ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือราวเดือนพฤศจิกายน เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยปรากฏหลักฐาน จากหนังสือเรื่อง นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงนางนพมาศซึ่งมียศเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกพระร่วงเจ้า (พระเจ้าอรุณกุมาร) เกี่ยวกับเทศกาลนี้ว่าในฤดูเดือน 12 เป็นเวลาเสด็จลงประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและสนมฝ่ายในตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งเหล่าราษฎรต่างเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับราชการจึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดินเป็นรูปดอกบัวและดอกไม้ต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำและคิดคำขับร้องขึ้นถวายให้ พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงดำริจัดเรือพระที่นั่งเทียบขนานกันให้กว้างใหญ่สำหรับสนมฝ่ายในจะได้ตามเสด็จประพาสได้มากกว่าแต่ก่อน
พิธีลอยกระทง สันนิษฐานว่าได้มาจากอินเดีย ตามลักธิพราหมณ์เชื่อว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย และลอยเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร
คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
1. การลอยกระทงเพื่อ บูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในสาครพิภพ
2. การลอยกระทงเพื่อ บูชาจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
3. การลอยกระทงเพื่อ ต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
4. และการลอยกระทงเพื่อ บูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
5. การลอยกระทงเพื่อ บูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือ บูชาพระนารายณ์ ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
6. การลอยกระทงเพื่อ บูชาพระอุปคุตตเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลหรือสะดือทะเล
7. เทศกาลไหลเรือไฟ
8. การลอยกระทงเพื่อ ขอขมาแก่พระแม่คงคา
1.การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เรียกว่า "การลอยพระประทีป" หรือ "ลอยโคม" เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคมการลอยกระทงหรือลอยโคม ในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพททา
รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่รัมฝั่นแม่น้ำนัมมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับพญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะบูชา
2. เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันนะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่ได้ไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงมาประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาดตรัสให้นายฉันนะนำเครื่องประดับ และม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา "สาธุ โข ปพฺพชฺชา"แล้วจึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขี้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีเอาไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณี เจดีย์สถานในเทวโลก พระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำแม้พระศรีอริยเมตไตรยเทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคตจะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอาริยเมตไตรยด้วย
3. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชน โดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้นจำพรรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ เมื่อท้าวสักเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิต บันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จ ลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำการสักการะบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทง ตามคตินี้จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธเจ้าลงจากดาวดึงส์)
4. นิทานต้นเหตุเกี่ยวกับวันลอยกระทงอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นนิทานชาวบ้าน กล่าวถึง เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปหากินแล้วหลงทางกลับรังไม่ได้ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ 5 ฟอง รอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุใหญ่พัดรังกระจัดกระจาย ฟองไข่ตกลงน้ำ แม่กาถูกลมพัดไปทางอื่น เมื่อแม่กาย้อนกลับมาที่รังไม่พบฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้ายพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก ฟองไข่ทั้ง 5 นั้นลอยน้ำไปในสถานที่ต่าง ๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จีงนำไปรักษาไว้ตัวละ 1 ฟอง ครั้นถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ ทั้งหมดไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาตามชาติกำเนิดเลย กุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงไปบวชเป็นฤาษี ต่อมาฤาษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็น พี่น้องกัน ฤาษีทั้ง 5 มีนามดังนี้
คนแรก ชื่อ กกุสันโธ (วงศ์ไก่)
คนที่สอง ชื่อ โกนาคมโน (วงศ์นาค)
คนที่สาม ชื่อ กัสสโป (วงศ์เต่า)
คนที่สี่ ชื่อ โคตโม (วงศ์โค)
คนที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์)
ต่างตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจาก เทวโลกจำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบ ผูกไม้ตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ ทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม และเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ นัมมทานที ส่วนฤาษี ทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คือ
ฤาษีองค์แรก ชื่อ กกุสันโธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกกุสันโธ
ฤาษีองค์ที่สอง ชื่อ โกนาคมโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมน์
ฤาษีองค์ที่สาม ชื่อ กัสสโป ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะ
ฤาษีองค์ที่สี่ ชื่อ โคตโม ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม
ฤาษีองค์ที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรย
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรก ได้มาบังเกิดบนโลกแล้วในอดีตกาล พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดบนโลกในอนาคตได้ แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย (ติดตามต่อฉบับหน้า)
http://www.rinac.msu.ac.th/newpage/jiklikjoklok/festival/loikratong/loikratong1.html
http://www.thaifolk.com/doc/gallery/utai/image/00100033.htm
http://www.thaitrip.com/lkt/