รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก "หลักธรรมสำคัญในการปกครอง"

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"หลักธรรมสำคัญในการปกครอง"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก , รัฐศาสตร์ , ทศพิธราชธรรม , ศีล

     หลักธรรมในการปกครองนั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ หลักธรรมในการปกครองตน และ หลักธรรมในการปกครองคน หลักธรรมในการปกครองนั้น อาจจะเรียกว่า "หลักศีลธรรม" ก็ได้เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วหลักธรรมในการปกครองนั้นมี "ศีล" รวมอยู่ด้วยแทบทั้งสิ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงมักเรียกกันว่าหลักศีลธรรม

      หลักธรรมในการปกครองตน หมายถึง หลักธรรมที่ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติเพื่อปกครองดูแลตนเองให้ตั้งอยู่ในธรรมอันดีงาม เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีและยังความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของตน หากเป็นการปกครองโดยกษัตริย์จะใช้หลัก "ทศพิธราชธรรม" หรือ "กุศลกรรมบถ 10" หากเป็นการปกครองโดยพระเจ้าจักรพรรดิ ก็จะใช้หลัก "จักรวรรดิวัตร" สำหรับจักรวรรดิวัตรนี้จะมีธรรมในการปกครองคนรวมอยู่ในหมวดเดียวกันด้วยแต่ถ้าเป็นการปกครองโดยคณะบุคคล เช่น แคว้นวัชชี ก็จะใช้หลัก "อปริหานิยธรรม" เพื่อให้ผู้ปกครองเหล่านั้นนำไปปกครองตน และเพื่อหลอมรวมคณะผู้ปกครองทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

     หลักธรรมในการปกครองคน หมายถึง หลักธรรมที่ผู้ปกครองจะต้องนำไปใช้ในการปกครองคน คือผู้อยู่ภายใต้การปกครองของตน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เจริญรุ่งเรือง และสมัครสมานสามัคคี ซึ่งจะใช้หลักธรรมดังต่อไปนี้ คือสังคหวัตถุ 4, อคติ 4, กุศลกรรมบถ 10และ ศีล 5 เป็นต้น หลักธรรมเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการปกครองได้ทั้งระบอบกษัตริย์ และระบอบที่ปกครองโดยคณะบุคคล


1. หลักธรรมในการปกครองตน
  ลำดับขั้นของการปกครองในพระพุทธศาสนานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปกครองตนก่อน เมื่อปกครองตนเองได้แล้วจึงค่อยปกครองคนอื่น ปกครองหมู่คณะ หรือ ปกครองประเทศชาติ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก่อนที่พระองค์จะทรงปกครองพุทธบริษัท พระองค์ก็ปกครองพระองค์เองด้วยธรรมก่อน

   การปกครองตนโดยธรรมของพระพุทธองค์นั้นเริ่มจากเมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์ปกครองตนด้วยการประพฤติดีทางกาย วาจาและใจ งดเว้นจากความชั่วทั้งปวง จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงปกครองพระองค์เองได้แล้ว จึงทรงปกครองพุทธบริษัทต่อไป โดยทรง อนหลักธรรมให้พุทธบริษัทนำไปใช้ปกครองตน เมื่อผู้ใดปฏิบัติตามหลักธรรมจนถึงที่สุดแล้วก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งถือเป็นการเสร็จสิ้นภาระในการปกครองตน จากนั้นพระพุทธองค์ก็จะให้ภิกษุหรือภิกษุณีที่ปกครองตนได้แล้วรับหน้าที่ช่วย
ปกครองหมู่คณะต่อไป

   สำหรับหลักธรรมที่สำคัญในการปกครองตนของพระราชามหากษัตริย์ทั้งหลายมี 4 หมวด คือ ทศพิธราชธรรม, กุศลกรรมบถ 10, จักรวรรดิวัตร และอปริหานิยธรรม มีรายละเอียดดังนี้

