๙๕ ปี วิชชาธรรมกาย
“ธรรมกาย” คือ กายตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, “วิชชา” แปลว่า ความรู้แจ้ง, “วิชชาธรรมกาย” แปลว่า ความรู้แจ้งเรื่องธรรมกาย, หมายถึง ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย อันเป็นแก่นแท้ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา สามารถกำจัดทุกข์ได้เป็นชั้นๆ จนหมดกิเลส เข้าถึงบรมสุข คือ พระนิพพาน
คำว่า “ธรรมกาย” มีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เมื่อพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาจนได้บรรลุธรรมกาย เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในกลางพรรษาที่ ๑๒ ของท่าน
หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านจึงตัดสินใจออกบวช เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ณ วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพระอาจารย์ดี วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์
ศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ
นับแต่วันแรกที่บวชท่านก็เริ่มฝึกธรรมปฏิบัติทุกวันตลอดมา ควบคู่ไปกับการเรียนคันถธุระ หลังจากบวชได้ ๗ เดือนเศษ จึงเข้ามาเรียนในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นเวลาถึง ๑๑ พรรษา จนเชี่ยวชาญภาษาบาลี เมื่อสามารถแปลคัมภีร์มหาสติปัฏฐานได้ดังที่เคยตั้งใจแล้ว จึงตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนาธุระอย่างจริงจัง
ท่านได้มีโอกาสศึกษาธรรมปฏิบัติจากพระอาจารย์หลายท่าน ดังนี้ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี, หลวงปู่เนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี, พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม กรุงเทพฯ, พระครูญานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ, พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรี ซึ่งล้วนแต่เป็นพระอาจารย์ที่ทรงคุณในทางปริยัติ ปฏิบัติ ศีลาจารวัตรงดงาม และมีลูกศิษย์มากมาย
บรรลุธรรมกาย
ในวันเพ็ญเดือน ๑๐ ระหว่างกลางพรรษาที่ ๑๒ ของหลวงปู่วัดปากน้ำ หลังกลับจากบิณฑบาต ท่านได้เข้าปฏิบัติธรรมในอุโบสถ ท่านได้หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” จนกระทั่งใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสสว่างอยู่ที่ศูนย์กลางกาย รู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก แม้ขณะช่วงฉันเพลดวงใสก็ยังคงอยู่ที่ศูนย์กลางกาย หลังจากฟังพระปาฏิโมกข์ ทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อของพระ ในช่วงเย็นท่านจึงได้มานั่งสมาธิต่อ โดยใจยังอยู่ในกลางดวงใสสว่างที่ศูนย์กลางกาย ทำใจหยุดนิ่งไปจนกระทั่งดวงสว่างใสมากยิ่งขึ้น
และมีเสียงดังมาจากดวงสว่างนั้นว่า “มัชฌิมา ปฏิปทา” พร้อมกับมีจุดสว่างใสอยู่ในกลางดวงสว่างนั้น ท่านจึงมองไปที่จุดสว่างนั้นด้วยใจที่นิ่งๆ จุดสว่างนั้นจึงค่อยๆขยายโตขึ้นมาแทนดวงเก่า ท่านจึงมองเข้ากลางจุดเล็กที่อยู่กลางดวงใส ก็ได้เห็นดวงใหม่ที่สว่างใสมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เห็นกายในกาย ที่ซ้อนอยู่ภายใน จนกระทั่งถึง “ธรรมกาย” เป็นองค์พระนั่งสมาธิเกตุดอกบัวตูม ใสสว่าง
เมื่อท่านได้มาทบทวนสิ่งที่ท่านได้เข้าถึง ทำให้ท่านได้ทราบว่า การเข้าถึงธรรมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำใจให้หยุดให้นิ่ง โดยหน้าที่ของใจ ๔ อย่าง คือ เห็น จำ คิด รู้ ต้องรวมหยุดนิ่งอยู่เป็นหนึ่งเดียว (เอกัคคตา) ต่อมาท่านจึงกล่าวสรุปไว้เป็นประโยคสั้นๆว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” และมีการรวบรวมวิธีการปฏิบัติสมาธิตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งลึกซึ้งไว้ในหนังสือ “คู่มือสมภาร” สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้
“ธรรมกาย” ในคัมภีร์เถรวาท
คำว่า “ธรรมกาย” มีปรากฏหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน เฉพาะในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาท มีคำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏอยู่มากมาย กว่า ๔๐ แห่ง อาทิ ในพระไตรปิฎก ปรากฏอยู่ในพระสูตร ๔ แห่ง, ในอรรถกามีปรากฏ ๒๕ แห่ง, ในฎีกาพระวินัยที่ชื่อว่า “สารัตถทีปนี กล่าวถึง “ธรรมกาย” ในฉบับภาษาบาลีประมาณ ๖ แห่ง, ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึง “ธรรมกาย” ๒ แห่ง, คัมภีร์มิลินทปัญหา ๑ แห่ง มีตัวอย่างดังนี้
“...ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ...เพราะคำว่าธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ธรรมภูติก็ดี พรหมภูติก็ดี เป็นชื่อของพระตถาคต...”
“...นักปราชญ์เหล่าใดมีศีลบริสุทธิ์ ....นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกชินเจ้า มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ...”
“...ชนทั้งหลายไม่อาจให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทรงแสดงพระธรรมกาย และความเป็นหน่อเนื้อรัตนะทั้งสิ้นให้กำเริบได้ ใครได้เห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า...”
