เหตุที่มีจริตต่างกัน

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2558

 

เหตุที่มีจริตต่างกัน

            สาเหตุที่มนุษย์มีจริตต่างกัน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า จริต 3 อย่างข้างต้น คือ ราคจริต โทสจิต และโมหจริต เกิดจากเหตุ 2 อย่าง คือ จากสิ่งที่สั่งสมทับซ้อนมาช้านาน และความวิปริตทางร่างกาย และในคัมภีร์วิมุตติมรรค1) อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า อีกสาเหตุหนึ่ง เนื่องมาจากภพภูมิก่อนมาเกิด จึงรวมความ ได้ว่า สาเหตุที่มนุษย์มีจริตต่างกัน ก็เนื่องมาจากการบำเพ็ญบุญกุศลแต่ชาติปางก่อน ภพภูมิก่อนมาเกิด ธาตุทั้ง 4 ที่ประกอบขึ้นเป็นกายเนื้อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้มีจริตที่ไม่เหมือนกันใน ชาติปัจจุบัน

            1.ในขณะบำเพ็ญบุญกุศลจิตปรารภในการมีหน้ามีตา มีชื่อเสียง ได้เสวยมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวตัณหา ราคะ ครุ่นคิดไปในการถือว่าเป็นตัวตนเราเขา อันเป็นตัวทิฏฐิ กุศล ที่เจือไปด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีราคจริต อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่จุติมาจากสวรรค์ เสวยกามคุณจนคุ้นเคย เมื่อทำบุญจึงปรารภเหตุ ที่เป็นกามเสียส่วนมาก หรือผู้ที่จุติมาจากเปรต จากอสุรกาย โดยมากเป็นผู้ที่มีราคจริต ผู้ที่มีราคจริต ธาตุทั้ง 4 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) และวาโยธาตุ (ธาตุลม) มีกำลังเสมอทัดเทียมกัน

 

             2.ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุศลนั้น เกิดมีความขุ่นเคือง เสียใจ เสียดาย อิจฉาริษยา รำคาญ เกิดขึ้นในใจด้วย กุศลที่เจือปนกับโทสะ มัจฉริยะ (ตระหนี่) อิสสา (อิจฉา) กุกกุจจะ (รำคาญใจ) เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีโทสจริต อีกนัยหนึ่ง เคยเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมมากไปด้วยการฆ่า การทำลาย การจองจำมาในชาติก่อน หรือว่าจุติมาจากนรกนั้น โดยมากเป็นผู้ที่มีโทสจริต ผู้ที่มีโทสจริตนั้น เตโชธาตุและวาโยธาตุ มีกำลังมาก

 

            3.ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุศล ทำไปโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลในการกระทำ เพียงแต่ทำไป ตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา ทำไปตามสมัยนิยม หรือเกิดสงสัยในผลของบุญกุศลนั้นขึ้นมา บางทีก็คิดฟุ้งไปในเรื่องอื่น จิตใจไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลที่กำลังทำนั้นเลย กุศลที่เจือปนด้วยโมหะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีโมหจริตอีกนัยหนึ่ง ผู้ที่ชาติก่อนเพลิดเพลินในการดื่มน้ำเมาเป็นนิจ ไม่ชอบศึกษา ไม่ไต่ถามสนทนากับ บัณฑิต หรือจุติมาจากสัตว์ดิรัจฉาน โดยมากมักเป็นผู้ที่มีโมหจริต ผู้ที่มีโมหจริตนั้น ปฐวีธาตุและอาโปธาตุมีกำลังมาก

 

            4.ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุศล มัวแต่ไปนึกถึงความเพลิดเพลินในเรื่องกามคุณ อารมณ์อันเป็นกามวิตก คิดในทางเกลียดชังปองร้ายผู้อื่นอันเป็นพยาบาทวิตก หรือคิดไปในทางเบียดเบียนทำลาย ความสุขผู้อื่นให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ อันเป็นวิหิงสาวิตก บุญกุศลที่เจือปนด้วยอาการอย่างนั้น ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีวิตกจริต

 

            5.ในขณะที่บำเพ็ญบุญกุศล มากด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ตลอดจนความเลื่อมใส ที่เกิดเพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม (รูปปฺปมาณ) เพราะเห็นความประพฤติเรียบร้อยเคร่งในธรรมวินัย (ลูขปฺปมาณ) เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ (โฆสปฺปมาณ) เพราะได้สดับตรับฟังธรรมของ ผู้ที่ฉลาดในการแสดงธรรม (ธมฺมปฺปมาณ) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นศรัทธาทั้งนั้น บุญกุศลที่มั่น ในศรัทธาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีสัทธาจริต

 

            6.ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ได้ระลึกนึกคิดด้วยว่า การทำดีย่อมได้รับผลดี การทำชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว ตัวจะต้องได้รับผลไปตามกรรมนั้นๆ สัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนตัวเราเองสักแต่ว่าเป็นรูปเป็นนาม มีความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องแตกดับไป ไม่มีตัวมีตนที่จะบังคับบัญชา ให้เป็นไปอย่างที่ใจปรารถนาได้ อันเป็นวิปัสสนาปัญญา หรือแม้แต่เพียงตั้งใจปรารถนาว่าด้วยอำนาจแห่งกุศลผลบุญนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ได้เกิดเป็นคนมีปัญญาต่อไป เหล่านี้เป็นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีพุทธิจริต พุทธิจริตนี้บ้างก็เรียกว่า ปัญญาจริต

 

สาเหตุที่มีจริตต่างกันสามารถสรุปเป็นตารางได้ดังต่อไปนี้

(ต่อ)

 

------------------------------------------------------------------------

1) วิมุติมรรค (หน้า 58.)

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013591329256694 Mins