อธิกรณสมถะ  ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก
"อธิกรณสมถะ  ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์"

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , นิติศาสตร์ในพระไตรปิฎก , อธิกรณ์ในพระไตรปิฎก , อธิกรณ์ , อธิกรณสมถะ  ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอธิกรณสมถะไว้ในพระปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นหลักให้ภิกษุใช้สำหรับการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนาดังนี้

       1.) สัมมุขาวินัย คือ การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้า หมายถึง พร้อมหน้าสงฆ์,พร้อมหน้าบุคคล คือ คู่กรณี, พร้อมหน้าวัตถุ คือ ยกเรื่องที่เกิดนั้นขึ้นมาวินิจฉัย และพร้อมหน้าธรรม คือ วินิจฉัยถูกต้องตามธรรมวินัย

          2.) สติวินัย คือ การระงับอธิกรณ์โดยถือว่าเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ ใช้ในกรณีที่จำเลยเป็นพระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้มีสติสมบูรณ์

           3.) อมูฬหวินัย คือ การระงับอธิกรณ์โดยยกประโยชน์ให้ว่าต้องอาบัติในขณะเป็นบ้า

           4.) ปฏิญญาตกรณะ คือ การระงับอธิกรณ์ตามคำรับสารภาพของจำเลย

           5.) ตัสสปาปิยสิกา คือ การระงับอธิกรณ์โดยการลงโทษแก่ผู้ทำผิด

          6.) เยภุยยสิกา คือ การระงับอธิกรณ์ตามเสียงข้างมาก โดยเสียงข้างมากในที่นี้จะต้องเป็นเสียงข้างมากของภิกษุธรรมวาทีเท่านั้น ธรรมวาที คือ ผู้มีปกติกล่าวธรรม หรือ ผู้พูดถูกต้องตรงตามหลักธรรม

        7.) ติณวัตถารกวินัย คือ การระงับอธิกรณ์โดยการประนีประนอม ใช้ในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรง หากระงับอธิกรณ์โดยตัดสินให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดอาจทำให้สงฆ์แตกแยกได้ แต่ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหนักและอาบัติเนื่องด้วยคฤหัสถ์


ตัวอย่างการระงับอธิกรณ์ด้วยอธิกรณสมถะ
        การระงับอธิกรณ์ด้วยอธิกรณสมถะมีกรณีศึกษาจำนวนมากในที่นี้จะยกมาเพียง 1 ตัวอย่าง คือ การระงับวิวาทาธิกรณ์คือการวิวาทกันเรื่องพระธรรมวินัยดังนี้

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าวิวาทาธิกรณ์ระงับด้วยสมถะ 2 คือสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา ในบางกรณีอาศัยสัมมุขาวินัยเพียงอย่างเดียวก็สามารถระงับอธิกรณ์ได้ แต่บางกรณีต้องใช้ทั้งสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา จึงสามารถระงับอธิกรณ์ได้


1.) การระงับอธิกรณ์ด้วยสัมมุขาวินัย
      เมื่อภิกษุวิวาทกันเรื่อง "พระธรรมวินัย" ก็ให้ระงับด้วยสัมมุขาวินัยก่อน คือ การระงับในที่พร้อมหน้า 4 อย่างคือพร้อมหน้าสงฆ์, ธรรม, บุคคล และวัตถุ โดยลำดับแรกให้ภิกษุที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประชุมกัน เมื่อประชุมกันแล้ว พึงพิจารณาธรรมเนติ เมื่อพิจารณาแล้วพึงให้อธิกรณ์นั้นระงับโดยอาการที่เรื่องในธรรมเนตินั้นลงกันได้

     ธรรมเนติ มาจากคำว่า "ธรรม  เนติ" คำว่า "เนติ" เป็นคำเดียวกับ "นิติ" ในคำว่านิติศาสตร์ เนติ หมายถึง แบบแผน ขนบธรรมเนียม กฎหมาย เครื่องแนะนำ อุบายอันดี การพิจารณาธรรมเนติ ในที่นี้หมายถึง การพิจารณาหัวข้อพระธรรมวินัยที่ภิกษุวิวาทกัน คล้ายๆ กับการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา ทนายความ หรือนักกฎหมายในทางโลก

