พระพุทธคุณ

วันที่ 10 มิย. พ.ศ.2560

พระพุทธคุณ
 

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พระพุทธคุณ , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระมงคลเทพมุนี

พระธรรมเทศนา

     ความดีของพระพุทธเจ้า 9 ประการ ของพระธรรม 6 ประการ ของอริยสงฆ์ 9 ประการ ตามที่ปรากฏในพระบาลีนี้ จักได้แสดงแต่ละประการเป็นลำดับไป เริ่มต้นพระพุทธคุณก่อน ซึ่งตั้งต้นด้วย อรหํ ตลอดจนจบสังฆคุณ

      พระเกียรติคุณฟูเฟื่อง จนเป็นที่เคารพสักการะของมวลเทวดา อินทร์ พรหม และมนุษย์ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ มิใช่เพราะเหตุที่พระองค์เป็นกษัตริย์แต่เป็นเพราะเหตุอื่น เหตุอื่นคืออะไร ก็คือเหตุที่พระองค์สละราชสมบัติออกบรรพชา ประกอบพระมหาวิริยะ ความเพียรอันแรงกล้า จนได้บรรลุพระโพธิญาณ ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ เมื่อวัน วิสาขปุรณมี เพ็ญเดือน 6 นั้นเอง พระองค์ได้ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง ในเวลาอันรุ่งอรุณวันนั้น คุณงามความดีของพระองค์ได้บังเกิดขึ้น ตั้งแต่วันนั้นเป็นลำดับมา จนตราบเข้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน รวมเป็น 9 ประการด้วยกัน

บทขยายความ
        พวกเราต้องทำความเข้าใจกันมากพอสมควรสำหรับพระธรรมเทศนาตรงย่อหน้านี้ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญมากๆ เลย คือ

      ประเด็นแรก คำเทศน์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำนี้ เมื่อรุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ท่านได้ยินอย่างนี้ถือว่าเป็นความรู้ธรรมดา เพราะท่านถูกปลูกฝังธรรมะมาตั้งแต่ยังนอนอยู่ในเปล เพราะว่าเพลงกล่อมลูกของปู่ ย่า ตา ทวดล้วนแต่แทรกธรรมะทั้งนั้น คำศัพท์เช่น เทวดา อินทร์ พรหม หรือคำว่า "โพธิญาณ" อย่างนี้ ท่านได้ยินมาตั้งแต่หัวเท่ากำปันไม่เหมือนเพลงที่กวนกิเลสราคะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่น่าเสียดาย คนยุคเราปัจจุบันนี้ได้ทิ้งเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งเป็นวิธีปลูกฝังคุณธรรมกันไปเสียแล้ว

      บางคนข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนถึงเมืองนอกเมืองนา ไปคว้าปริญญาเป็นดอกเตอร์แต่กลับมองหาวิธีปลูกฝังศีลธรรมไม่เจอ เพราะว่าได้มองข้ามภูมิปัญญาของปู่ ย่า ตา ทวด

        ยกตัวอย่าง เพลงกล่อมเด็กในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านยังเล็กๆ ซึ่งมีเนื้อร้องว่า

      "เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำจะเกิดมาทำอะไร อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลิกอยากลาหยอกรีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหกไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้"

     ปู่ ย่า ตา ทวดมีวิธีปลูกฝังศีลธรรมอยู่ที่นี่ อยู่ที่เพลงกล่อมเด็ก เขาปลูกฝังคุณธรรมไว้ตั้งแต่หัวเท่ากำปัน เขาไม่มาร้องกันหรอกว่า แม้เธอมีลูกสี่ก็ยังสวยอย่างนี้ หรือสามสิบแล้วแต่ฉันก็ยังแจ๋วเหมือนกับเพลงที่ร้องกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ทำให้ศีลธรรมในตัวเพิ่มสูงขึ้นได้มันฟ้องถึงภูมิปัญญาของปู่ ย่า ตา ทวดว่าสูงกว่าเราเพียงใด ก็เพราะภูมิปัญญาของท่านสูงอย่างนี้ท่านถึงได้สร้างประเทศให้เราได้อยู่จนทุกวันนี้

