ความสะอาดเป็นความดีสากล
ความสะอาดเป็นความดีสากล ไม่ว่าชนชาติใด ศาสนาไหน ล้วนชื่นชมความสะอาดทั้งสิ้น อานิสงส์ของความสะอาดมีมากมายดังมีตัวอย่างปรากฎในพระไตรปิฎกหลายเรื่อง เช่น เรื่องของพระปุสสเทวเถระ(พระวินัยปิฎก มก. ล.8 น.556 )
เรื่องมีอยู่ว่า
พระปุสสเถระอยู่ที่กาฬนทกาฬวิหาร ทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดลานเจดีย์ ทุกวันท่านจะกวาดลานเจดีย์ด้วยใจที่เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันหนึ่งมีมารแปลงเป็นลิงดำแกล้งทำลานเจดีย์ให้สกปรก พระเถระจึงได้ทำความสะอาดให้เหมือนเดิม วันที่สองมารก็แปลงเป็นโคมาทำสกปรก วันที่สามแปลงเป็นคนขาเป๋มาทำสกปรก พระเถระก็เห็นดังนั้นจึงสอบถามและรู้ว่าเป็นมาร ท่านจึงให้มารเนรมิตเป็นพระพุทธเจ้าให้ดู มารต้องการแสดงฤทธิ์จึงแปลงเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระเถระเห็นแล้วจึงคิดว่า มารนี้มากไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ยังงามถึงเพียงนี้ พระพุทธเจ้าทรงปราศจากราคะ โทสะ โมหะ จะทรงงามเพียงไร จึงเกิดปีติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ได้เจริญภาวนาแล้วบรรลุพระอรหันต์ในที่สุด
ในสมัยหลวงปู่วัดปากน้ำก็มีเรื่องความสะอาดที่นำพาให้บรรลุธรรม คือ เรื่องของคุณยายทองสุก สำแดงปั้น ท่านนั่งธรรมะไม่ก้าวหน้าจึงได้นำกระโถนทั้งหมดในวัดปากน้ำมาขัดทำความสะอาด พอขัดเสร็จก็มาตรึกธรรมะจนเข้าถึงพระธรรมกายในที่สุด จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่เราทำความสะอาดภายนอกก็จะมีผลทำให้จิตใจข้างในเราสะอาดไปด้วย เราทำครั้งหนึ่ง ใจเราก็สะอาดขึ้นครั้งหนึ่ง ถ้าเราทำบ่อยๆ ใจของเราก็จะสะอาดขึ้นบ่อยๆไปด้วย โดยเฉพาะถ้าเราทำความสะอาดศาสนสถาน สถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติธรรมเราก็จะได้บุญพิเศษเพิ่มขึ้นด้วยเพราะถือว่าเป็นการดูแลรักษาสมบัติพระศาสนา บุญนี้ก็จะส่งผลให้ต่อไปภัยต่างๆก็ไม่สามารถมาทำอันตรายต่อสมบัติของเราได้
ที่วัดพระธรรมกายก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดคุณยายอาจารย์ท่านได้ปลูกฝังเรื่องความสะอาดให้แก่ลูกศิษย์ของท่านมาตลอดจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงคุณยายอาจารย์ หรือวัดพระธรรมกาย เราก็มักจะนึกถึงความสะอาดเป็นเรื่องแรกๆเสมอ
เพราะฉะนั้นผู้นำบุญหรือเจ้าหน้าที่ ทุกท่านก็ต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้เกิดขึ้น โดยช่วยกันเป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่สาธุชนที่มาปฏิบัติธรรม ให้เขาได้รับการปลูกฝังเรื่องการรักษาความสะอาดนี้เหมือนกับเราด้วย (บทเทศน์วันเสาร์ที่ 27 ก.ค. 56)
พระมหาธัญสัณห์ กิตฺติสาโร
วันเสาร์ที่ 17 ม.ค. 2558 (ศูนย์ปฏิบัติธรรมบันไดแก้ว)