เมื่อลูกไม่ถูกกัน พ่อแม่ควรทำอย่างไร

วันที่ 23 พค. พ.ศ.2560

เมื่อลูกไม่ถูกกัน พ่อแม่ควรทำอย่างไร


หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , เมื่อลูกไม่ถูกกัน พ่อแม่ควรทำอย่างไร

      มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจริง และอยากจะนำมาเล่าเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังไม่ได้ลงมือบ่มเพาะความสามัคคีให้แก่ลูก

         เหตุการณ์มีอยู่ว่า ครอบครัวหนึ่ง มีพ่อแม่และลูกอีก 3 คน พี่สาวคนโตกำลังกลุ้มใจคิดไม่ตก ใบหน้าของเธอเศร้า ร้อยหม่นหมองสาเหตุก็เพราะน้องสาว 2 คน ทะเลาะกันถึงขั้นตัดพี่ตัดน้อง ไม่ยอมพูดจากันมา 2 ปีแล้ว เธอต้องทนเห็นภาพความแตกแยกในครอบครัวด้วยความเจ็บปวดเช่นนี้ทุกวัน

         บางวันน้องสุดที่รักสองคน พอเจอหน้ากันก็ทำเฉยชาใส่กัน ราวกับว่าไม่มีอีกฝ่ายอยู่ในโลก แต่บางวัน ทั้งคู่กลับกระแทกกระทั้น เกรี้ยวกราดใส่กันอย่างไม่ไว้หน้า จนเหมือนกับว่าสองพี่น้องจะเป็นศัตรูกันไปตลอดชาติ

    พี่สาวเฝ้าถามตัวเองว่า จะสายเกินไปไหมที่จะหาวิธีทำให้น้องสาวสองคนคืนดีกันเพราะพ่อแม่ก็หมดหนทางแล้ว

           ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจนำเรื่องนี้ มากราบปรึกษากับหลวงพ่อรูปหนึ่งที่วัด

         เธอเล่าให้หลวงพ่อท่านฟังว่า "น้องสองคนของหนู ยังเรียนหนังสืออยู่เลยถ้าเรียนจบมีงานทำ หาเงินได้เอง คงยิ่งคืนดีกันได้ยาก หนูกลุ้มใจ เสียใจที่ต้องนั่งดูคนในบ้านร้าวฉานกันไปต่อหน้าต่อตาทุก ๆ วันค่ะ"

        หลวงพ่อท่านนั่งฟังเธอเล่าปัญหาจนจบอย่างเห็นใจ แล้วก็พูดขึ้นว่า "ความจริงพ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ทะเลาะรุนแรงมาจนถึงขั้นนี้ ถ้าไม่แก้ตอนนี้อีกหน่อยเรียนจบไปทำงาน หาเงินได้เอง ก็คงจะไม่มีใครยอมฟังใครเป็นแน่

          หลวงพ่อมีเรื่องส่วนตัวจะขอยกเป็นเหตุการณ์ให้เราได้ลองพิจารณาดูก็แล้วกันหลวงพ่อเป็นลูกคนเล็ก มีพี่สาว 2 คน บางครั้งสมัยเด็ก ๆ ก็มีบ้างที่ไปอาละวาดกับพี่เขาเหมือนกันแต่โยมพ่อแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะฉะนั้นก็เลยหมดฤทธิ์ โยมพ่อของหลวงพ่อ ท่านหาทางป้องกันลูกแตกความสามัคคีไว้อย่างนี้คือ


วิธีที่ 1 ปกครองลูกตามลำดับอาวุโส

        ทันทีที่รู้ว่าพี่กับน้องทะเลาะกัน บางทีก็ถึงกับลงไม้ลงมือกัน ท่านไม่พูดอะไรมากท่านเรียกประชุมทั้งหมด 3 พี่น้อง แล้วท่านก็ชี้หน้าลูกคนเล็ก บอกว่าให้ไปหักไม้เรียวมาอันเล็ก ๆ ท่านก็ไม่ยอม ต้องเอาอันใหญ่ ๆ ด้วย

