สมถกัมมัฏฐาน

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558

 

 

สมถกัมมัฏฐาน

            สมถกัมมัฏฐานเป็นการฝึกปฏิบัติขั้นต้นในการฝึกจิต มีลักษณะและวิธีการเป็นอย่างไร มีผลที่ เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น จะได้ศึกษากันต่อไปดังนี้


ความหมายของสมถกัมมัฏฐาน

            สมถะ หมายถึง ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไป แห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์หรืออินทรีย์คือสมาธิ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ1)

            สมถะ คือ คุณธรรมอันระงับกิเลสหรือธรรมหยาบอย่างอื่นมีวิตกเป็นต้น หมายถึงสมาธิที่ เรียกว่า เอกัคคตา2)

            สมถกัมมัฏฐาน คือ อุบายหรือวิธีการที่ทำให้จิตสงบระงับจากกิเลส เครื่องเศร้าหมองเร่าร้อน ทั้งหลายจนจิตไม่มีอาการดิ้นรน ไม่กระสับกระส่าย ตลอดเวลาที่กิเลสเหล่านั้นสงบระงับอยู่3) เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สมถกัมมัฏฐาน คือ วิธีการฝึกจิตเพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ


 อารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน

            การที่จะเจริญสมถกัมมัฏฐานเพื่อให้ได้ฌาน จะต้องรักษาจิตให้มีอารมณ์เดียวตลอดเวลา จิตที่มีอารมณ์เดียว ย่อมมีกำลังมหาศาลเหมือนน้ำที่ไหลสายเดียว มีกำลังมากกว่าน้ำหลายสาย สิ่งที่ทำให้จิตเข้าไปยึดเหนี่ยวเพื่อให้เกิดความสงบ ท่านเรียกว่า อารมณ์ของสมถะ คือ วิธีที่ทำให้ใจสงบ ผู้ที่ต้องการจะบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน จะต้องศึกษาให้เข้าใจอารมณ์ของกัมมัฏฐานเสียก่อน จึงลงมือปฏิบัติได้ถูกต้องและได้ผลดี ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้แสดงอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานไว้ว่า มี 40 วิธี แบ่งเป็น 7 หมวดคือ กสิณ 10 อสุภ 10 อนุสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปกัมมัฏฐาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1

 

------------------------------------------------------------------------

1) อภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี, มก. เล่ม 75 ข้อ 30 หน้า 358.
2) อภิธัมมัตถสังคหะ และปรมัตถทีปนี, พระคันธสาราภิวงศ์ แปล, สำนักพิมพ์ตาลกุล, 2546, หน้า 795.
3) คบธรรม ธัมมานุกรม, พ.อ. ทวิช เปล่งวิทยา, 2515, หน้า 524.

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0091164350509644 Mins