1. ทศพิธราชธรรม
     ทศพิธราชธรรม หมายถึง ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์ 10 ประการ เป็นธรรมที่มีมาแต่เดิมก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ตรัสถึงธรรมนี้ในชาดกต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนยุคพุทธกาล เช่น เวสันดรชาดก สุมังคลชาดก กุมมา ปิณฑชาดก มหาหัง ชาดก ฯลฯ ทศพิธราชธรรมมีดังนี้

(1) ทาน หมายถึง เจตนาให้วัตถุ 10 เช่น ข้าว, น้ำ เป็นต้น
(2) ศีล หมายถึง ศีล 5
(3) การบริจาค หมายถึง การบริจาคไทยธรรม
(4) ความซื่อตรง หมายถึง ความเป็นคนตรง
(5) ความอ่อนโยน หมายถึง ความเป็นคนอ่อนโยน
(6) ความเพียร หมายถึง กรรมคือการรักษาอุโบ ถ
(7) ความไม่โกรธ หมายถึง ความมีเมตตาเป็นเบื้องต้น
(8) ความไม่เบียดเบียน หมายถึง ความมีกรุณาเป็นเบื้องต้น
(9) ความอดทน หมายถึง ความอดกลั้น
(10) ความไม่คลาดจากธรรม หมายถึง ความไม่ขัดเคือง


2. กุศลกรรมบถ 10
     กุศลกรรมบถ แปลว่า ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล หรือ ทางแห่งกรรมดี กุศลกรรมบถนั้นเป็นธรรมที่มีมาก่อนยุคพุทธกาล ผู้ปกครองในอดีต ใช้เป็นหลักในการปกครองตน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในจริยาปิฎก เรื่องเอกราชจริยาว่า ในกาลเมื่อเราเป็นพระราชาพระนามว่าเอกราช เราอธิษฐานศีลอันบริสุทธิ์ยิ่งปกครองแผ่นดินใหญ่ มาทานกุศลกรรมบถ 10 ประการครบถ้วน งเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ 4 ประการ กุศลกรรมบถ 10 นั้นประกอบด้วย

(1) เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
(2) เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้
(3) เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
(4) เว้นขาดจากการพูดเท็จ
(5) เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
(6) เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
(7) เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
(8) ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา
(9) มีจิตไม่พยาบาท
(10) มีสัมมาทิฏฐิคือมีความเห็นชอบ


3. จักรวรรดิวัตร
    จักรวรรดิวัตร หมายถึง ธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นธรรมที่มีมาแต่เดิมก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นกัน ซึ่งมี 5 ประการ โดยข้อที่ 1 และ ข้อที่ 5 เป็นธรรมสำหรับปกครองตนของพระเจ้าจักรพรรดิส่วนข้อ 2, 3 และ 4 เป็นธรรมสำหรับปกครองคน

     (1) พระเจ้าจักรพรรดิทรงอาศัยธรรมสักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรมนอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ ธรรมในที่นี้ คือ กุศลกรรมบถ 10 ประการ

    (2) พระเจ้าจักรพรรดิทรงจัดการรักษาป้องกัน และคุ้มครองชนภายใน คือ พระมเหสี, พระราชโอร และพระราชธิดา, เหล่าทหาร, พวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ, พราหมณ์และคหบดีชาวนิคมและชาวชนบท, มณพราหมณ์,สัตว์จำพวกเนื้อและนก โดยธรรม

     (3) พระเจ้าจักรพรรดิป้องกันการกระทำที่เป็นอธรรม เช่น การทำอกุศลกรรม

     (4) พระเจ้าจักรพรรดิบริจาคทรัพย์แก่คนที่ไม่มีทรัพย์

   (5) พระเจ้าจักรพรรดิทรงคบบัณฑิตคือ เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ตามกาลอันควรแล้วไต่ถามถึง "สิ่งที่เป็นกุศล และ อกุศลสิ่งที่มีโทษ และ ไม่มีโทษสิ่งที่ควรเกี่ยวข้อง และ ไม่ควรเกี่ยวข้องสิ่งที่ทำแล้วเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือสิ่งใดที่ทำแล้วเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน" เมื่อ อบถามแล้วก็น้อมนำมาปฏิบัติคือสิ่งใดเป็นอกุศลทรงละเว้นสิ่งนั้นสิ่งใดเป็นกุศล ทรงยึดถือประพฤติสิ่งนั้น

