วันรัฐธรรมนูญ หัวใจแห่งประชาธิปไตย

วันที่ 10 ธค. พ.ศ.2547

 

 

 

 

ผืนแผ่นดินสยามบนดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ คือชีวิตจิตใจของคนไทยทุกคน บรรพบุรุษของเราหวงแหนหนักหนา ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาผืนแผ่นดินเอาไว้ ให้คงความเป็นเอกราชอย่างยากที่จะหาชนชาติใดเสมอเหมือน ดังนั้น ในการปกป้องรักษาบ้านเมือง จึงเป็นพันธกรณีร่วมกันของลูกหลานไทย

นับเป็นเวลากว่าสองร้อยปี ที่องค์พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงคำนึงถึงความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชนเป็นอันดับแรก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ ๗ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ . ศ. ๒๔๗๕ นั้น ไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนแต่อย่างใด ทั้งๆ ยังมีพสกนิกรและข้าราชบริพารผู้จงรักภักดีอีกมากมาย พร้อมจะยืนหยัดเคียงข้างพระมหากษัตริย์ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ประเทศชาติราษฎรมากกว่าราชบัลลังก์ ทรงยินยอมสละราชอำนาจที่มีอยู่แต่เดิมแก่ประชาชน ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมพระเกียรติ

ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ . ศ. ๒๔๗๗ ดังมีพระราชหัตเลขาแสดงความรู้สึกห่วงใยประเทศชาติและราษฎรไว้อย่างน่าประทับใจยิ่ง ดังขออัญเชิญความบางตอนว่า

“… ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร บัดนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป…”

เพราะพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทำให้ชาวไทยได้มีวันนี้ที่ร่มเย็นเสมอมา ความเทิดทูนจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ จึงอยู่ในจิตใจของประชาชนไม่มีวันเสื่อมคลาย

ย้อนนึกถึงความจำเป็นในครั้งนั้น เนื่องด้วยภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ช่วงต้นรัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจการค้าของประเทศอยู่ในภาวะฝืดเคือง มีภาระรายจ่ายเกินดุลซึ่งเป็นผลกระทบจากสงคราม นับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญและเร่งด่วน พระองค์ทรงตระหนักดีถึงกระแสแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่กำลังตื่นตัวอยู่ในประเทศแถบยุโรป จึงได้ทรงเตรียมการเพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การปกครองใหม่ ด้วยพระองค์เองทรงคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว จนกระทั่งมีการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยินยอมตามข้อเสนอของคณะราษฎร และทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ . ศ. ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งถือเป็น “ วันรัฐธรรมนูญ ” ของไทยสืบมา

รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ

ซึ่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เรียกว่า “ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ” เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ. ศ. ๒๔๗๕ ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย แต่ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันถาวรและมีการสืบพระราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับรองสนองพระราชโองการ สถาบันที่เกิดขึ้นใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ออกกฎหมายต่างๆ เมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจงมีผลบังคับใช้ได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเสมือนสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลสถิตยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว พิจารณาพิพากษาไปตามกฎหมายตามเดิม

กระทั่งวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ. ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างจากฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิเช่น ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบรัฐสภา ซึ่งบัญญัติให้พระมหากษัตริย์องค์ประมุขของประเทศ ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาผู้ออกกฏหมายนิติบัญญัติไม่ได้ใช่แต่เพียงอำนาจทางนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย

ถึงอย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีที่ประกอบกันเป็นรัฐบาลมีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่เสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐ มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับการเลือกตั้งเพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเลือกตั้งใหม่ ในส่วนของพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญอันเป็นฉบับถาวร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ปวงชนชาวไทย ทางราชการจึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

… วันที่คนไทยได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีที่ได้มา และนึกทบทวนบทบาทหน้าที่ของตน

ว่าบัดนี้ เรายังคงธำรงไว้ซึ่งผาสุกของแผ่นดิน และยังใช้อำนาจโดยชอบธรรมอยู่หรือไร ?…

 

 

อุบลเขียว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018931984901428 Mins