มรณทุกข์ ทุกข์เพราะความตาย

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

มรณทุกข์ ทุกข์เพราะความตาย

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจสี่ , มรณทุกข์ ทุกข์เพราะความตาย  , ทุกข์ , มรณทุกข์

            เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาพระบาลีในมรณทุกข์นั้น มีเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายมีจุติ คือการดับจิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ดี การทำลายขันธ์ร่างกายแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ดี การทิ้งร่างกายอันเน่าเปื่อยของสัตว์ก็ดี การขาดชีวิตินทรีย์แห่งสัตว์ก็ดี ธรรมเหล่านี้ตถาคตเรียกชื่อว่า มรณธรรม คือความตายทั้งสิ้น มรณธรรมนี้เองที่ยังสัตว์ทั้งปวงให้เป็นทุกข์นักหนา ทั้งนี้เพราะเมื่อใกล้จะถึงมรณกาล เตโชธาตุ คือธาตุไฟภายในสรีรกายของสัตว์นั้นก็จะทวีความร้อนแรงกล้าขึ้น ทำให้สัตว์นั้นร้อนทุรนทุราย กระวนกระวาย ระส่ำระสายไปทั่วสรรพางค์กาย เปรียบประดุจมีคนมาก่อกองเพลิงไว้เหนือลม นี้ก็เป็น มรณทุกข์ ประการหนึ่ง

            อนึ่งสัตว์ทั้งหลายที่ได้เคยสร้างกรรมอันชั่วช้าลามกไว้ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือวาจาเป็นผู้ขาดความเมตตากรุณา ครั้นเมื่อใกล้มรณกาลก็อาจจะมีทุกขนิมิตปรากฏให้เห็นล่วงหน้าบางครั้งก็ปรากฏเห็นเพลิงในนรก บางครั้งก็ให้เห็นนายนิรยบาลคือผู้รักษานรก ถือเครื่องศาสตราวุธมาแวดล้อม บางครั้งก็ให้เห็นโซ่ตรวน บางครั้งก็ให้เห็นแร้งกามาแวดล้อมอยู่ก็มีสัตว์ผู้นั้นก็สะดุ้งตกใจเสียดายชีวิต ทำให้เกิดพะว้าพะวังมิใคร่จะยอมให้จิตดับจากร่าง เกิดอาการต่อสู้ขัดขืนแย่งชิงกัน บางจำพวกก็ร้องโวยวายไขว่คว้าไปมาอย่างขาดสติ บางพวกก็โทมนัสน้อยใจในตนเอง เพราะเหตุที่เคยประพฤติตนเป็นพาล ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่เคยบำเพ็ญกุศลธรรม มาบัดนี้ก็ให้รู้สึกหวาดกลัวภัยในนรกเป็นอย่างยิ่ง อันนี้ก็จัดเป็น มรณทุกข์ อีกประการหนึ่ง

          ส่วนบุคคลบางคนมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล มีบุตรภรรยาญาติสนิทมิตรสหายเป็นอันมาก เมื่อใกล้จะถึงมรณกาลก่อนจะดับจิตออกจากร่างก็ให้รู้สึกพะว้าพะวัง กังวลด้วยทรัพย์ศฤงคารสมบัติพั ถานทั้งปวง ห่วงใยบุตร ภรรยาและญาติมิตร ยากที่จะดับจิตจากร่างนี้ก็เป็น มรณทุกข์ ประการหนึ่ง

            ส่วนบุคคลต้องโทษอาชญามีเครื่องพันธนาการจองจำไว้ก็ดี พวกที่ถูกตัดมือตัดเท้าเสียก็ดี และพวกที่ต้องโทษประหารก็ดี ขณะที่นายเพชฌฆาตงาดเงื้อดาบอันคมกล้าจะฟันลงก็ดี คนโทษเหล่านี้ล้วนกลัวความตายแสนสาหัสเสวยทุกขเวทนาหาที่สุดมิได้ นี้ก็เป็นมรณทุกข์ อีกประการหนึ่ง

         เราท่านทั้งหลายเกิดมาเป็นคนไม่ว่าจนยากหรือร่ำรวย ไม่ว่าผู้ดีหรือเข็ญใจ ตราบเท่าที่ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร เมื่อเกิดมามีชีวิตแล้ว ครั้นจิตจะออกจากร่างไป ก็ให้กลัวภัยคือความตาย เสียดายชีวิตหาที่สุดมิได้ เว้นไว้เสียแต่ผู้บรรลุธรรมวิเศษ นอกนั้นแล้วต่างกลัวความตายถ้วนทั่วทุกตัวตน ด้วยเหตุนี้ตถาคตจึงเรียกว่า มรณทุกข์ ดังพรรณนามาฉะนี้