   วัตรในข้อที่สองนั้น พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิจะต้องยังชนภายในคือ พระมเหสี พระราชโอรส และ พระราชธิดาให้ตั้งอยู่ในศีล ให้วัตถุ เช่น ผ้า ดอกไม้และของหอม ฯลฯ แก่ชนเหล่านั้น และป้องกันภัยทั้งปวงให้แก่เขา

    สำหรับเหล่าทหาร กษัตริย์ผู้ตามเสด็จ พร้อมทั้งพราหมณ์และคหบดี เป็นต้น พระเจ้าจักรพรรดิก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้เหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างบางประการดังนี้ เหล่าทหารควรสงเคราะห์ ด้วยการเพิ่มบำเหน็จรางวัลให้ ไม่ให้ล่วงเลยกาลเวลา กษัตริย์ผู้ได้รับการอภิเษก ควรสงเคราะห์ด้วยการให้รัตนะ เช่น ม้าอาชาไนยอัน ง่างาม เป็นต้น กษัตริย์ประเทศราช ควรมอบยานพาหนะที่ มควรแก่ความเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ทั้งหลายควรมอบไทยธรรม เช่น ข้าว น้ำ และ ผ้า เป็นต้น

    พวกคหบดีและราษฎรทั่วไป ควรสงเคราะห์ด้วยการให้พันธุ์ข้าว, ไถ, ผาล และ โคงานเป็นต้นสำหรับสมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ควรสักการะด้วยการถวายบริขารส่วนหมู่เนื้อและนก ควรให้โปร่งใจด้วยการให้อภัย กล่าวคือ แบ่งเขตให้อภัยทานด้วยการห้ามฆ่าสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ


4. อปริหานิยธรรม
     อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม 7 ประการ จะทำให้เกิดความเจริญฝ่ายเดียว เป็นหลักที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือสำหรับคฤหัสถ์ และสำหรับบรรพชิต ทั้ง 2 ประเภทนี้ มีความใกล้เคียงกันมาก ต่างกันเพียงบางข้อตามภาวะของเพศคฤหัสถ์และบรรพชิต ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะธรรมสำหรับคฤหัสถ์เท่านั้น

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอปริหานิยธรรมสำหรับคฤหัสถ์แก่เจ้าลิจฉวี ผู้ปกครองแคว้นวัชชี ณสารันททเจดีย์ ใกล้กรุงเวสาลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าวัชชีทั้งหลายที่เป็นคณะผู้ปกครอง นำไปเป็นหลักปกครองตน ตนในที่นี้คือคณะผู้ปกครองทั้งคณะ ซึ่งต้องปฏิบัติดังนี้

     (1) ประชุมกันเนืองๆ เพื่อให้ได้รับข้อมูลทั่วถึงกัน

     (2) พร้อมเพียงกันประชุม พร้อมเพียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

  (3) ไม่บัญญัติข้อที่ไม่เคยบัญญัติไว้ ไม่เพิกถอนข้อที่บัญญัติไว้แล้ว มาทานวัชชีธรรมแบบโบราณ ตามที่บัญญัติไว้แล้ว ประพฤติกันอยู่

    (4)สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าและเชื่อถือถ้อยคำที่ควรฟังของผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเหล่านั้น เพราะเมื่อมีความเคารพ ผู้เฒ่าก็จะเมตตาแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้

    (5) ไม่ฉุด คร่า ข่มเหง กักขังสกุล ตรีทั้งหลาย และ กุมารีของสกุลทั้งหลาย เพราะจะทำให้ประชาชนโกรธแค้นและต่อต้านผู้ปกครอง

   (6) สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ ทั้งภายในและภายนอกพระนครและไม่ลดเครื่องสักการะที่เคยถวายแล้วแก่เจดีย์เหล่านั้น เพื่อให้เทวดาที่รักษาเจดีย์พึงพอใจและช่วยคุ้มครองรักษาบ้านเมือง

