กรณียเมตตสูตร ๑

วันที่ 15 พย. พ.ศ.2560

กรณียเมตตสูตร ๑

(คุณธรรม ๑๔ ประการ)

๒๕ พฤษภาคม ๒๔๙๗ 

นโม.....

กรณียมตฺถกุสเลน.....

 

                       พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงในเรื่องจิตแผ่เมตตาไปยังสัตว์ ทรงรับสั่งให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา ยึดพระอริยะเป็นแบบอย่างในการทำตัวเองให้บริสุทธิ์งกาย วาจา ใจ จึงได้ชื่อว่า ประกอบด้วยเมตตา เป็นสาวกของพระศาสดาที่แท้จริง

สาวกของพระพุทธเจ้ามี ๒ จำพวก

                        ๑.ปุถุชนสาวก ตั้งแต่ยังไม่ได้ธรรมกาย แต่บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ จนถึงพวกได้ธรรมกายโคตรภูและปฏิบัติตามแนวพระอริยะ

                        ๒. อริยสาวก ตั้งแต่เริ่มเป็นพระโสดา พระสกทาคา  พระอนาคา พระอรหัต ตามพระบาลีกล่าวว่า

                        กรณียมตฺถกุสเลน  กิจอันใดอันพระอริยบุคคล ผู้บรรลุบทอันระงับกระทำแล้ว กิจอันนั้น กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ควรกระทำ

 

ผู้ฉลาดในประโยชน์เป็นเช่นไร

                          ๑. สกฺโก เป็นผู้อาจหาญ อาจหาญทุกประการในธรรมวินัยของพระศาสดา ไม่ขาดตกบกพร่อง คือ อาจหาญในทางบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ซึ่งเป็นความดีส่วนเดียว ก่อนจะกระทำสิ่งใด พูด หรือ คิดสิ่งใด ใช้ปัญญาสอดส่องดูก่อนว่าไม่เดือดร้อนตนและผู้อื่น ถ้าเป็นโจรล้นประเทศต่อประเทศปะทะกัน เป็นอาจหาญของคนพาล เป็นเรื่องเหลวไหล

                          ๒. อุชู เป็นผู้ ชื่อ ในกาย วาจา ใจทั้งข้างนอก ข้างในตรงกันหมด

                          ๓.สุหุชู เป็นผู้ตรงดี คือ ประคองใจของตนให้ตรงสู่ทางมรรคผล

                          ๔.สุวโจ ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อต่อทางมรรคผล ให้ปฏิบัติธรรมก็ทำได้ตรงธรรม อยู่ในธรรมพระวินัยเสมอ คนดีเป็นนักปราชญ์ อยู่กับใครเบาใจ ภิกษุสามเณรอยู่กับครูบาอาจารย์ก็เย็นอกเย็นใจ ลูกหญิงลูกชายก็เช่นกัน ว่านอนสอนง่าย เป็นคนทำธรรมวินัยให้เจริญ เป็นคนเจริญในธรรมวินัยของพระบรมศาสดา

                          ๕. มุุทุ "เป็นผู้อ่อนละมุนละไม"ตามความปรารถนาของผู้ฝึกหัด เป็นที่สบายใจ ของครูบาอาจารย์และพ่อแม่ แต่ไม่ใช่อ่อนโยเย

 

                          "อาการที่อ่อนละมุนละไม เป็นภิกษุหรือสามเณร อยู่กับครูบาอาจารย์ครูบาอาจารย์ก็เย็นอกเย็นใจ เหมือนคนแก่ได้พบข้าวละมุนละไมเข้า"

                           ๖. อนติมานี "ไม่เย่อหยิ่งจองหอง"สามารถฟังคำตักเตือนได้ ไม่มีอติมานะ เช่น ลูกไม่ทำเย่อหยิ่ง จมูกฟิดใส่พ่อแม่ ภิกษุสามเณร ถูกว่าเล็กๆ น้อยๆ ก็สิกขาลาเพศ

