ขั้นตอนการบัญญัติสิกขาบท

วันที่ 11 พค. พ.ศ.2560

นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"ขั้นตอนการบัญญัติสิกขาบท"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ขั้นตอนการบัญญัติสิกขาบท , สิกขาบท

      ขั้นตอนการบัญญัติสิกขาบทนั้นมีอยู่ 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ

1) มีเหตุเกิดขึ้น
2) พระภิกษุกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3) ประชุมสงฆ์
4) บัญญัติสิกขาบท

    ในขั้นตอนการประชุมสงฆ์นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงสอบถามภิกษุที่ก่อเหตุนั้นๆ ขึ้นว่าทำจริงหรือไม่ เมื่อเขายอมรับว่าทำจริง พระองค์ก็จะทรงติเตียน ตรัสถึงโทษของความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ คลุกคลี และโทษของความเกียจคร้าน แล้วตรัสถึงคุณของความเป็นคนเลี้ยงง่าย เป็นต้น จากนั้นพระองค์จึงตรัสวัตถุประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบทแล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบท


ตัวอย่างการบัญญัติสิกขาบท
      ตัวอย่างต่อไปนี้ คือ การบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ 1

     ต้นบัญญัติหรือผู้ก่อเหตุให้ต้องบัญญัติพระวินัยครั้งแรกคือ พระสุทินน์ เนื่องจากท่านได้เสพเมถุนกับภรรยาเก่าของท่าน เพราะถูกมารดาและบิดารบเร้าให้ท่านลาสิกขาออกไป เพื่อสืบสกุลและดูแลมรดกเป็นอันมาก แต่พระสุทินน์ไม่ปรารถนาจะลาสิกขา มารดาของท่านจึงกล่าวว่า พ่อสุทินน์ ถ้าอย่างนั้นพ่อจงให้พืชพันธุ์ไว้บ้าง พวกเจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบทรัพย์สมบัติของเราซึ่งหาบุตรผู้สืบสกุลไม่ได้

    พระสุทินน์กล่าวว่า คุณโยม เฉพาะเรื่องนี้อาตมาอาจทำได้ เพราะท่านเห็นว่าไม่มีโทษ เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท เมื่อท่านพระสุทินน์ตอบรับแล้วจึงจูงแขนภรรยาเก่าพาเข้าป่ามหาวันแล้วทำการเสพเมถุน เหล่าเทพทั้งหลายมีภุมเทวา เป็นต้น ผู้ได้เห็นเหตุการณ์นั้นจึงกระจายข่าวต่อๆ กันไปจนถึงพรหมโลกว่า ท่านผู้เจริญ โอ ภิกษุสงฆ์ ไม่มีเสนียดไม่มีโทษ พระสุทินน์กลันทบุตรก่อเสนียดขึ้นแล้ว ก่อโทษขึ้นแล้ว

    ต่อมาพระสุทินน์เกิดความร้อนใจขึ้นว่า เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ เพราะเราบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความร้อนใจนั้นท่านจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น

   ภิกษุที่เป็นสหายของพระสุทินน์เห็นอาการของท่านแล้วจึงสอบถามสาเหตุ เมื่อทราบแล้วจึงติเตียนว่า อาวุโสธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัดไม่ใช่เพื่อความกำหนัด เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อความดับทุกข์เพื่อนิพพานมิใช่หรือ อาวุโสการละกาม การกำจัดความกระหายในกาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกไว้แล้วมิใช่หรือ อาวุโสการกระทำของท่านนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสและเป็นไปเพื่อความเสื่อมจากความเลื่อมใสของชนที่เลื่อมใสแล้ว

     ภิกษุสหายเหล่านั้นได้ติเตียนท่านพระสุทินน์อย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถามพระสุทินน์ว่า "ดูก่อนสุทินน์ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรมในภรรยาเก่าจริงหรือ"

     ท่านพระสุทินน์ทูลรับว่า "จริง พระพุทธเจ้าข้า"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนว่า "ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิตเล่า"

   ดูก่อนโมฆบุรุษ องค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในปากงูเห่า ยังดีกว่าองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชนยังดีกว่า องค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคาม ไม่ดีเลย เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากงูเห่านั้น พึงมีความทุกข์เพียงแค่ตาย แต่ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าในองค์กำเนิดของมาตุคามนั้น ตายไปแล้ว จะพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

     ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอได้ต้องอสัทธรรมอันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นต่ำ อันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป เธอเป็นคนแรกที่กระทำอกุศลธรรม เป็นหัวหน้าของคนเป็นอันมาก การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส่วนคนที่เลื่อมใสแล้วก็จะเสื่อมจากความเลื่อมใส


วัตถุประสงค์ของการบัญญัติสิกขาบท
    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียนพระสุทินน์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสถึงโทษของความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ คลุกคลี และโทษของความเกียจคร้าน แล้วตรัสถึงคุณของความเป็นคนเลี้ยงง่าย เป็นต้น พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยมีวัตถุประสงค์ 10 ประการ คือ

(1) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ หมายถึง การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้คณะสงฆ์มองเห็นโทษแห่งความประพฤตินั้นๆ ให้เห็นความจำเป็นและยอมรับสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้น
(2) เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
(3) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
(4) เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
(5) เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดในปัจจุบัน
(6) เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต
(7) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
(8) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
(9) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
(10) เพื่อถือตามพระวินัย

      จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสพระปฐมบัญญัติว่า "ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ "

     พระปฐมบัญญัตินี้เป็น "มูลบัญญัติ" คือ การบัญญัติครั้งแรกของสิกขาบทข้อนี้ ซึ่งต่อมาจะมี "อนุบัญญัติ" คือ การบัญญัติเพิ่มเติมในรายละเอียดปลีกย่อยของสิกขาบทข้อนี้เพื่อให้รอบคอบรัดกุมมากขึ้นดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

     จะเห็นว่าวัตถุประสงค์ทั้ง 10 ประการนี้ โดยภาพรวมแล้วก็เพื่อให้พระภิกษุทุกรูปอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จะได้ศึกษาธรรมอันเป็นเป้าหมายของการบวชได้อย่างเต็มที่ และช่วยเกื้อหนุนให้เข้าถึงธรรมได้อย่างรวดเร็ว

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012782816092173 Mins