    (7) จัดอารักขา ป้องกัน และคุ้มครอง พระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่าทำอย่างไรพระอรหันต์ที่ยังไม่มาพึงมาสู่แคว้น ทำอย่างไรพระอรหันต์ที่มาแล้วขอให้อยู่สบาย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้แก่ชาววัชชีทั้งหลาย

     วัชชีธรรมโบราณ หมายถึง ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมด้านการปกครองของแคว้นวัชชี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ดี ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้รักษาวัชชีธรรมโบราณนี้ไว้อย่างเดิม ไม่ให้บัญญัติข้อที่ไม่เคยบัญญัติไว้ ไม่เพิกถอนข้อที่บัญญัติไว้แล้ว เช่น ไม่ตั้งภาษีอากร หรือไม่กำหนดอาชญา คือบทลงโทษที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือ เมื่อราชบุรุษจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจรมาแสดงแก่เจ้าลิจฉวีๆ ก็ไม่สั่งลงโทษเสียเองโดยไม่ผ่านการสอบสวนตามกระบวนการสวบสวนคดีความดั้งเดิม

     การสอบสวนคดีความตามวัชชีธรรมโบราณนั้น มีการแบ่งเป็นฝ่ายๆ อย่างชัดเจน ไม่มีการก้าวก่ายงานกัน งานของฝ่ายใดมีหน้าที่แค่ไหนก็ทำแค่นั้น เมื่อหมดหน้าที่แล้วก็ส่งงานให้ฝ่ายอื่นทำต่อไปดังนี้

   เมื่อมีเจ้าหน้าที่นำผู้ต้องสงสัยว่าเป็น "โจร" มาแสดงแก่เจ้าวัชชีๆ ก็จะไม่ตัดสินคดีเองแต่จะมอบให้มหาอำมาตย์ฝ่ายสอบสวนเป็นผู้สอบสวน เมื่อฝ่ายอำมาตย์เหล่านั้นสอบสวนแล้วทราบว่าไม่ใช่โจรก็ปล่อยไป แต่ถ้าเป็นโจรก็ไม่พูดอะไรๆ ด้วยตนเอง แล้วมอบให้มหาอำมาตย์ฝ่ายผู้พิพากษา เมื่อมหาอำมาตย์ผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้ว ถ้าไม่ใช่โจรก็ปล่อยตัวไป ถ้าเป็นโจรก็มอบให้แก่มหาอำมาตย์ฝ่ายที่ชื่อว่า ลูกขุน

    เมื่อลูกขุนเหล่านั้นวินิจฉัยแล้ว หากไม่ใช่โจรก็ปล่อยตัวไป หากเป็นโจร ก็มอบให้มหาอำมาตย์ 8 ตระกูล มหาอำมาตย์ 8 ตระกูลนั้น ก็กระทำอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วมอบให้เสนาบดีเสนาบดีก็มอบให้แก่อุปราช อุปราชก็มอบถวายแด่พระราชา พระราชาวินิจฉัยแล้วหากทราบว่าไม่ใช่โจรก็ปล่อยตัวไป หากว่าเป็นโจร ก็จะโปรดให้เจ้าหน้าที่อ่านคัมภีร์ กฎหมายประเพณี

    ในคัมภีร์กฎหมายประเพณีนั้นเขียนไว้ว่า ผู้ใดทำความผิดชื่อนี้ ผู้นั้นจะต้องมีโทษชื่อนี้พระราชาก็ทรงนำการกระทำของผู้นั้น มาเทียบกับตัวบทกฎหมายนั้นแล้ว ทรงลงโทษตามสมควรแก่ความผิดนั้น ดังนั้น เมื่อพวกเจ้ายึดถือวัชชีธรรมโบราณอย่างนี้ ผู้คนทั้งหลายย่อมไม่ติเตียน โทษจะไม่เกิดขึ้นแก่เจ้าวัชชีทั้งหลาย มีแต่ความเจริญอย่างเดียวเท่านั้น