 ๗.สนฺตุสฺสโก เป็นผู้สันโดษยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ ไม่ทำบุคคลผู้เลี้ยงให้เดือดร้อน

                            ๘.สุภโร เป็นผู้เลี้ยงง่าย กินโดยเคารพ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่กระสับกระส่าย มีอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น เหมือนอย่างม้าหรือช้างเลี้ยงง่าย เขาเทียบด้วยม้าอาชาไนย เจ้าของจะให้หญ้าสดก็เคี้ยว หญ้าสด ให้หญ้าแห้ง รำ ข้าวสุก ข้าวตาก ก็เคี้ยวกินตามหน้าที่ กินจริงๆ กินจนอิ่ม เมื่อเขาเลี้ยงอย่างไรล่ะก็บริโภคอย่างนั้น จืดนัก มันมีเค็มกผสมกันเข้า ไม่ต้องยุ่งเรียกโน่นเรียกนี่

                             ๙.อปฺปกิจฺโจ "เป็นผู้มีธุระน้อย" ไม่เป็นพวกหากิจให้ยุ่งแก่อัตภาพร่างกาย เพราะจะไม่เจริญในธรรมวินัยของพระศาสดา อุปัชฌาย์อาจารย์เบื่อภิกษุสามเณรที่มีธุระมาก กิจธุระไม่จบ ถ้าว่านอกจากธรรมวินัยของพระศาสดาไปแล้ว มีบ้างเล็กน้อย ไม่หากิจให้มีธุระมาก

                             ๑๐. สลฺลหุกวุตฺติ ประพฤติเบากายเบาใจ คล่องแคล่วไม่มีห่วงมีใย บริขารน้อย วาจาไม่มีกังวล ปลอดโปร่ง ไม่กังวลห่วงใย "ประพฤติเบากาย กายก็เบา ประพฤติเบาใจ ใจก็เบา"

                             ๑๑. สนฺตินฺทฺริโย เป็นผู้มีอินทรีย์สงบแล้วทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ายังลอกแลกยังเป็นที่ไว้วางใจในพุทธศาสนาไม่ได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำเล่าเรื่อง ผู้เทศน์บอกพระอุปัชฌาย์ให้ตั้งเจ้าคณะหมวดองค์หนึ่ง ว่าควรจะได้เป็นอุปัชฌาย์แล้วท่านอาจารย์องค์นั้นตอบว่า ตายังไวเช่นนั้น คุณจะตั้งมันอย่างไร  ตั้งมันก็ทำลายเสียเช่นนั้น อ้ายตาไวก็ชอบกลอยู่เหมือนกัน และอยู่มาหน่อยหนึ่งเจ้าคณะหมวดองค์นั้นก็สึกไปเสียเลยจริงๆ

                              ๑๒. นิปฺปโก เป็นผู้มีปัญญา ประพฤติตัวเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนใคร แล้วต้องไปชักชวนคนอื่นที่ประพฤติเรียบร้อยเช่นกันมา มีพวกมากเข้าก็ดูแลกันเอง

                              ผู้มีปัญญา แก้ไขเอาหมู่พวกได้เช่นนั้น ถ้าหากว่าเป็นภิกษุก็ได้เป็นคณาจารย์องค์หนึ่ง เป็นอุบาสกก็ได้เป็นหัวหน้า พุทธศาสนาประสงค์คนมีปัญญา บำบัดโทษประกอบประโยชน์

                              พระพุทธเจ้าตรัสกับธรรมิกอุบาสกว่าท่านผู้ดำเนินคติของปัญญา เกษมอย่างนี้ ก็จะเอาตัวรอดได้ วิธีหาเงินหาทองหาแลกๆ พลิกแผ่นดิน ต้นไม้ ทะเล แท้จริง เงินทองอยู่ที่คน พระเจ้าแผ่นดินปกครองหมดประเทศ เรียกเงินใช้ไม่หวาดไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านเห็นลึกซึ้งว่า ศาสนาอยู่ได้ด้วยข้าวปากหม้อ พอฉันแล้วก็ทำกิจพุทธศาสนาจริงๆ เราก็รักษากาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ ตามแนวท่าน แล้วหาพวกมาดูแลกันเอง ฉลาดอย่างนี้เป็นภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาได้ตลอดชาติ