     ประโยคที่ว่า "เมื่อพิจารณาแล้วพึงให้อธิกรณ์นั้นระงับ โดยอาการที่เรื่องในธรรมเนตินั้นลงกันได้" หมายถึง การที่คณะสงฆ์ประชุมกันระงับอธิกรณ์ด้วยการตัดสินว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด โดยยึดความถูกต้องตามพระธรรมวินัยและให้ฝ่ายที่ผิดยินยอมด้วยดี

      หากอธิกรณ์ระงับอย่างนี้ได้แล้ว ผู้ทำรื้อฟื้นอธิกรณ์ขึ้นอีกจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์

1.1) กรณีระงับอธิกรณ์ในอาวา ที่อาศัยอยู่ไม่ได้
     ถ้าไม่สามารถระงับอธิกรณ์นั้นในอาวาสที่อาศัยอยู่ได้ ก็ให้พากันไปสู่วัดอื่นหรือสำนักสงฆ์อื่นที่มีจำนวนภิกษุมากกว่า เมื่อไปถึงแล้วก็ให้กล่าวกับภิกษุเจ้าถิ่นว่า อธิกรณ์นี้เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ขอโอกาสท่านทั้งหลายจงระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรมวินัย

     ส่วนภิกษุเจ้าถิ่นนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักไว้ว่า หากมีคณะสงฆ์จากวัดอื่นมาขอให้ช่วยระงับอธิกรณ์ ภิกษุเจ้าถิ่นจะต้องมีความรอบคอบโดยปฏิบัติดังนี้

        (1) ให้ปรึกษากับสมาชิกในวัดก่อน ถ้าปรึกษากันแล้วคิดว่า พวกเราไม่สามารถระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรมวินัยได้ ภิกษุเจ้าถิ่นก็ไม่พึงรับอธิกรณ์นั้นไว้

         (2) ถ้าปรึกษากันแล้วคิดว่าสามารถระงับอธิกรณ์นี้ได้โดยธรรมวินัย ก็ให้กล่าวกับพวกภิกษุอาคันตุกะนั้นว่า ถ้าพวกท่านจักแจ้งอธิกรณ์นี้ตามที่เกิดแล้วจริงๆ แก่พวกเรา พวกเราจักรับอธิกรณ์นี้ แต่ถ้าพวกท่านไม่แจ้งแก่เราตามความเป็นจริง พวกเราก็จักไม่รับอธิกรณ์นี้

     สำหรับภิกษุอาคันตุกะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักไว้ว่า เมื่อไปขอให้พระวัดอื่นช่วยระงับอธิกรณ์นั้น จะต้องมีความรอบคอบเช่นกันโดยปฏิบัติดังนี้

         (1) ให้กล่าวกับพวกภิกษุเจ้าถิ่นว่า พวกผมจักแจ้งอธิกรณ์นี้ ตามที่เกิดแล้วจริงๆ แก่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านสามารถระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรมวินัย ระหว่างเวลาเท่านี้ได้ อธิกรณ์จักระงับด้วยดี พวกผมจักมอบอธิกรณ์แก่ท่านทั้งหลาย

         (2) หากท่านทั้งหลาย ไม่สามารถระงับอธิกรณ์นี้โดยธรรมวินัย ระหว่างเวลาเท่านี้ได้อธิกรณ์จักไม่ระงับด้วยดี พวกผมจักไม่มอบอธิกรณ์นี้แก่ท่านทั้งหลาย พวกผมนี้แหละจักเป็นเจ้าของอธิกรณ์นี้

