นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อย่างเข้าฤดูฝน องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ อยู่จำพรรษาตามวัดวาอารามหรือบริเวณอันกำหนดขึ้น งดการออกจาริกไปยังถิ่นต่างๆเป็นเวลา ๓ เดือน ช่วงเวลาแพ่งการเข้าพรรษา จึงเป็นโอกาสให้พระภิกษุสามเณร ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและปรารภความเพียร เจริญภาวนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นเวลาแห่งการฝึกฝนอบรมตนของพระภิกษุสามเณรอย่างแท้จริง
เมื่อฤดูเข้าพรรษาจึงเกิดประเพณีอันสืบเนื่องมาแต่โบราณว่า ชายไทยต่างนิยมอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ดำรงตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในพระธรรมวินัย มุ่งศึกษาหลักธรรมนำมาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ยังบกพร่องในตนเองให้สมบูรณ์ เพื่อเตรียมตัวให้เป็นคนดีที่โลกต้องการ และมีวิถีดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นเหตุแห่งความสุขและความสำเร็จตลอดไปในชีวิต และยังเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่บุตรจะได้บวชเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดา
ดังนั้นการมีโอกาสได้ใช้ชีวิตเป็นนักบวช แม้เพียงหนึ่งพรรษาก็สามารถรู้และ เข้าใจคุณค่าและความหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ทำให้วางแผนเส้นทางชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างถูกต้อง จึงนับว่าเป็น “หนึ่งพรรษา เพื่อคุณค่าตลอดชีวิต”
ระยะเวลาการอบรม ตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ. ศ. ๒๕๕๐
คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม
๑. จบการศึกษาตั้งแต่ระดับ ม.๖ หรือ ปวช. ขึ้นไปและมีอายุระหว่าง ๒๐ – ๕๐ ปี
๒. ได้รับอนุญาตจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
๓. สามารถเข้าอบรมได้ตลอดระยะเวลาการอบรม
๔. เป็นผู้มีความประพฤติดี พร้อมที่จะรักษาระเบียบวินัย
๕. สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคจิตประสาท โรคไต โรคหอบหืด ต้องไม่ติดยาเสพติด และผ่านการตรวจร่างกายในวันปฐมนิเทศ
๖. เป็นผู้อยู่ง่ายกินง่าย ไม่เลือกอาหารให้เป็นภาระต่อตนเองและผู้อื่น
๗. ไม่เป็นผู้มีร่างกายในลักษณะทุพพลภาพ
๘. ต้องมีคุณสมบัติตามกฎมหาเถรสมาคม และไม่มีรอยสักอันไม่เหมาะสม
๙. ผ่านการสัมภาษณ์และสอบขานนาค จากคณะกรรมการการอบรมในวันสัมภาษณ์
หลักฐานการสมัคร
๑. รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว ไม่สวมหมวก ไม่ใส่แวนตาดำ ถ่ายไว้ไม่เกิน ๖ เดือน ๑ ใบ
๒. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน ๑ ชุด
๓. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน ๑ ชุด
๔. ใบรับรองและสำเนาบัตรประชาชนผู้รับรอง(ดาวน์โหลดใบสมัครและคำขานนาคได้ที่ http://www.dmycenter.com) โดยผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ฝึกอบรมธรรมทายาท วัดพระธรรมกาย เบอร์โทรศัพท์ ๐๒ – ๘๓๑๑๘๕๘ – ๙, ๐๘๖ – ๙๗๑๙๐๐๐, ๐๘๖ – ๙๐๓๘๔๖๔ และทุกวันอาทิตย์ที่ บริเวณเสา N7 (เอ็น ๗) สภาธรรมกายสากล