                                ๑๓. อปฺปคพฺโภ ไม่คะนอง คือ ไม่คอยรับสัมผัส หรือสอดไปหมดทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทำรวมกาย พูดโดย ชื่อตรง ใจคิดแต่ในธรรมในวินัย ไม่ลอกแล่ก ไม่เหลวไหล ไม่หลุกหลิก เช่น นั่งอยู่ไม่ปกติ กระดิกนิ้ว กระดิกมือ วาจาร้องเพลง เอาเรื่องเหลวไหลมาพูด

                                 ๑๔. กุเลสุ อนนุคิทฺโธ เป็นผู้ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย เพราะจะเกิดทะเลาะวิวาท อิจฉาริษยา กันตัวอย่าง  พระภิกษุครั้งพุทธกาลรูปหนึ่ง บวชมา ๑๒ พรรษา ไปฉันอาหารที่บ้านช่างแก้วเป็นประจำตลอด ๑๒ ปี จนมาวันหนึ่ง พ่อค้าเอาแก้วมาจ้างนาย่างแก้วเจียระนัย นายช่างรับมาด้วยมือที่กำลังหั่นเนื้อ เลือดเลอะแก้วนั้น นกกระเรียนที่เลี้ยงไว้เห็นแก้วบนเขียงเป็นชิ้นเนื้อ จึงกลืนเข้าไปช่างแก้วกลับมาหาแก้วไม่เจอ จึงถามพระเถระ แต่ท่านกลัวช่างแก้วจะฆ่านก จึงนิ่งเสียช่างแก้วจึงโกรธ หาว่าพระเถระเอาไป ถึงกับทุบตี และเอาเชือกมารัดหัว พอดีนกเข้ามาช่างแก้วจึงฟาดเข้าไปโดนคอนกกระเรียนลงไปดิ้นกับพื้น

                                พระเถระเห็นว่านกตายแน่ จึงบอกช่างแก้วว่าอยู่ในท้องนกช่างแก้วผ่าท้องนกดูช่างก็ตกใจเพราะมีดวงแก้วอยู่จริงๆ ขอให้พระเถระงดโทษให้ พระเถระไม่เอาโทษแต่นายช่างแก้วก็ต้องติดกรรมกับปรโลก ตั้งแต่นั้นพระเถระก็ปฏิญาณไม่เกี่ยวข้องกับสกุลใดอีก

                                การพัวพันในสกุลนี้ ได้ทำให้ภิกษุมากมายทั้งในสมัยพุทธกาล และปัจจุบันสึกออกไปมากมาย

                                เมื่อประพฤติธรรมทั้ง ๑๔ ข้อนี้ดีแล้ว ความประพฤติไม่มีผิดธรรมวินัย ชื่อว่า ตัวเองเมตตาอยู่ในตัวเอง ไปอยู่ที่ใด ได้ชื่อว่าทำความดีให้แก่ตน และความดีที่ตนทำนั้นจะเป็นตัวอย่างของบุคคลอื่นต่อไป

                                พระอริยะ ติเตียนบุคคลอื่นได้ด้วยกรรมอันใด ไม่ควรประพฤติกรรมอันนั้นตลอดชีวิตควรตั้งจิตแผ่ไมตรีจิตไปว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้มีสุข เกษมสำราญเป็นผู้มีตนถึงซึ่งความสุข เมื่อประพฤติเช่นนั้นแล้วให้ตั้งใจให้ผู้อื่นประพฤติดี เหมือนกับตัวบ้าง

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001606818040212 Mins