            พอไปเอาไม้เรียวมาแล้ว ท่านก็ถามสั้น ๆ ว่า

            "ทะเลาะกับพี่เขาใช่ไหม"

            "ใช่ครับ"

            "ถ้าอย่างนั้นยืนกอดอก"

           แล้วท่านก็ส่งไม้เรียวให้พี่สาวตีเบิกความเสีย 1 ที ยังไม่รู้ใครผิดใครถูก ยังไม่ได้ซักถามสักคำ พ่อให้พี่ตีเบิกความไปก่อน ในฐานะที่ไม่เคารพกันตามอาวุโสตีไปแล้ว 1 ที

        พอพี่ตีเสร็จ ท่านค่อยมาซักว่ามันเรื่องอะไร ถ้าหลวงพ่อเป็นฝ่ายผิดท่านชี้หน้าให้ไปหักไม้เรียวมาอีก คราวนี้ท่านตีเองเลย ตีในฐานะที่เราทำความผิด

          บางครั้งท่านซักถามแล้วพบว่าพี่สาวเป็นฝ่ายผิด นึกว่าจะให้หลวงพ่อตีคืน แต่...เปล่าท่านก็ชี้ให้พี่สาวไปหักไม้เรียวมา ท่านจะตีในฐานะรังแกน้อง แล้วท่านก็ตีเอง

          ตกลงไม่ว่าจะใครผิด เราโดนตีเบิกความก่อนแน่ ๆ ในฐานะเป็นน้อง เลยไม่รู้จะไปมีเรื่องกับพี่เขาทำไม เลยเข็ดด้วยกันทั้งคู่ นี่เรื่องหนึ่งที่โยมพ่อใช้เป็นวิธีดัดนิสัยลูก ๆ ให้รักกัน


วิธีที่ 2 ฝึกให้รับผิดชอบงานบ้านร่วมกัน

        ที่บ้านของหลวงพ่อแต่เดิมทำไร่ ทำสวน ในวันเสาร์ วันอาทิตย์ ท่านจะใช้ให้พี่น้องไปช่วยกันทำงาน ท่านสั่งเลย "หญ้าบริเวณนี้ถากให้เตียน ดินแปลงนี้ขุดให้เรียบร้อย"

         ที่ท่านพูดว่า ไปทำให้เรียบร้อยนั่นมีความหมายว่า ถ้าไม่เสร็จ ไม่ต้องกลับมากินข้าวเย็น เพราะฉะนั้น พอสามพี่น้องคว้าจอบได้ก็ต้องรีบลงมือทำ แต่มีบางครั้งเหมือนกันตามประสาลูกชายคนเล็ก คือบางวันก็เบี้ยว ไม่ทำหรอกเพราะอะไร 

          เพราะตอนเช้าไปเที่ยวยิงนกตกปลาสนุกกับเพื่อน ๆ พอตกบ่ายกลับมาโอย..แย่แล้ว...พี่ 2 คน ถ้าทำไม่เสร็จ ไม่ได้กินข้าวเย็นแน่ เราก็รีบช่วยให้เสร็จ ต้องพูดประจบประจ๋อประแจ๋ไปด้วย กลัวว่าเขาจะไปฟ้องพ่อ ตอนบ่ายนี้พูดจาเรียบร้อย ได้หัดพูดเพราะ ๆ ก็ตอนบ่ายนี้แหละ ตอนเช้าพูดเถลไถล แต่พอตกบ่ายต้องพูดให้เพราะ ๆ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดเรื่อง คือ

           1. เย็นนี้อาจจะไม่ได้กินข้าวเลย แล้วยังอาจจะต้องจุดตะเกียงขุดดินกันทั้งพี่ทั้งน้อง

         2. ถ้าพี่เขาฟ้องพ่อว่าเราเบี้ยว งานถึงไม่เสร็จ ถ้าอย่างนั้น เราโดนตีคนเดียว เลยต้องพูดเพราะ ๆ เอาใจเขาหน่อย

