โมหะ แปลว่า ความหลง ความโง่เขลา

วันที่ 15 กย. พ.ศ.2558

 

 โมหะ แปลว่า ความหลง ความโง่เขลา

 

 พุทธภาษิตสอนใจ 

     โมหะ แปลว่า ความหลง ความโง่เขลา

       หรือเรียกด้วยศัพท์ชั้นสูงอีกอย่างว่า “อวิชชา” ซึ่งหมายถึง ความไม่รู้ตามที่เป็นจริง เป็นภาวะที่ขาด “ปัญญา” หมายถึง ในขณะที่หลงผิด หรือถูกอวิชชาครอบงำ ไม่มีปัญญาเข้ามาช่วยเลย คิดไปเองตามอำนาจของกิเลส คือ โมหะ 

      โมหะ หรือความหลงนี้ เกิดจากความคิดเห็นที่ผิด หรือความคิดเห็น ที่ไม่ได้ใช้ปัญญาไตร่ตรอง หรือพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ เป็นคนมีความคิดที่มืดมน คิดอย่างละเอียดไม่ออก ก็ทำไปตามความคิดสั้นๆ จนทำให้เกิดการกระทำที่ผิด เสียหาย และเสียคนไปเลย 

         ดังพุทธภาษิตที่ว่า “มูฬฺโห อตฺถํ น ชานาติ มูฬฺโห ธมฺมํ น ปสฺสติ อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โมโห สหเต นรํ แปลว่า ผู้หลงย่อมไม่รู้อรรถ ผู้หลงย่อมไม่เห็นธรรม ความหลงครอบงำคนใด เมื่อใด ความมืดมิดย่อมมีเมื่อนั้น” 

          โมหะ หรือความหลงผิด มีลักษณะหลายอย่าง เช่น 

   (๑) หลงเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ศรัทธาจริต) จึงยึดเป็นที่พึ่ง และเชื่อเอาเป็นเอาตาย ให้ทำอะไรก็ทำ 

   (๒) หลงเชื่อคนง่าย (หูเบา) ใครหว่านคารมอะไรมา ก็เชื่อไปหมด จนตกเป็นทาส หรือเป็นเหยื่อไปเลย 

   (๓) หลงติดอบายมุขต่างๆ เช่น ยาเสพติด การพนัน เป็นต้น 

   (๔) หลงทำผิดต่างๆ ไปตามอารมณ์ และสถานการณ์ จนทำให้เกิดความเสียหาย 

   (๕) หลงเชื่อตนเอง คิดว่าตัวเองดี และเก่งแต่เพียงผู้เดียว จนไม่ยอมฟังใคร เมื่อใครดีกว่า ก็เกิดอาการริษยา 

   (๖) และความหลงอื่นๆ อีกมากมาย

        ดังนั้น โมหะ จึงเป็นกิเลส ที่อันตรายต่อความคิด และการตัดสินใจมาก ท่านจึงให้แก้ด้วยสติ (รู้ตัว) สมาธิ (ตั้งใจจริง) และปัญญา (รอบรู้ตามเหตุตามผล) 

         โมหะ เป็นกิเลส ที่ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน ทางหน้าตาและการกระทำ เหมือนกับโลภะ (ความโลภ) และ โทสะ (ความโกรธ) จึงต้องระวังให้ดี เพราะมันเข้ามาทางใจ

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011659145355225 Mins