ฆ่าด้วยรัก... พ่อแม่เข้าข้างลูกเมื่อทำผิด

วันที่ 22 พค. พ.ศ.2560

ฆ่าด้วยรัก... พ่อแม่เข้าข้างลูกเมื่อทำผิด

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , ฆ่าด้วยรัก... พ่อแม่เข้าข้างลูกเมื่อทำผิด

     "ความรักของพ่อแม่ ฆ่าลูกได้" คำกล่าวนี้ แม้จะขัดแย้งความรู้สึกของคนเป็นพ่อเป็นแม่อยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีลูกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องเสียคนเพราะการให้ท้ายลูกเมื่อทำผิดนี้เอง ด้วยเหตุนี้ ในฐานะของคนที่เป็นพ่อแม่ หรือคนที่คิดจะมีครอบครัวในอนาคต ก็มีสิ่งสำคัญที่จะต้องศึกษาให้มากก่อนว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเลี้ยงลูกได้ดีและทำอย่างไรตนเองจึงจะไม่พลาดไปรักลูกผิดวิธี จนกลายเป็นการฆ่าลูกด้วยรักไปได้


1. อย่าเข้าข้างลูกเมื่อทำผิด
    การที่พ่อแม่เข้าข้างลูกเมื่อทำผิด ต้องถือว่า เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงเพราะทำให้ลูกหลงผิดคิดไปว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาก็จะมุ่งทำแต่ความชั่วเรื่อยไป ทำให้ชาตินี้ทั้งชาติของเขามีแต่ความเดือดร้อนไม่มีวันจบสิ้น

    ผู้ที่เป็นพ่อแม่จึงต้องตระหนักถึงโทษของการเข้าข้างลูกเมื่อทำผิดให้มาก อย่ารักลูกด้วยการตามใจ ถ้าลูกทำผิดต้องทำโทษ ยอมให้ลูกเจ็บเสียแต่ตอนนี้ ดีกว่าให้ชีวิตของลูกเจ็บปวดเดือดร้อนไปตลอดชีวิต

   ดังนั้นการที่พ่อแม่ไม่เข้าข้างลูกเมื่อทำผิด ก็จะทำให้ลูกซาบซึ้งแก่ใจว่า ถ้าทำดีลูกจะได้รับผลดีตอบแทนเสมอ แต่ถ้าลูกทำชั่ว ลูกจะต้องได้รับผลชั่วนั้นอย่างไม่มีวันหลีกเลี่ยงได้


2. เข้าใจหลักการถ่ายทอดนิสัย
   การจะปลูกฝังคุณธรรมความดีให้ลูกนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของการถ่ายทอดนิสัยไปให้ลูกก่อนว่ามีอยู่ 2 ช่วง คือ

     ช่วงแรก คือ การถ่ายทอดลักษณะนิสัยใจคอทางกรรมพันธุ์

    การถ่ายทอดลักษณะนี้ต้องทำในช่วงตั้งแต่ลูกยังไม่มาเกิด โดยทั่วไปเมื่อปฏิสนธิวิญญาณจะมาเกิดในครรภ์ของผู้ใด เขาจะต้องมีกรรม คือบุญหรือบาป ใกล้เคียงกับผู้ที่จะเป็นพ่อเป็นแม่ในขณะนั้น

 ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่มีร่างกายแข็งแรง มีความประพฤติดี มีจิตใจดีงามแล้วก็มีโอกาสที่จะได้ปฏิสนธิวิญญาณที่ดีมาถือกำเนิดอยู่ในครรภ์ การอบรมลูก จึงควรเริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ คือคุณแม่ต้องอบรมความประพฤติของตนเองให้ดี พร้อมทั้งกาย วาจา ใจสิ่งที่ไม่ดีให้เลิกเสียให้หมด รักษาศีล 5 ให้ดี เป็นการเตรียมพร้อมให้ปฏิสนธิวิญญาณที่ดีมาเกิด

