รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก "การกำเนิดรัฐ"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"การกำเนิดรัฐ"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ , การกำเนิดรัฐ

     จากเนื้อหาของอัคคัญญสูตร ได้กล่าวถึง การเกิดขึ้นของมนุษย์ยุคแรก ความเป็นอยู่ในสังคมของมนุษย์ การเกิดขึ้นของสถาบันครอบครัว ความเป็นมาของอาชีพและประเภทของคนในสังคม คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และสมณะ ที่สำคัญได้กล่าวถึงความคิดทางการเมือง และสถาบันทางการเมืองด้วย

       พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบระเบียบแบบแผนความเป็นอยู่ต่างๆ มีการวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำอกุศลกรรมของมนุษย์ อันเป็นเหตุให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมและคนในสังคมได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากในยุคแรกที่มนุษย์จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาอาศัยบนโลก มนุษย์อาศัยอยู่กันอย่างสงบสุข แต่ละคนรู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร ไม่มีการทำอกุศลธรรมใดๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีการวางกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นบังคับผู้คนในสังคมแต่อย่างใด คล้ายๆกับความเป็นอยู่ของพระอริยสงฆ์ในช่วงปฐมโพธิกาลซึ่งไม่มีการบัญญัติพระวินัยเพื่อให้พระภิกษุปฏิบัติตาม เพราะพระอริยเจ้าแต่ละท่านรู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควรสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว ไม่มีการทำผิดศีลธรรมใดๆ จึงยังไม่จำเป็นต้องบัญญัติพระ
วินัย

    มนุษย์ยุคแรกอาศัยรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม ทำมาหากินร่วมกันคือ อาหารเป็นของกลางซึ่งมีอยู่เหลือเฟอในธรรมชาติ เป็นประดุจสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง แต่เพราะกิเลส คือความเกียจคร้านและความโลภ เป็นเหตุให้มนุษย์ทำการสะ มอาหารคือข้าวสาลี ต่างคนต่างเก็บมาสะสมจนเกินความจำเป็น จึงทำให้ข้าวสาลีงอกขึ้นไม่ทัน บางแห่งก็ไม่งอกอีกเลย มนุษย์ยุคนั้นจึงประชุมกันและตกลงปักปันเขตแดนกันขึ้น ทำให้เกิดทรัพย์สินส่วนตัวขึ้นมาเป็นครั้งแรก

       แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีปัญหาตามมาเมื่อมีมนุษย์บางจำพวกไม่ทำตามกติกาหรือกฎระเบียบที่ตกลงกันไว้ คือ งวนส่วนของตนไว้แล้วไปลักขโมยข้าวสาลีในเขตแดนของผู้อื่นเพราะความโลภ เมื่อมีการทำบ่อยครั้งเข้าจึงทำให้คนในสังคมเดือดร้อน จนถึงขนาดมีการทุบตีกันเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรึกษากันว่าควรมีใครสักคนหนึ่ง ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม คอยว่ากล่าวตักเตือน มีอำนาจลงโทษผู้ที่ทำอกุศลกรรมเหล่านี้ และผู้นั้นจะได้รับส่วนแบ่งข้าวสาลีจากทุกๆ ครอบครัวในสังคม โดยไม่ต้องเก็บเกี่ยวข้าวสาลีเอง ซึ่งเปรียบเสมือนการเสียภาษีให้รัฐบาลในปัจจุบัน เมื่อตกลงกันอย่างนี้แล้ว พวกมนุษย์จึงพากันไปหาบุคคลที่มีความประพฤติดี มีความสามารถและมีบุคลิกน่าเชื่อถือ น่าเกรงขามกว่าคนอื่นๆ สมมติให้ผู้นั้นเป็นหัวหน้า

      ด้วยเหตุนี้ อักขระว่า มหาชนสมมติจึงอุบัติขึ้น เพราะผู้นั้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ในเขตแดนแห่งข้าวสาลีทั้งหลาย และอักขระว่า กษัตริย์ ก็อุบัติขึ้น เพราะเหตุที่ผู้นั้นยังชนเหล่าอื่นให้มีความสุขใจ "โดยธรรม" และอักขระว่า ราชา ก็อุบัติขึ้นตามมาเช่นกัน ซึ่งกษัตริย์ หรือ ราชา ที่เกิดจากการที่มหาชนสมมติขึ้นนี้ ก็คล้ายๆ กับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ต่างกันเพียงแต่ว่าผู้ที่ได้รับเลือกนั้นปัจจุบันเรียกว่า นายกรัฐมนตรีบ้างประธานาธิบดีบ้างส่วนกษัตริย์ในยุคปัจจุบันโดยส่วนใหญ่สืบราชสมบัติโดยสายโลหิต และไม่ได้มีหน้าที่บริหารประเทศแล้ว

      จากเรื่องราวในอัคคัญญสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่า มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ "การกำเนิดของรัฐ" อยู่ เพราะคำว่า "รัฐ" หมายถึง "กลุ่มคนหรือชุมชนซึ่งอาศัยอยู่รวมกันอย่างเป็นระเบียบในดินแดนหรืออาณาเขตแน่นอน มีรัฐบาลและอำนาจอธิปไตยของตนเองสามารถบริหารกิจการทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกรัฐโดยอิสระ พ้นจากการควบคุมของรัฐภายนอก" โดยรัฐบาลที่ปรากฏในอัคคัญญสูตรนั้น หมายเอา "กษัตริย์" ซึ่งยุคต่อมาได้พัฒนาจนกลายเป็นสถาบันมีอำนาจในการปกครองประชาชนในดินแดนของตนให้สงบเรียบร้อย

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001611336072286 Mins