ทัสสนะ ลักษณะการสังเกตดู

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2558

 

ทัสสนะ ลักษณะการสังเกตดู

            ราคจริต ตามธรรมดาเมื่อได้เห็นรูปสวยงาม ต้องตาต้องใจตน หรือได้ฟังเสียงไพเราะ ดมกลิ่นหอม ลิ้มรสที่ถูกใจ ได้เครื่องสัมผัสละเอียดอ่อน ต้องกับรสนิยมของตัว แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ธรรมดา ซึ่งสำหรับคนอื่นแล้วไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก แต่เขามีความสนใจอย่างลึกซึ้ง เกิดความ พออกพอใจอย่างจริงจัง เหมือนกับเกิดความพิศวงงงงวยอย่างเหลือเกิน มีอาการราวกับว่าไม่เคยพบเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อน แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ไม่ถือสา ไม่หยิบยกขึ้นมาเป็นผิดหรือถูกแต่อย่างใด คงติดในคุณภาพแม้เพียงน้อยนิดที่มีอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมปล่อยวาง ยังตามดู ตามฟัง หรือหากว่าตนจำเป็นต้องจากสิ่งเหล่านั้นไป ก็จากไปด้วยความอาลัยอาวรณ์อย่างลึกซึ้ง บางทีถึงกับต้องหันหลังกลับมามองแล้วมองอีกด้วยความเสียดายก็มี

 

            โทสจริต ตามธรรมดาเมื่อได้เห็นรูปที่ไม่สวยงาม ไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจแห่งตน หรือได้ฟังเสียง ที่ไม่ค่อยไพเราะ ได้กลิ่นที่ไม่หอม ได้รสที่ไม่ถูกใจ ได้สัมผัสที่หยาบ ซึ่งไม่ต้องกับรสนิยมของตัว แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยธรรมดา ไม่หนักไม่หนา ซึ่งสำหรับคนอื่นแล้วไม่ค่อยมีความสำคัญแต่อย่างใด แต่สำหรับ ผู้มีโทสจริตแล้ว กลับรู้สึกหงุดหงิดใจเป็นอย่างยิ่ง และมีอาการเหมือนคนบ้าดีเดือด ซึ่งปราศจากเหตุผล ไม่อยากดู ไม่อยากฟัง ไม่อยากแตะต้อง ถ้ามีข้อบกพร่องประกอบอยู่บ้างแม้เพียงนิดหน่อยในสิ่งเหล่านั้น ก็จะยกเอามาเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดเคืองใจ ไม่นึกถึงความดีแม้มีอยู่มากมาย เมื่อสิ่งเหล่านั้นผ่านเลยไป ก็ไม่รู้สึกเสียดาย เมื่อตนจำเป็นต้องจากหรือหลีกไป ก็ใคร่ที่จะพ้นออกไปอย่างเดียว ไม่มีการแลเหลียว คิดห่วงหน้าพะวงหลัง หรืออาลัยอาวรณ์ในสิ่งเหล่านั้นแม้สักนิดก็ไม่มี

 

            โมหจริต ตามธรรมดาเมื่อได้เห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่ารูปนั้นจะสวยงามหรือไม่สวยงาม ก็ตาม มักจะไม่มีความคิดเห็นต่อรูปนั้นแต่อย่างใด ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ตนเองก็เป็นคนเฉยๆ ซึมๆ ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยสนใจอะไรกับใครเขา ต่อเมื่อมีผู้อื่นให้ความเห็นหรือออกเสียงหนุนข้างใดขึ้นมา จึงจะมีความเห็นคล้อยตามเขาไป เป็นบุคคลที่ตกอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า มีบุคคลอื่นเป็นปัจจัย คนอื่นใครเขาว่าดีก็พลอยว่าดีไปกับเขาด้วย คนอื่นเขาออกปากชมก็พลอยชมกับเขาด้วย ถ้าคนอื่นเขาออกปากติก็พลอยติกับเขาด้วย แม้ในอารมณ์อื่นๆ คือ การได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส และได้สัมผัส ผู้เป็นโมหจริต ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ กล่าวคือ มีผู้อื่นเป็นปัจจัยทั้งสิ้น ต้องอาศัยผู้อื่นทุกอย่าง

 

            วิตกจริต เช่นเดียวกับโมหจริต

            สัทธาจริต เช่นเดียวกับโทสจริต

            พุทธจริต เช่นเดียวกับราคจริต

 

------------------------------------------------------------------------

จากหนังสือ DOUMD 305  สมาธิ 5

หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013933142026265 Mins