        ยิ่งกว่านั้น มรณะนี้ยังย่ำยีสัตว์ทั้งหลายให้พินาศย่อยยับมานักต่อนักแล้ว เปรียบประดุจภูเขาสูงใหญ่มหึมา ซึ่งกลิ้งมาจากทั้งสี่ทิศทับขยี้บดเอาสัตว์ทั้งหลายให้แหลกเป็นจุณไปข้อนี้ฉันใด มรณภัยก็ย่ำยีสัตว์ทั้งหลายไปฉันนั้น

           นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงตรองดูเถิดว่า ทุกข์ทั้ง 4 ประการ คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณทุกข์นี้ อุปมาเสมือนข้าศึก 4 นาย ตัวเราท่านทั้งปวงเปรียบเสมือนบุรุษผู้อยู่เวรยามในอุทยาน ข้าศึกทั้ง 4 นั้น ต่างแสวงหาอุบายที่จะฆ่าบุรุษผู้อยู่เวรยามเสียให้สิ้น ข้าศึกนายหนึ่งจึงเข้าไปหาบุรุษ แล้วแสร้งแสดงตนเป็นมิตร สนิทสนมจนตายใจ แล้วล่อลวงว่ามีอุทยานอยู่แห่งหนึ่งประกอบด้วยพฤกษามีผลพวงอุดมสมบูรณ์สุดจะพรรณนา ภูมิภาคและทัศนียภาพแห่งอุทยานนั้นก็สุดแสนสวยงาม ร่มรื่นเย็นสบาย มีน้ำไหลใสะอาดชวนเล่นสนุกสนานเป็นที่สำราญรื่นชื่นอารมณ์ มาเราจะพาท่านไปชมอุทยานนั้น ฝ่ายบุรุษนั้นมิรู้ว่าถูกกลลวงสำคัญผิดว่าข้าศึกคือมิตรรักก็หลงระเริงตามไป ครั้นถึงกลางป่า ข้าศึกคนที่สองก็ออกมาจับบุรุษนั้นทุบตีแทบล้มประดาตาย แล้วข้าศึกคนที่สามก็ออกมาช่วยทุบตีซ้ำ ย่ำยีให้บุรุษนั้นนอนกลิ้งนิ่งแน่วอยู่บนพื้นปฐพี แล้วข้าศึกคนที่สี่ก็ถือดาบอันคมกล้า วิ่งออกมาตัดศีรษะบุรุษนั้นให้ขาดสิ้นชีวาวาตม์ลง

           อันชาติทุกข์นั้นเปรียบเสมือนข้าศึกคนแรก ที่มาล่อลวงเราท่านให้ไปปฏิสนธิในตระกูลต่าง ๆ มีชีวิตกันอยู่เป็นที่ นุก นานรื่นเริงบันเทิงใจ อันชราทุกข์นั้นเปรียบได้กับข้าศึกคนที่สอง ซึ่งออกมาจับตัวเราท่าน แล้วทุบตีให้มีกำลังน้อยถอยลง เคล็ดขัดยอกไปทั่วสรรพางค์กาย ตามืดมัว หูตึง ฟันหัก แก้มตอบ ผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวแห้ง หลังโกง ซี่โครงโปนมองเห็นเป็นซี่ ๆ ดูน่าเวทนานัก พยาธิทุกข์นั้นเปรียบได้กับข้าศึกคนที่สาม ซึ่งออกมาโบยตีย่ำยีเบียดเบียนบีฑาเราทั้งปวง ให้ได้รับความเจ็บไข้เสียดแทงทั่วสรรพางค์กาย บางทีก็เป็นโรคต่าง ๆ ต้องนอนแซ่วนับเป็นแรมเดือนแรมปีก็มี ทนทุกขเวทนาลำบากแสนสาหัสุดจะหาคำอุปมามากล่าวได้ส่วนมรณทุกข์นั้นไซร้ เปรียบได้กับข้าศึกคนที่สี่ ซึ่งมาตัดศีรษะเราท่าน นี้ก็เปรียบเสมือนมรณกาล ดับสังขารขาดเสียซึ่งชีวิตินทรีย์ ทุกข์ทั้ง 4 ซึ่งอุปมาเสมือนข้าศึก 4 นาย ก็มีความดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010744690895081 Mins