     อปริหานิยธรรมนั้น ไม่จำกัดไว้สำหรับใช้ในการปกครองแบบคณะบุคคลเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปกครองโดยระบอบกษัตริย์ได้ด้วย เพราะกษัตริย์เองแม้จะมีอำนาจในการปกครองแบบเบ็ดเสร็จ แต่ก็ต้องหมั่นประชุมเหล่าอำมาตย์ราชบริพารเช่นกัน ทุกคนต้องพร้อมเพรียงกันทำกิจต่างๆ เช่นกัน บ้านเมืองจึงจะเจริญรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันทศพิธราชธรรม ฯลฯ นั้น เจ้าวัชชีทั้งหลายก็ควรนำไปปฏิบัติด้วย เพื่อส่งเสริมให้คุณธรรมของคณะผู้ปกครองประเทศงดงามยิ่งขึ้น

 

2. หลักธรรมในการปกครอง
     หลักธรรมในการปกครองคนมี 2 ประเภทโดยประเภทที่ 1 คือ หลักในการยึดเหนี่ยวน้ำใจคนสร้างความสมัครสมานสามัคคีกัน ป้องกันการแตกความสามัคคี ได้แก่สังคหวัตถุ 4และ อคติ 4 เป็นต้น และประเภทที่ 2 คือกฎระเบียบสำหรับให้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองปฏิบัติตาม ได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 และ ศีล 5 เป็นต้น

1.สังคหวัตถุ 4
     สังคหวัตถุ แปลว่า หลักการสงเคราะห์กัน เป็นคุณเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ผู้ปกครองต้องมีเพื่อใช้ในการยึดเหนี่ยวน้ำใจประชาชน

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ในกาลเมื่อเราเป็นพระราชาพระนามว่าเอกราช เราอธิษฐานศีลอันบริสุทธิ์ยิ่ง ปกครองแผ่นดินใหญ่ มาทานกุศลกรรมบถ 10 ประการอย่างเคร่งครัดสงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ 4 ประการ ได้แก่ ทานคือการให้ ปิยวาจาคือเจรจาถ้อยคำน่ารัก อัตถจริยาคือประพฤติประโยชน์ และ มานัตตตาคือความมีตนเสมอในธรรมและในบุคคล

     (1) ทาน แปลว่า การให้สำหรับผู้ปกครองแล้วการให้นั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก เมื่อผู้ปกครองหมั่นให้ทานแก่พสกนิกรอยู่เสมอ ก็จะเป็นที่รักของปวงชน เมื่อเป็นที่รักแล้วก็จะง่ายต่อการปกครอง

      (2) ปิยวาจา แปลว่า เจรจาถ้อยคำน่ารัก ไพเราะเสนาะโสต เป็นที่ดึงดูดใจ เหนี่ยวรั้งใจเป็นที่สมัครสมานในกันและกัน ไม่เป็นที่กระทบกระเทือนในกันและกัน ผู้ฟังฟังแล้วอยากจะฟังอีกอยู่ร่ำไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ปกครอง เพราะจะสามารถโน้มน้าวจิตใจให้ประชาชนสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันได้

  (3) อัตถจริยา แปลว่า ประพฤติประโยชน์สำหรับผู้ปกครองหมายถึงการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนพลเมือง ไม่เอาแต่ความสุขส่วนตนผู้เดียว ให้ความสุขแก่ราษฎรโดยทั่วหน้ากัน

    (4) สมานัตตตา แปลว่า ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมนั้นๆ ในบุคคลนั้นๆ กล่าวคือเมื่อเราเข้าไปในหมู่ไหน พวกไหน ก็เป็นหมู่นั้นพวกนั้นไปหมด ไม่แตกแยกจากกัน นี้คือความเป็นผู้มีตนเสมอเขา พอเหมาะพอดีกับเขา เข้าใกล้ใครคนนั้นก็บอกว่าเป็นพวกเขาสำหรับ ผู้ปกครอง หมายถึง การไม่วางตนสูงส่งเกินไปจนประชาชนเข้าไม่ถึง แต่ให้วางตนเหมือนเป็นพ่อปกครองลูก ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกอบอุ่น เหมือนได้อยู่ในครอบครัวที่มีพ่อใจดีมีเมตตาคอยดูแลสุขทุกข์ของลูกๆ เป็นอย่างดี

