ระดับของสมถะ

วันที่ 16 กค. พ.ศ.2558

 

 

 ระดับของสมถะ

 พระมงคลเทพมุนีได้แบ่งระดับของสมถะ ไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่อง “    สมาธิ” ไว้ว่ามี 2 ระดับ คือ

            1.สมาธิโดยปริยายเบื้องต่ำ ท่านถือเอาตามพระบาลีที่ว่า พระอริยสาวกในพระธรรมวินัย ทำให้ปราศจากอารมณ์ทั้ง 6 ทางตา (รูปารมณ์) ทางหู (สัททารมณ์) ทางจมูก (คันธารมณ์) ทางลิ้น (รสารมณ์) ทางกาย (โผฏฐัพพารมณ์) ทางใจ (ธรรมารมณ์) ไม่ได้เกี่ยวแก่ใจเลย ได้สมาธิในความตั้งมั่น ได้ความที่ จิตเป็นหนึ่ง

            สมาธิโดยปริยายเบื้องต่ำนี้เป็นสมถะในเบื้องต้น เป็นการเริ่มปฏิบัติธรรม เพื่อให้ใจมีความสงบใจ สบายใจในระดับเบื้องต้น แต่ใจยังไม่หยุดนิ่งเต็มที่ คือ จากเริ่มแรกเป็นการกำหนดบริกรรมนิมิต คือ สิ่งที่กำหนดในระยะแรกสุดเพื่อภาวนา ไม่ว่าจะเป็นองค์พระ ดวงแก้ว หรือวัตถุนิมิตใดๆ อันอยู่ขั้นขณิกสมาธิ เมื่อประคองรักษาสมาธิอย่างต่อเนื่อง จิตก็ตั้งมั่นเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ ก็จะเห็นบริกรรมนิมิต ติดอยู่ภายในใจเป็นมโนภาพ แม้หลับตาก็จะเห็นชัดเหมือนหรือยิ่งกว่าลืมตาเห็น คือ บริกรรมนิมิตได้เปลี่ยนเป็นอุคคหนิมิต และจากอุคคหนิมิตที่ตั้งมั่นยิ่งขึ้นจนกระทั่งเป็นอุปจารสมาธิอย่างสมบูรณ์ ก็จะเปลี่ยนเป็น ปฏิภาคนิมิต ปรากฏเป็นนิมิตใสสว่างสามารถขยายให้ใหญ่หรือย่อให้เล็กลงได้ โดยนิมิตทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ชัดเจน จากขั้นตอนตั้งแต่บริกรรมนิมิต จนถึงขั้นปฏิภาคนิมิตนี้ถือว่า เป็นสมาธิโดยปริยายเบื้องต่ำ

 

            2.สมาธิโดยปริยายเบื้องสูง เมื่อใจจรดอยู่ที่ศูนย์กลางกายถูกส่วนแล้ว ความทะยานอยาก ทั้งหลายก็จะดับหายไป ใจที่ปล่อยวางจากสิ่งภายนอกจะดิ่งกลับไปที่ฐานที่ตั้งดั้งเดิม คือ ศูนย์กลางกายฐาน ที่ 7 เมื่อใจติดแน่นกับดวงใสที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 (ปฏิภาคนิมิต) ใจหยุดถูกส่วนจะตกศูนย์ลงไปที่ฐาน ที่ 6 รวมกับดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ขนาดเท่าไข่แดงของฟองไข่ไก่ แล้วลอยขึ้นมาเป็นดวงใสสว่าง อย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางเท่ากับพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่เท่ากับพระอาทิตย์ ตอนเที่ยงวัน ดวงนี้เรียกว่า ดวงปฐมมรรค เป็นต้นทางของทางสายกลาง หรือเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติ-ปัฏฐาน เพราะเกิดจากการตั้งสติกำหนดพิจารณาเห็นธรรมภายใน หรือเรียกว่า เอกายนมรรค เพราะเป็นทางเอกสายเดียวที่จะดำเนินใจผ่านเข้าไปถึงพระนิพพานได้ สมาธิที่เกิดขึ้นเป็นสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ คือ ปฐมฌาน มีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ปฐมมรรคนี้เป็นจุดเริ่มของสมาธิในปริยาย เบื้องสูง

 

 

------------------------------------------------------------------------

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0030442516009013 Mins