   นั่นคืออย่างช้าที่สุดจะต้องเริ่มอบรมตนเองให้ดีพร้อมในทันทีที่แต่งงาน และในทันทีที่รู้ตนเองว่าตั้งครรภ์ ก็ยิ่งต้องพยายามทะนุถนอมลูกในครรภ์ให้ยิ่งขึ้นไปอีก คือต้องมีความระมัดระวังตัวให้มาก ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การเคลื่อนไหวทุก ๆ อิริยาบถ อาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะพวกที่รสจัด พวกของหมักดอง ของเมา พวกยาต่าง ๆ หรือแม้แต่อารมณ์ที่ไม่ดี ก็ต้องระวังอย่าให้มากระทบกระทั่ง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่ออุปนิสัยใจคอของเด็กทั้งสิ้น

    ช่วงที่สอง คือ การถ่ายทอดนิสัยใจคอจากสิ่งแวดล้อมหรือการอบรม

   เมื่อลูกคลอดออกมาลืมตาดูโลก ต้องรีบอบรม อย่าคิดว่าเด็กทารกไม่รู้อะไร เพราะแม้แต่การให้นมเป็นเวลา ก็เป็นการเพาะนิสัยเด็กให้เป็นคนตรงต่อเวลา การเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่เด็กทำเปียก ก็เป็นการเพาะนิสัยรักความสะอาด แม้ที่สุดการพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ก็เป็นการเพาะนิสัยอ่อนโยน


3. อย่าปล่อยให้เด็กทำผิดจนเป็นนิสัย
    เมื่อแรกเกิด เด็กก็เป็นเสมือนผ้าขาวสะอาด เด็กจึงต้องการตัวอย่างหรือต้นแบบในการคิด การพูด และการกระทำ เมื่อสิ่งใดมาถึงก่อน เด็กจะรับสิ่งนั้นไว้เป็นแบบอย่าง ดังนั้นถ้าเด็กได้รับแต่สิ่งที่ดีก่อน เด็กก็จะมีโอกาสทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และมีฐานกำลังความดีไว้ต่อต้านความชั่วที่เข้ามาภายหลัง ทำให้เอาตัวรอดได้ง่าย

    เมื่อเด็กทำอะไรผิด ในระยะ 2-3 ครั้งแรก เด็กจะมีพิรุธให้เห็นได้ชัด ทำให้เราหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที ถ้าผู้ใหญ่ไม่รู้ หรือปล่อยปละละเลย เด็กก็จะเกิดความเคยชิน ทำผิดเป็นนิสัยโดยไม่มีพิรุธให้ผู้ใหญ่จับได้ ทำให้เสียนิสัยที่ดีงามไปในที่สุด


4. รักลูกให้ถูกวิธี
    การรักลูกให้ถูกวิธีไม่มีอะไรเกินการถ่ายทอดคุณธรรมดี ๆ ให้แก่ลูก เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นมายืนหยัดบนโลกนี้ได้อย่างสมภาคภูมิคุณธรรมที่ต้องอบรมให้มาก หรืออบรมตลอดเวลาเลย ไม่ว่าเด็กโตหรือเด็กเล็ก ก็คือ

     1. ปัญญา โดยฝึกให้เป็นคนมีเหตุผล รู้จักคิดพิจารณาเอง ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ถ้าทำได้สำเร็จ เด็กจะมีสติปัญญาเฉียบแหลม และไม่เห็นผิดเป็นชอบ

    2. ความมีวินัย โดยฝึกให้เด็กเป็นคนตรงต่อเวลา รักษาความสะอาด เป็นคนซื่อตรง มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ

      3. ความเมตตากรุณา โดยอาจฝึกให้เด็กรักสัตว์ รักต้นไม้ เป็นคนอ่อนโยนมีมนุษย์สัมพันธ์ดี รู้จักให้อภัย

    เมื่อเด็กได้รับการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เล็กแล้ว โตขึ้นก็จะสามารถรองรับคุณธรรมความดีอย่างอื่นที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้ได้อย่างเต็มที

   เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่คนใดอยากจะได้ลูกดีอย่างไร ก็ให้อบรมตนเองให้ดีอย่างนี้ก่อนที่จะมีลูก แล้วต้องอบรมตนเองให้เคร่งครัดยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในกรอบคุณธรรม 3 ประการ คือให้มีปัญญา ให้มีเมตตากรุณา และให้มีระเบียบวินัย ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วพ่อแม่ก็จะมีโอกาสได้ลูกดี ๆ มาเกิดสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกได้ และปิดหนทางที่จะฆ่าลูกด้วยรักให้หมดไป

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0059143821398417 Mins