2. อคติ 4
      อคติ หมายถึง ความลำเอียง เป็นหลักสำคัญที่ผู้ปกครองทุกคนจะต้อง "ละเว้น" ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดก็ตาม เพราะหากไม่ละเว้นความลำเอียงแล้ว จะเกิดการแตกความสามัคคีกันอย่างรุนแรง จนผู้ปกครองไม่อาจจะควบคุมได้ เนื่องจากผู้ที่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจะไม่เชื่อฟัง อคตินั้นมี 4 ประการดังนี้

(1) ฉันทาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะรัก หรือ เพราะชอบพอกัน

(2) โทสาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะโกรธ หรือ เพราะเกลียดชัง

(3) โมหาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะหลง หรือ เพราะความไม่รู้

(4) ภยาคติ แปลว่า ลำเอียงเพราะกลัว ได้แก่ กลัวอิทธิพล ฯลฯ

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดละเมิดความชอบธรรม เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม ดุจดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้นส่วนบุคคลใด ไม่ละเมิดความชอบธรรมเพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ยศของบุคคลนั้นย่อมบริบูรณ์ ดุจดวงจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตัวอย่างของผู้ปกครองที่ประกอบด้วยอคติ 4 แล้วเป็นเหตุให้ยศเสื่อมไว้หลายเรื่อง ในที่นี้จะยกตัวอย่างเรื่อง "จันทกุมารชาดก" ดังมีใจความดังนี้

   ในอดีตกาล กรุงพาราณสีนี้มีชื่อว่า เมืองปุปผวดี พระเจ้าเอกราชทรงครองราชสมบัติในเมืองนั้น พระราชโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่า พระจันทกุมารได้ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชพราหมณ์ชื่อว่ากัณฑหาละ ได้เป็นปุโรหิตและดำรงตำแหน่งตัดสินคดีความ กัณฑหาลพราหมณ์นั้น เป็นคนมีใจฝักใฝ่ในสินบน เมื่อรับสินบนแล้วจึงตัดสินคดีไม่ตั้งอยู่บนธรรม ทำคนผิดให้ถูก ทำคนถูกให้ผิด

      วันหนึ่ง มีบุรุษผู้แพ้คดีโดยไม่เป็นธรรมได้เข้าไปหาพระจันทกุมาร แล้วทูลเรื่องดังกล่าวให้ทรงทราบ พระจันทกุมารจึงพาบุรุษนั้นไปสู่โรงวินิจฉัยคดีความ แล้วทรงตัดสินคดีด้วยพระองค์เองอีกครั้ง ทรงทำให้บุรุษผู้แพ้คดีโดยไม่เป็นธรรมนั้นชนะคดี มหาชนจึงพากันแซ่ซ้องสาธุการด้วยเสียงอันดัง ต่อมาพระราชาจึงมอบหมายให้พระจันทกุมารตัดสินคดีความทั้งปวง ผลประโยชน์จากสินบนของกัณฑหาลพราหมณ์จึงขาดไป เขาจึงผูกอาฆาตและเพ่งโทษในพระจันทกุมารตั้งแต่นั้นมา

      วันหนึ่ง พระราชาทรงสุบินเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันน่ารื่นรมย์ มีหมู่นางอัปสรเป็นอันมากฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี เมื่อตื่นบรรทมแล้ว ทรงใคร่จะเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น พระองค์จึงเรียกกัณฑหาลปุโรหิตมาตรัสถามว่า ท่านจงบอกทางสวรรค์แก่เรา เหมือนนรชนทำบุญแล้วไปสู่สุคติภพเถิด

