พฤติกรรมและการแสดงออกภายนอกของมนุษย์

วันที่ 23 มีค. พ.ศ.2558

   

พฤติกรรมและการแสดงออกภายนอกของมนุษย์

     พระพุทธศาสนาได้จำแนกอธิบายถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาจากธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและส่วนที่เป็นจิตใจว่ามีส่วนประกอบขึ้นมาอย่างไรอะไรคือสิ่งที่มนุษย์ได้รู้สึกรับรู้สิ่งภายนอก ที่มากระทบหรือกระตุ้นจนเกิดความรู้สึกขึ้นภายในและมีการแสดงออกเป็นพฤติกรรมภายนอกซึ่งอธิบายไว้ในหมวดธรรมว่าด้วย ขันธ์ 5 ดังนี้

     หลักคำสอนว่าด้วยขันธ์ 5 นี้ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวมนุษย์ที่รับรู้หรือมีประสบการณ์ หรือก็คือการกล่าวถึงองค์ประกอบของตัวมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจว่าเกิดจากการรวมกันขึ้นขององค์ประกอบ 5 อย่าง ซึ่งทำให้เกิดการรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อันเป็นผลมาจากการได้รับรู้ใน รูป รส เสียง กลิ่น สัมผัส เป็นต้น การเกิดขึ้นและรับรู้ในประสบการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทั้งที่ดีและไม่ดี

ขันธ์ 5 ประกอบด้วย

1.รูป

2.เวทนา

3.สัญญา

4.สังขาร

5.วิญญาณ

     ที่เรียกว่า “ ขันธ์” เพราะเป็นสิ่งที่ดำเนินไปได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง 5 ทำงานร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ขันธ์ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ยังมีการดำเนินไปและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

     รูป คือ สิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปที่เป็นวัตถุประกอบกันขึ้นเป็นรูปร่างมีลักษณะต่างๆ แม้แต่ร่างกายของเราก็ถือเป็นรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนประกอบของร่างกาย เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นทวารรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น

     เวทนา คือ ความรู้สึกหรือการรับรู้ทั้งสิ่งที่เป็นความชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกเฉยๆ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งดังกล่าว ทั้งเป็นความสุข ความทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์

    สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้เกิดจากประสบการณ์ที่ได้กระทำหรือพบเห็น แล้วจะกำหนดจำในสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆดังกล่าว

    สังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่ง เป็นสภาพที่ปรุงแต่งทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจให้เกิดมีการกระทำขึ้น เช่น ทางกาย ทำให้มีการหายใจเข้าออก ทางวาจา ทำให้มีวิตกวิจาร และทางใจ ทำให้เกิดการจำได้หมายรู้และรับรู้ในอารมณ์ต่างๆ เป็นต้น

    วิญญาณ คือ การรู้แจ้งอารมณ์โดยต้องอาศัยนามรูป รูป หมายถึง รูปร่างที่ปรากฏต่างๆ ส่วนนาม หมายถึงความรู้สึก การรับรู้ตอบสนอง เกิดความสนใจและจงใจในรูปที่ปรากฏกระทบความรู้สึกนั้นถ้าไม่มีนามรูปมากระทบ ก็จะไม่เกิดการรู้แจ้งอารมณ์หรือวิญญาณเกิดขึ้น

     จากข้างต้น สามารถสรุปความตอนนี้ได้ว่า ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โดยทั้ง 5 ประการนี้ คือ ที่รับรู้ประสบการณ์และสิ่งที่มากระทบทุกอย่างโดย “ รูป” คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย พฤติกรรม และส่วนภายนอกของร่างกายที่เป็นคุณสมบัติต่างๆของร่างกายนั้น “ เวทนา” คือ ส่วนที่เป็นการรับรู้อารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งพอใจ ไม่พอใจ และทั้งสุขใจ ไม่สุขใจ หรือเฉยๆ “ สัญญา” คือส่วนที่การกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น สามารถที่จะกำหนดหรือเป็นตัวแปลความหมาย ให้รู้ว่าสิ่งที่รู้สึกนั้นเป็นเช่นไร “ สังขาร” ในที่นี้หมายรวมถึงวาจาและใจด้วย คือส่วนที่เป็นความปรุงแต่งจิตให้เกิดเป็นความคิด ตั้งคำถาม โต้แย้ง หรือมีเจตนาใดๆ ขึ้น “ วิญญาณ” คือส่วนที่เป็นความรู้แจ้งในอารมณ์ที่มากระทบผ่านมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่ง “ ใจ” ในที่นี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถรับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอื่นๆได้โดยตรง ดังนั้น “ ใจ” จึงเป็นทั้งเป้าหมาย และจุดสุดท้ายของการรู้แจ้งในอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการได้รับรู้มาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง

      ดังนั้นการจะทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้มีประสิทธิภาพและได้อย่างสมบูรณ์จะต้องเข้าใจถึงพฤติกรรม ภายนอก ทั้งการแสดงออกเพื่อให้เกิดความประทับใจภายนอก เช่น กิริยาท่าทางที่ดี มีการแต่งกายที่เหมาะสม ย่อมจะก่อให้บุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น เกิดการได้รับรู้ในรูปที่ดี หรือรส ที่ดี หรือเสียงที่ไพเราะ หรือได้กลิ่นหอมได้รับสัมผัสที่ดีเป็นต้นอันส่งผลให้เกิดความประทับใจต่อบุคคลที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั่นเอง

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013443191846212 Mins