วิสาขบูชา : ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

วันที่ 31 พค. พ.ศ.2547

วิสาขบูชา : ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

 

      วิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ เดือนวิสาขะ หรือเดือน ๖ แต่ปีนี้เป็นอธิกมาส คือ มีเดือนแปด ๒ หน จึงเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ แทน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒ มิถุนายน วันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะตรงกับวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน และในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ยอม รับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก และเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลก ได้มีโอกาสระลึกถึงความสำคัญของวันนี้



๓ เหตุการณ์สำคัญ

..... ความอัศจรรย์ของวันนี้อยู่ที่เหตุการณ์สำคัญทั้ง ๓ เหตุการณ์ เกิดขึ้นพร้อมกัน ดังนี้ ประสูติ เมื่อแรกประสูติได้รับการถวายพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ณ สวนลุมพินี ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล การประสูติ ของพระองค์มีความพิเศษแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป คือ ขณะประสูติทรงมีพระสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้นทันทีที่ประสูติ พระองค์เสด็จดำเนินไปด้วยย่างพระบาท ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาทในทุกก้าว และทรงเปล่งพระวาจาอย่างผู้องอาจว่า

“เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุกในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี”


       ความอัศจรรย์เช่นนี้เกิดจากพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ (ความดีอันยิ่งยวด) มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงปฏิบัติธรรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน



ตรัสรู้ หลังจากเสด็จออกผนวช เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นเป็นเวลาถึง ๖ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ขณะประทับนั่งสมาธิคู้บัลลังก์ ณ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรอเวลาเสนานิคม พระองค์ทรงตรัสรู้ไปตามลำดับดังนี้

ปฐมยาม ทรงเข้าถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงระลึกพระชาติหนหลังในอดีตการสร้างบารมีของพระองค์ได้ มัชฌิมยามทรงเข้าถึงจุตูปปาตญาณ ทรงระลึกชาติของสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ทั้งในอดีตและอนาคต และปัจฉิมยามทรงเข้าถึงอาสวักขยญาณ ทรงกำจัดอาสวกิเลสในตัวของพระองค์ให้หมดสิ้นไปได้
         การตรัสรู้ธรรมของพระองค์ เกิดจากการสละชีวิตนั่งสมาธิทำใจให้หยุดนิ่ง ดำเนินจิตเข้าไปสู่หนทางสายกลางภายในตน แทงตลอดในวิชชาทั้ง ๓ ซึ่งผู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระองค์ก็สามารถบรรลุได้เช่นเดียวกัน

ปรินิพพาน ณ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินเดีย พระพุทธองค์ทรงประทับสีหไสยาสน์ ระหว่างต้นสาละคู่ ผินพระพักตร์เข้าสู่พระสาวกทั้งหลาย ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า

.“ สังขารทั้งหลายทั้งปวง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ”

 


อริยสัจ ๔ : หลักธรรมประจำวันวิสาขบูชา

ทรงห้ามพระญาต

       หลักธรรมที่สำคัญในวันวิสาขบูชา ได้แก่ อริยสัจ ๔ คือ ความจริงที่ไม่แปรผัน เกิดมีได้ทุกคน ๔ ประการ คือ ทุกช์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจาการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ

สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิต ล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้นคือตัณหา อันได้แก่ ความอยากต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น

นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดนั้นแก้ไข ได้โดยการดับตัณหา คือความอยากให้หมดสิ้นไป

มรรค คือ ทางหรือวิธีการแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘

         เนื่องในโอกาสที่วันวิสาขบูชาเวียนมาถึง กิจกรรมที่พวกเราชาวพุทธทุกคนควรปฏิบัติ คือ การบำเพ็ญบุญกุศล ทั้งด้วยการตักบาตร บริจาคทาน เยี่ยมเยียนเพื่อปรนนิบัติดูแลบิดามารดา ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรม เจริญภาวนา เพื่อช่วยขจัดขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อความสุขของผู้มาปฏิบัติเองทางวัดพระธรรมกาย จึงได้เชิญชวนสาธุชนผู้ใจบุญทุกท่านร่วม ปฏิบัติบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มจากช่วงเช้า ๖.๓๐ น. เป็นพิธีตักบาตรพระภิกษุ-สามเณร จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ช่วงสาย ๙.๓๐ น. พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) นำสาธุชนปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาเพื่อระลึกถึงคุณของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลา ๑๑.๐๐ น. เป็นพิธีอาราธนาศีล ๕ และพิธีถวายสังฆทาน ภาคบ่าย ๑๓.๓๐ น. เป็น พิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตถวายเป็นพุทธบูชา ของสามเณรเปรียญ ๒๗ รูป ณ อุโบสถ วัดพระธรรมกาย จึงขอเรียนเชิญท่านสาธุชนผู้ใจบุญ ทุกท่านได้เดินทางมาร่วมอนุโมทนาบุญในวาระพิเศษเช่นนี้

 

วุฑฒิวงศ์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.063603047529856 Mins