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า พวกภิกษุอาคันตุกะพึงรอบคอบอย่างนี้ แล้วจึงมอบอธิกรณ์นั้นแก่พวกภิกษุเจ้าถิ่น ถ้าภิกษุเหล่านั้นสามารถระงับอธิกรณ์นั้นได้ก็เป็นการดี ในขั้นนี้ถือว่ายังระงับด้วยสัมมุขาวินัยอยู่ ผู้ทำการรื้อฟื้นและติเตียนอธิกรณ์ที่ระงับแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์เช่นเดียวกัน


1.2) วิธีระงับอธิกรณ์ที่มีเสียงเซ็งแซ่
     ถ้ายังระงับอธิกรณ์ไม่ได้ และในระหว่างวินิจฉัยอธิกรณ์นั้นอยู่มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้น จนจับใจความคำพูดต่างๆ ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ใช้ "อุพพาหิกวิธี" เข้าช่วยระงับอธิกรณ์นั้น โดยเบื้องต้นให้สงฆ์ มมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ 10 ประการขึ้นก่อน

       อุพพาหิกวิธี แปลว่า การเลือกแยกออกไป คล้ายๆ กับการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเพื่อช่วยวินิจฉัยคดีความ

       องค์คุณ 10 ของผู้ควรได้รับสมมติ

(1) เป็นผู้มีศีลสำรวมระวังในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย ตั้งใจศึกษาและรักษาสิกขาบททุกข้อเป็นอย่างดี

(2) เป็นพหูสูต กล่าวคือ เป็นผู้ฟังพระธรรมคำสอนมามาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก และแทงตลอดในพระธรรมคำสอนเหล่านั้น

(3) จำปาฏิโมกข์ได้ดีโดยพิสดาร จำแนกดีสวดดี วินิจฉัยถูกต้อง

(4) เป็นผู้ตั้งมั่นในพระวินัย ไม่คลอนแคลน

(5) เป็นผู้อาจชี้แจงให้คู่ต่อสู้ในอธิกรณ์ยินยอม เข้าใจ เพ่งเห็น เลื่อมใส

(6) เป็นผู้ฉลาดเพื่อยังอธิกรณ์อันเกิดขึ้นให้ระงับ

(7) รู้อธิกรณ์

(8) รู้เหตุเกิดอธิกรณ์

(9) รู้ความระงับแห่งอธิกรณ์

(10)รู้ทางระงับอธิกรณ์


วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจา
     เมื่อหาภิกษุผู้มีองค์คุณ 10 ประการนี้ได้แล้ว ก็ให้สงฆ์สมมติภิกษุรูปนี้ขึ้นเป็นตัวแทนในการระงับอธิกรณ์ โดยให้ภิกษุผู้ฉลาดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า

     "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้นและไม่ทราบเนื้อความแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้น ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้วสงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี นี้เป็นญัตติ"

     "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์นี้อยู่ มีเสียงเซ็งแซ่เกิดขึ้น และไม่ทราบเนื้อความแห่งถ้อยคำที่กล่าวแล้วนั้นสงฆ์ มมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี การ มมติภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงทักท้วง"

      "ภิกษุมีชื่อนี้ด้วย มีชื่อนี้ด้วย อันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ ด้วยอุพพาหิกวิธีชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้ฯ"

     ถ้าภิกษุเหล่านั้นสามารถระงับอธิกรณ์นั้นด้วยอุพพาหิกวิธีนี้ อธิกรณ์นั้นก็ถือว่าระงับแล้ว แต่ยังถือว่าระงับด้วยสัมมุขาวินัยอยู่ ผู้ทำการรื้อฟนอธิกรณ์ที่ระงับแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์เช่นเดียวกัน


1.3) การแก้ปัญหาเมื่อมีผู้คัดค้านการวินิจฉัย
     ถ้ายังระงับอธิกรณ์ไม่ได้และขณะวินิจฉัยอธิกรณ์อยู่ มีภิกษุธรรมกถึกกล่าวค้านการวินิจฉัยนั้น คัดค้านโดยที่ตนเองจำเนื้อหาพระธรรมวินัยในส่วนที่คัดค้านนั้นไม่ได้ หรือจำได้บ้างไม่ได้บ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ภิกษุผู้ฉลาดพึงประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่า

