ผู้เปิดเผยกรรม

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2558

 

ผู้เปิดเผยกรรม

            ในตอนต้นของบทที่ 1 ได้ยกพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ตรัสอุทานว่า ได้ทรงค้นพบทรงทอดพระเนตรเห็นศัตรูที่แท้จริงของหมู่สัตว์ ผู้บงการอยู่ฉากหลังบังคับบัญชาหมู่สัตว์ด้วยเครื่องมือคือกิเลส เป็นเหตุให้สร้างกรรมอันเป็นผลทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่นาน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นวงจรสังสารวัฏในวันตรัสรู้ธรรม เพราะทรงบรรลุวิชชา 3 ดังนี้

            ปฐมยาม ยามต้นแห่งราตรี บรรลุวิชชาที่ 1 ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติหนหลังของพระพุทธองค์เอง(อตีตังสญาณ) ตรวจดูอดีตชาติด้วยธรรมจักษุ จึงได้รู้ว่าเคยเวียนเกิดเวียนตายมาแล้วนับไม่ถ้วน เคยเกิดมาแล้วทุกอย่างตั้งแต่ยาจกจนถึงพระราชา ถ้าจะเอากระดูกมากองรวมกันมีมากกว่าภูเขาเสียอีก หรือเอาเลือดที่หลั่งไหล น้ำตาที่นองหน้ามารวมกัน ก็ยังมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร

 

            มัชฌิมยาม ท่ามกลางแห่งราตรี บรรลุวิชชาที่ 2 จุตูปปาตญาณ คือ กำหนดรู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ทรงเห็นการไปเกิดมาเกิดการเวียนตายเวียนเกิดของสรรพสัตว์ด้วยธรรมจักษุว่า เป็นไปตามกรรม ทำให้ถือกำเนิดต่างกัน บ้างถือกำเนิดต่ำทรามเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี เปรตอสุรกายก็มี มีผิวพรรณหยาบ ทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิต บ้างตัวถือกำเนิดประณีต เป็นมนุษย์ก็มี เทวดาก็มี มีผิวพรรณดีอ่อนละมุน มีความเป็นอยู่ดี ณ ตรงจุดนี้เองที่พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งเรื่องราวกฎแห่งกรรมของหมู่ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่ากรรมคือเบื้องหลังที่จำแนกหมู่สัตว์ให้มีความแตกต่างกัน ยิ่งแตกต่างกันมากเท่าไรยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกันทางความคิด คำพูด การกระทำ

 

            ปัจฉิมยาม ที่สุดแห่งราตรี บรรลุวิชชาที่ 3 อาสวักขยญาณ คือ ทำลายอาสวกิเลสของพระองค์ให้หมดสิ้นไป บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 4 แห่งภัทรกัปนี้ ทรงเป็น สัพพัญญู เป็นที่พึ่งพิงแห่งสัตวโลก ทรงอาศัยพระมหากรุณาธิคุณต่อหมู่สัตว์ นำมาบอกเล่าให้ฟังว่า ชีวิตหลังความตายยังมีภพชาติเกิดขึ้น เพราะกรรมและการให้ผลแบ่งแยกหมู่สัตว์ไปนรกบ้างไปสวรรค์บ้าง ทำอย่างไรจึงไปนรก ทำอย่างไรจึงไปสวรรค์ ทรงบอกหมดไม่ปิดบังไม่หวงความรู้ เพราะว่าตลอด 20 อสงไขยกัป กับเศษอีกแสนกัป ทรงบำเพ็ญเพียรมุ่งตรงต่อหนทางการตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการ เพื่อยกตนและหมู่สัตว์ให้หลุดพ้นจากวงจรสังสารวัฏนี้ 

 

เวลากลางคืนสมัยโบราณแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 4 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความเข้าใจจึงต้องเทียบกับเวลาปัจจุบัน ดังนี้

  • ปฐมยาม เวลาโดยประมาณ 18.00-22.00 น.
  • มัชฌิมยาม เวลาโดยประมาณ 22.00-02.00 น.
  • ปัจฉิมยาม เวลาโดยประมาณ 02.00-06.00 น.

-------------------------------------------------------------------
 

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017260801792145 Mins