      เนื้อหาสาระสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้สะกิดใจไว้แต่ต้นว่า การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้รับความเคารพ ไม่ใช่เพราะพระองค์เป็นลูกกษัตริย์ ไม่ใช่คุณความดีของบรรพบุรุษที่มีสืบทอดกันมา แต่เป็นเพราะคุณความดีของพระองค์เอง และคุณความดีนั้นยิ่งใหญ่ไพศาล จนเทวดา พระอินทร์ที่เป็นใหญ่ แม้แต่พระพรหม รวมทั้งมนุษย์ทั้งโลกก็ให้ความเคารพท่าน และเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงมีคุณงามความดีเกิดขึ้นในตัวของพระองค์คือ เหตุที่พระองค์ทรง ละราชสมบัติออกบรรพชา ไม่ได้ทรงออกบวชตามธรรมดา แต่ทรงออกบวชด้วยมหาวิริยะ คือความเพียรอันแรงกล้า เพียรหาทางดับกิเลสเพียรค้นคว้าหาทางตรัสรู้ธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พระองค์ทรงทำความเพียรทางจิตด้วยวิธีต่างๆ นานาประการ ที่ถือว่า วิเศษและนิยมกันในยุคนั้นอย่างเอาชีวิตเข้าแลกทีเดียวแต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล ในที่สุดพระองค์ก็ทรงค้นพบวิธีกลั่นพระทัยของพระองค์ให้ใสจนกระทั่งสามารถทำกิเลสให้หมดสิ้นไปได้สำเร็จ

      สรุปได้ว่า เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงมีคุณงามความดีถึงขั้นที่แม้กระทั่งเทวดา พระอินทร์พระพรหมยังต้องให้ความเคารพก็คือ

        อันดับที่ 1 การออกบวช

       อันดับที่ 2 การทุ่มเททำความเพียรทางจิต ทรงตั้งพระทัยทำสมาธิจนกระทั่งพระทัยของพระองค์สามารถหยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกาย และบรรลุธรรมกายจนสามารถปราบกิเลสให้หมดสิ้นไป หรือที่เรียกว่า "บรรลุโพธิญาณ"

       คำว่า "โพธิญาณ" คือ ปัญญาการตรัสรู้ธรรม หมายถึง รู้แจ้งธรรมทั้งหลายตรงตามความเป็นจริงส่วนคำว่า "ตรัสรู้เญยยธรรม" คือ ธรรมที่ควรจะพึงรู้ทั้งหลาย ซึ่งพระองค์ได้ทรงทำให้แจ้งที่ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ในครั้งนั้นเอง

      คำว่า "ควงไม้" เป็นคำที่พวกเราไม่ค่อยคุ้นกันนักในปัจจุบัน ประกอบขึ้นด้วยคำสองคำคือ คำว่า "ควง" กับ คำว่า "ไม้"

      คำว่า "ควง" เป็นคำกิริยา แปลว่า "ทำให้แกว่ง หรือหมุนเป็นวง" เช่น ควงกระบองหรืออาการที่หมุนประดุจเดียวกับดอก ว่าน อีกความหมายหนึ่งแปลว่า "บริเวณ" เพราะฉะนั้นความหมายของควงไม้ก็คือ บริเวณร่มไม้พระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่พระองค์ตรัสรู้ธรรมที่นิยมเรียกกันว่า "โพธิพฤกษ์หรือต้นโพธิ์" นั่นเอง

      มาถึงตรงนี้มีความรู้ที่เรามองข้ามไม่ได้คือ คำว่า "โพธิ" ซึ่งแปลว่า ตรัสรู้ธรรมต้นไม้ต้นใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยบำเพ็ญภาวนา เจริญสมาธิจนกระทั่งตรัสรู้ธรรมเขาเรียกต้นไม้นั้นว่า ต้นโพธิ์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ คือ ต้นไม้ที่มีสิริมงคลที่พระพุทธเจ้าไปตรัสรู้