    "ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้เป็นธรรมกถึก เธอจำเนื้อหาพระธรรมวินัยในส่วนที่คัดค้านนั้นไม่ได้เลย หรือจำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ได้คัดค้าน ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว พวกเราพึงขับภิกษุชื่อนี้ให้ออกไปแล้วที่เหลือพึงระงับอธิกรณ์นี้"

    ถ้าภิกษุเหล่านั้นขับภิกษุเหล่านั้นออกไปแล้วสามารถระงับอธิกรณ์นั้น อธิกรณ์นั้นก็ถือว่าระงับแล้ว แต่ยังถือว่าระงับด้วยสัมมุขาวินัยอยู่ ผู้ทำการรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ระงับแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์เช่นเดียวกัน


2.) การระงับอธิกรณ์ด้วยสัมมุขาวินัยและเยภุยยสิกา
     ถ้าภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถระงับอธิกรณ์นั้นด้วยอุพพาหิกวิธี ก็พึงมอบอธิกรณ์นั้นแก่สงฆ์ว่า ท่านเจ้าข้า พวกข้าพเจ้าไม่สามารถระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ขอสงฆ์นั่นแหละจงระงับอธิกรณ์นี้

      เมื่อเป็นเช่นนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อนุญาตให้สงฆ์ระงับอธิกรณ์นี้ด้วย "เยภุยยสิกา" หรือด้วยเสียงข้างมาก ซึ่งจะใช้วิธีการจับฉลาก โดยลำดับแรกให้ มมติภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณ 5 ให้เป็นผู้ให้จับ ลาก คือ

(1) ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
(2) ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความเกลียดชัง
(3) ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความงมงาย
(4) ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความกลัว
(5) เป็นผู้รู้จักสลากที่จับแล้วและยังไม่จับ


วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจา
     เมื่อเลือกภิกษุผู้มีคุณสมบัติอย่างนี้แล้วก็ให้ภิกษุผู้ฉลาดประกาศให้สงฆ์ทราบว่าจะสมมติภิกษุรูปนี้ให้เป็นผู้จับฉลากด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาดังนี้

    "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้วสงฆ์พึงสมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับ ลาก นี้เป็นญัตติ"

     "ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้าสงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับสลาก การสมมติ ภิกษุมีชื่อนี้ ให้เป็นผู้ให้จับ ลาก ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงทักท้วง"

     "ภิกษุมีชื่อนี้อันสงฆ์สมมติแล้ว ให้เป็นผู้ให้จับสลาก ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้"

     ภิกษุผู้ให้จับสลากนั้น พึงให้ภิกษุทั้งหลายจับสลาก โดยการจับฉลากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักว่า "ภิกษุพวกธรรมวาทีมากกว่า ย่อมกล่าวฉันใด พึงระงับอธิกรณ์นั้น ฉันนั้น" หมายถึง แม้จะเป็นการตัดสินด้วยเสียงข้างมาก แต่ก็จะต้องยึดธรรมวินัยเป็นหลัก จะตัดสินจากคะแนนตามใจชอบไม่ได้

    การระงับอธิกรณ์ในลักษณะนี้ชื่อว่าระงับด้วยสัมมุขาวินัย และ เยภุยยสิกา เพราะช่วงแรกดำเนินการระงับด้วยสัมมุขาวินัย แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาจึงใช้วิธีเยภุยยสิกาคือการระงับโดยเสียงข้างมากเข้าช่วยจึงสำเร็จ ผู้ทำการรื้อฟื้นและติเตียนอธิกรณ์ที่ระงับแล้วต้องอาบัติปาจิตตีย์เช่นเดียวกัน

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016910672187805 Mins