      กัณฑหาลพราหมณ์คิดว่า บัดนี้ เป็นเวลาที่จะได้เห็นหลังศัตรูของเรา เราจักกระทำพระจันทกุมารให้สิ้นชีวิต จึงกราบทูลพระราชาว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้ มมติเทพ คนทั้งหลายให้ทานอันล่วงล้ำทาน ฆ่าแล้วซึ่งบุคคลอันไม่พึงฆ่า ชื่อว่าทำบุญแล้วย่อมไปสู่สุคติ"

    ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ยัญพึงบูชาด้วยพระราชบุตร ด้วยมเหสี ด้วยชาวนิคม ด้วยโคอุสภราช ด้วยม้าอาชาไนยอย่างละ 4 ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ยัญพึงบูชาด้วยหมวด 4 แห่ง สัตว์ทั้งปวงนี้

  พระราชาผู้โง่เขลาเพราะประกอบด้วยโมหาคติ คือความไม่รู้ และถูกความปรารถนาที่จะไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ครอบงำ จึงรับสั่งให้นำพระราชบุตร และพระมเหสีทั้งหลาย เป็นต้น มาทำพิธีบูชายัญ แม้ว่าพระจันทกุมารและหมู่อำมาตย์ราชบริพาร จะกราบทูลทัดทานอย่างไรก็ไม่อาจจะเปลี่ยนพระทัยพระราชาได้

    ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดไปทั่วเมืองปุปผวดี ชาวเมืองทราบความเป็นมาเป็นไปของเรื่องดีว่ากัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในพระจันทกุมาร จึงคิดจะฆ่าพระราชกุมารด้วยวิธีการนี้ ด้วยเหตุที่พระจันทกุมารเป็นที่รักของมหาชน ชาวเมืองปุปผวดีจึงช่วยกันฆ่ากัณฑหาลพราหมณ์เสีย จากนั้นก็คิดจะฆ่าพระราชาด้วย แต่พระจันทกุมารได้สวมกอดพระราชบิดาไว้

     แล้วมหาชนกล่าวว่า เราจะให้ชีวิตแก่พระราชาชั่วนั้น แต่พวกเราจะไม่ยอมให้ฉัตรแก่พระราชานั่น แล้วก็ช่วยกันนำเครื่องทรงสำหรับพระราชาออกส่งไปสู่ที่เป็นที่อยู่ของคนจัณฑาลและได้อภิเษกพระจันทกุมารให้เป็นพระราชาแทน เมื่อพระจันทกุมารเป็นพระราชาแล้ว ก็ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรมปราศจากอคติ ยศของพระองค์จึงเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดพระชนมายุจากชาดกเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า เกียรติยศของผู้ปกครองที่ไม่มีอคตินั้น จะรุ่งเรื่องยิ่งๆ ขึ้นไป และสามารถปกครองประชาชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

3. กุศลกรรมบถ 10
    กุศลกรรมบถ 10 นอกจากจะใช้เป็นหลักในการปกครองตนของพระราชาและพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว ยังใช้เป็นหลักในการปกครองคนด้วย กล่าวคือ เป็นกฎระเบียบให้ประชาชนในยุคนั้นๆ ปฏิบัติตาม เช่น ใน มัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในกูฏทันตสูตร และในราชสูตรก็มีบันทึกไว้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิบางพระองค์ก็ใช้กุศลกรรมบถ 10 เป็นหลักในการปกครองคนเช่นกัน

4. ศีล 5
      ศีล แปลว่า ปกติ หมายถึง ความเป็นปกติของมนุษย์ 5 ประการ เช่น ปกติมนุษย์จะไม่ฆ่าสัตว์ เป็นต้น ศีล 5 ก็เป็นธรรมที่มีมาก่อนยุคพุทธกาลเช่นกัน โดยเฉพาะในยุคที่มีพระเจ้าจักรพรรดิมาบังเกิดขึ้น พระองค์จะใช้ศีล 5 เป็นธรรมสำหรับให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติ เช่น ในจักกวัตติสูตรที่ กล่าวไว้แล้วในบทที่ 5 เป็นต้น

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016671657562256 Mins