       พูดง่าย ๆ ถูกบังคับให้รับผิดชอบร่วมกัน ขืนทะเลาะกัน งานไม่เสร็จจะยิ่งเดือดร้อนก็เลยต้องดีกันโดยอัตโนมัติ

      ปัญหาของคุณหนูที่เกิดขึ้น แสดงว่าที่บ้านไม่มีงานให้ทำ ปล่อยสบายมากไป ถ้าจะให้ดีต้องให้อด ๆ อยาก ๆ กันบ้าง เพราะอดอยากแล้วมันจะช่วยกันทำกินเอง เพราะว่าสบายมากไป ลูก ๆ จึงเป็นอย่างนี้

        เพราะฉะนั้น ในกรณีที่เกิดปัญหาความแตกแยกขึ้นแล้วก็ขอให้คำแนะนำแก่คุณพ่อคุณแม่ แม้สำหรับตัวคุณหนู จะเป็นพี่สาวคนโต ก็ต้องยกบทบาทนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ก่อนแล้วคอยให้ความร่วมมือกับท่านก็แล้วกัน นั่นคือ

         1. บีบเศรษฐกิจในบ้านเข้ามา
      เงินทอง อย่าให้มีใช้เหลือเฟอ เจ้าพี่น้องคู่นี้ทะเลาะกัน อย่าจ่ายเงินให้ใช้มากนักต้องให้พึ่งพาอาศัยกันบ้าง

        2. ใช้ให้ทำงานบ้านร่วมกันให้มากๆ
       เรื่องที่มึนตึง ไม่พูดกัน มันจะค่อยคลายตัวไป เพราะต้องร่วมงานกัน ไม่พูดกันก็ทำงานไม่ได้ วิธีนี้ค่อนข้างได้ผลมาก

        3. ถ้าเด็กยังไม่โตเกินไปนัก ต้องใช้ไม้เรียวกำกับบ้าง
       ถ้าเรามีเหตุผลแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวเด็กหนีออกจากบ้าน เด็กตัวเท่านี้ยังเก่งไม่จริงไม้เรียวยังจำเป็นสำหรับการเลี้ยงลูก แต่ต้องใช้ให้เป็น ตีไปสอนไป ไม่ใช่ตีเจียนตาย

        อย่างไรก็ดี ควรใช้ระดับแรกก่อน คือ ตัดเงินลง แล้วให้ช่วยกันทำงานถ้าเอาเปรียบกันมากเกินไป เด็กจะตั้งข้องัดกันเอง ธรรมดาเด็กโกรธกันไม่นานหรอก พอเงินหมดเดี๋ยวก็ต้องช่วยกันทำงาน

        ถ้าในบ้านมีคนรับใช้ ก็ให้คนรับใช้ทำเฉพาะงานส่วนกลาง งานส่วนตัวให้ลูกรู้จักจัดการกันเอง งานที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้พี่ ๆ น้อง ๆ ต้องหันหน้าเข้าปรึกษากันต้องใช้มาตรการนี้ตั้งแต่ลูก ๆ ยังเล็ก ถ้าไปใจอ่อนตามใจเด็ก ในที่สุดจะได้ลูกที่เขี้ยวจะลากดินทั้งคู่"

     เมื่อพี่สาวฟังจบ ใบหน้าของเธอก็ยิ้มขึ้นมาอย่างมีหวัง และนำวิธีการของหลวงพ่อท่านไปกอบกู้สถานการณ์ในครอบครัวของเธอต่อไป

     คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่อ่านเรื่องนี้แล้ว ก็ขอให้ปลูกฝังความสามัคคีของลูกด้วยความเคารพตามลำดับอาวุโสอย่างเคร่งครัด ฝึกความรับผิดชอบร่วมกันให้แก่ลูกทุกคนลูกของเราเมื่อโตขึ้นก็จะได้รักกัน ช่วยเหลือเจือจุนซึ่งกันและกัน แม้ลำบากก็ไม่ทอดทิ้งกันเพียงเท่านี้พ่อแม่ก็หมดห่วง

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015303015708923 Mins