      ถ้ายุคใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรัสรู้ที่โคนต้นจำปา ต้นจำปาต้นนั้นก็ได้ชื่อว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" ของยุคนั้น ถ้าไปตรัสรู้ใต้ต้นไทรในยุคใด ยุคนั้นต้นไทรก็เป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ส่วนในยุคของเรานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงตรัสรู้ที่โคนต้นไม้ซึ่งมีชื่อว่า อัสสัตถพฤกษ์ เราจึงถือว่าต้นอัสัตถพฤกษ์คือต้นโพธิ์ และเรียกชื่อนี้ตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

     ณ โคนโพธิ์นี้เองที่พระองค์ได้ตรัสรู้เญยยธรรม คือธรรมที่ควรรู้ ควรเข้าใจ พูดง่ายๆ ก็คือธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงรู้เห็นด้วยอำนาจของธรรมกายที่พระองค์ทรงบรรลุจากการบำเพ็ญสมาธิให้พระทัยหยุดนิ่งเข้าถึงธรรมกายภายในตามลำดับ ๆ ตั้งแต่ธรรมกายโสดา ธรรมกายสกทาคามี ธรรมกายอนาคามี ธรรมกายอรหัต และจนกระทั่งธรรมกายอรหัตในอรหัตนับไม่ถ้วนทีเดียว

     ประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้พระองค์ทรงเกิดความเห็นภายในที่ ว่างสุดประมาณถ้าพวกเราตั้งใจฝึกสมาธิภาวนามากพอที่จะเข้าถึงธรรมกาย จะเข้าใจได้เองว่า ความสว่างของการเห็นภายในนั้นเปรียบเสมือนเราเอาดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงมาเรียงกันเป็นดวง ๆ จนกระทั่งเต็มท้องฟ้า

    ตามธรรมดาดวงอาทิตย์ยามเที่ยงเพียงดวงเดียวก็สว่างมากแล้ว แต่ถ้าเอามาเรียงกันหลายร้อยหลายพันดวงจนเต็มท้องฟ้าจะสว่างสักเพียงใด แต่สำหรับความสว่างที่เกิดขึ้นภายในกายของผู้ที่เข้าถึงธรรมกายอรหัตละเอียด ๆ นั้นยังมากกว่าความ ว่างดังกล่าวอีก

     เมื่อความสว่างมากถึงปานนั้น จึงทำให้พระองค์ทรงเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายตรงตามความเป็นจริงได้หมด จึงทรงรู้ความจริงของทุกสรรพสิ่งทั้งมวล ควรแก่ความสว่างที่บังเกิดในพระทัยของพระองค์

   สำหรับพวกเราถ้าให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปสักวันหนึ่งก็คงจะได้รู้ได้เห็นความสว่างอย่างสุดประมาณดังที่พระองค์ท่านได้ทรงรู้เห็นบ้าง

       คุณงามความดีของพระองค์ได้บังเกิดขึ้นนับตั้งแต่บรรลุธรรมกายอรหัต จนกระทั่งดับขันธปรินิพพาน

     คำว่า "ดับขันธปรินิพพาน" คือ เมื่อถึงเวลา รีระของพระองค์ก็ถึงแก่การแตกดับครั้นแล้วธรรมกายของพระองค์เข้าอายตนนิพพาน

    องคาพยพของร่างกายอันประกอบด้วยเลือด ด้วยเนื้อ และจิตใจนั้นเรียกว่า "ขันธ์" เมื่อถึงคราวร่างกายแตกดับไป ธรรมกายในตัวของพระองค์แยกออกจากร่างกายแล้วก็เข้านิพพานไปทิ้งไว้แต่ส่วนที่เป็นเลือดเป็นเนื้อ

       สำหรับนิพพานคืออะไรนั้น เราค่อยไปศึกษากันในภายหน้า

 

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010197003682454 Mins