“...ข้าแต่พระสุคตเจ้า รูปกายของพระองค์นี้ อันหม่อนฉันทำให้เจริญเติบโต ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลินของหม่อนฉัน อันพระองค์ทำให้เจริญเติบโตแล้ว...”
“ธรรมกาย” ในคัมภีร์ต่างๆ
คำว่า “ธรรมกาย” ยังปรากฏในแหล่งความรู้ต่างๆ อย่างน่าสนใจ อาทิ ในหนังสือ “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๓” กล่าวว่า ในศิลาจารึกหลักที่ ๕๔ พ.ศ. ๒๐๙๒ ที่จารึกไว้เป็นภาษาไทยและมคธ มีข้อความกล่าวถึงเรื่องราวของพระธรรมกายไว้, ในหนังสือ “ปฐมสมโพธิกถา” ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พระอุปคุตต์เห็นพระธรรมกาย นั่นคือ พระธรรมกายนั้นสามารถเห็นได้, ใน จารึกลานทอง กล่าวถึง “ส่วนสูงของพระธรรมกาย” ไว้ด้วย ฯลฯ
คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย
ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย โดยมติมหาเถรสมาคม ได้จัดทำหนังสือ “คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย” ซึ่งได้รวบรวมวิธีการสอนสมาธิของสำนักปฏิบัติใหญ่ ๕ สาย คือ พุทโธ อานาปานสติ ยุบพอง รูปนาม และสัมมาอรหัง ถือว่าเป็นการรับรองจากคณะสงฆ์ส่วนกลางว่า วิธีการสอนสมาธิของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นไปตามแนวสติปัฏฐาน ๔ สมควรให้สามารถปฏิบัติได้เพื่อให้ถึงธรรมที่ควรรู้ ได้แก่ สัมมาปฏิปทามรรค เป็นต้น
๑๒๘ ปี หลวงปู่วัดปากน้ำ
ในวันที่ ๑๐ ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดด้วยรูปกายของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยในปีนี้ครบ ๑๒๘ ปี และเพื่อระลึกถึงพระคุณของท่าน ศิษยานุศิษย์ได้สร้างรูปเหมือนทองคำของท่านเพื่อประดิษฐานในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยท่าน เพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าถึงวิชชาธรรมกายให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและปฏิบัติตาม ดังนี้
๑.สถานที่เกิด อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สร้างอนุสรณ์สถาน ภายในมีชีวประวัติและรูปหล่อทองคำของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
๒.วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สถานที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
๓.วัดโบสถ์ (บน) อ.บางคูเวียง จ.นนทบุรี สถานที่นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัว
๔.วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นสถานที่สอนสมาธิครั้งแรก มีพระภิกษุ ๓ รูป คฤหัสถ์ ๔ ท่านเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัว
๕.วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นสถานที่เผยแผ่สอนการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาเป็นจำนวนมาก ก่อนท่านละสังขารได้สั่งศิษย์ของท่านไว้ว่า ไม่ต้องสลายร่างท่าน ให้เก็บร่างท่านไว้ ณ วัดปากน้ำ และช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก
๖.วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ประดิษฐานรูปหล่อทองคำ ขนาด ๑ เท่าครึ่งขององค์จริง ณ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี เพื่อให้สาธุชนกราบสักการะและปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา สถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก
๓๐ กันยา ๙๕ ปี วันครูวิชชาธรรมกาย
ทุกๆ ปี ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันที่หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญบรรลุธรรม ศิษยานุศิษย์จากทั่วโลก จัดให้มีพิธีบูชาครูวิชชาธรรมกาย ด้วยการปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนา เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ ในปีนี้วันครูวิชชาธรรมกาย ครบรอบ ๙๕ ปี ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ได้จัดพิธีบูชาครูวิชชาธรรมกาย
จึงขอเชิญชวนศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญทั้งในและต่างประเทศ รวมปฏิบัติบูชาแด่ครูบาอาจารย์ในวันดังกล่าว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.dhammakaya.net, www.dmc.tv หรือโทร. ๐๒-๘๓๑-๑๐๐๐
อ้างอิง
[1] มูลนิธิธรรมกาย. คู่มือสมภาร. กรุงเทพฯ: ศิริวัฒนาอินเตอร์พรินท์, ๒๕๔๕.
[1] ธรรมทายาท. ธรรมกายในคัมภีร์เถรวาท. กรุงเทพฯ: กราฟิคอาร์ตพริ้นติ้ง, ๒๕๔๓.
[1] มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎก: พระสูตรและอรรถกถาแปล. พ.ศ. ๒๕๒๕.
[1] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร เรื่อง วาเสฏฐะภารทวาชะ.
[1] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน พุทธวรรคที่ ๑ ปัจเจกพุทธาปทาน ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
[1] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน โสภิตวรรคที่ ๑๔ อัตถสันทัสสกเถราปทานที่ ๗ ว่าด้วยผลแห่งการชมเชยพระพุทธเจ้า ๓ คาถา.
[1] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เอกุโปสถวรรคที่ ๒ มหาปชาบดีโคตรมีเถรีอปทานที่ ๗ บุพจริยาของพระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี.
[1] ศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย. คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย. นครปฐม:เพชรเกษมพริ้นติ้งกรุ๊ป, ๒๕๕๓.