่วน กับดวงธรรม ก็เกิดเป็นกายมนุษย์ขึ้น ธาตุส่วนหยาบนี้จะสะอาดหรือไม่สะอาดเพียงใด ขึ้นอยู่กับธาตุส่วนละเอียดอีกทีนึง
ธาตุส่วนธาตุละเอียดนั้น ตั้งอยู่กลางดวงธรรม
สมมุติว่าเราหยิบดวงธรรมขึ้นมาดวงใดดวงหนึ่ง ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว (ขนาดเท่าลูกฟุตบอล) ที่ตรงกลางดวงธรรมจะมี ดวงอากาศธาตุ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว (ขนาดเท่าลูกเทนนิส) ซ้อนอยู่ และข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา ของดวงอากาศธาตุภายในดวงธรรมนั้น ก็มีดวงธาตุขนาดเท่าเท่ากันอีก 4 ดวงอยู่ด้วย คือ ข้างหน้าเป็นดวงธาตุน้ำ ข้างหลังเป็น ดวงธาตุไฟ ข้างซ้ายเป็นดวงธาตุลม ข้างขวาเป็นดวงธาตุดิน และแต่ละดวงก็มี " สายธาตุสีขาวไหลเชื่อมโยงไปยังดวงอากาศธาตุ ทำให้ทุกๆ ธาตุสามารถใช้ติดต่อกันได้ " ตรงกลางดวงอากาศธาตุมีดวงธาตุวิญญาณขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว (ขนาดลูกปิงปอง)ซ้อนอยู่ ดวงธาตุทั้ง 6 นี้เป็นดวงใสสะอาดคล้ายดวงแก้ว และรอบ ๆ ดวงธาตุมีรัศมีสว่างเปล่งออกมาโดยรอบเรียกว่า ธรรมดังนั้นทั้ง ธาตุ และธรรม ในส่วนที่ละเอียดแล้ว จึงต่างเป็นดวงใสสะอาด ด้วยกัน นอกจากนี้ยังช่วยกันควบคุม ธาตุ-ธรรม ส่วนหยาบอีกด้วย
เนื่องจากดวงธาตุซึ่งซ้อนกันอยู่ในกลางดวงธรรมทุกๆ ดวงจะละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
ทำให้ ดวงศีล ใส-ละเอียด กว่าดวงมนุษย์ ทำให้ ดวงสมาธิใส-ละเอียด กว่าดวงศีล ทำให้ ดวงปัญญาใส-ละเอียด กว่าดวงสมาธิ ทำให้ดวงวิมุตติ ใส-ละเอียด กว่าดวงปัญญา ทำให้ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ใส-ละเอียด กว่าดวงวิมุตติ
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงควรให้หยุดให้นิ่งเข้าไปใน ดวงธรรมที่อยู่ชั้นในที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งร่างกายและจิตใจจะได้ใสละเอียดประณีตเร็วยิ่งขึ้น
อภิธรรมศึกษา 2 เล่ม 1
กายในกายวิทยาและรูปปรมัตถ์