คณกโมคคัลลานสูตร ข้อปฏิบัติตามลำดับเพื่อใจหยุด

วันที่ 24 กย. พ.ศ.2558

 

คณกโมคคัลลานสูตร

ข้อปฏิบัติตามลำดับเพื่อใจหยุด


            ข้อปฏิบัติทั้ง 6 ขั้นตอนที่ได้ศึกษาผ่านมา ล้วนมีแบบแผนและความละเอียดอ่อนลุ่มลึกไปตามลำดับจากง่ายไปสู่ยาก โดยมีจุดมุ่งหมายของการฝึกอยู่ที่การประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง เป็นสมาธิ จนเกิดปัญญาเป็นความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงในที่สุดการฝึกตามขั้นตอนทั้ง 6 ช่วยทำให้ใจหยุด เป็นสมาธิ จนเกิดปัญญาได้อย่างไร เราสามารถอธิบายความเกี่ยวข้องของขั้นตอนทั้ง 6 ได้ ดังนี้

 

 ขั้นตอนที่ 1 "สำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์"
การสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์ คือการฝึกฝนตนเองให้รู้จัก "ควบคุมกายและวาจา" ไม่ให้ไปทำความชั่วใดๆ ซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญสมาธิภาวนาต่อๆ ไป เพราะหากตนเองไม่มีศีลไว้รักษากายและวาจาให้เป็นปกติแล้ว ก็ยากที่จะรักษาใจให้เป็นปกติ จนหยุดนิ่ง เป็นสมาธิได้ เหมือนพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ใน หิริสูตร ว่า


"เมื่อไม่มีศีลสัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีศีลวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด
เมื่อไม่มีสัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณทัสนะ ของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ
ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด..."

 

ขั้นตอนที่ 2 "คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย"
เมื่อควบคุมกายและวาจาให้เป็นปกติได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไป พระภิกษุจึงจะเริ่มฝึกควบคุมใจให้อยู่ภายในตัว ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน คุมพิยชาดก ว่า "กามคุณนี้ชื่อว่าเป็นเหยื่อของสัตวโลกและชื่อว่าเป็นเครื่องผูกมัดสัตวโลกไว้" เพราะกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสทางกายที่น่าพอใจ จะคอยดึงดูดใจให้ซัดส่าย ไม่หยุดนิ่ง ไหลออกไปติดอยู่กับกามคุณนั้นๆการคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า อินทรียสังวร จึงเป็นขั้นตอนการฝึกที่จะช่วย"ประคับประคองใจ" ไม่ให้ไหลออกไปเกาะกับสิ่งล่อใจนอกตัว มี รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัสเป็นต้น โดยพยายามควบคุมอินทรีย์ของตนเองไว้ ด้วยการรู้จักเลือกที่จะใช้ "ตาไปดูรูป" "หูไปฟังเสียง" "จมูกไปดมกลิ่น""ลิ้นไปรับรส" "กายไปสัมผัส" และ "ใจไปคิดถึงอารมณ์" โดยมีหลักว่า ถ้าดู หรือฟัง หรือดม ฯลฯสิ่งใดแล้วกุศลธรรมเจริญขึ้นก็ให้ดู ฟัง ดม ฯลฯ ได้ แต่ถ้าเป็นเหตุให้อกุศลธรรมเจริญขึ้น ก็ให้ละเว้นเสีย ด้วยวิธีการอย่างนี้ ใจก็จะไม่ไปติดอยู่กับสิ่งนอกตัว เมื่อใจไม่ซัดส่ายไปไหน ก็จะกลับมาตั้งมั่นอยู่ในกายภายในซึ่งจะเกื้อกูลให้การฝึกสมาธิทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 3 "รู้จักประมาณในโภชนะ"
เมื่อควบคุมใจของตนเองไม่ให้ไหลออกไปกับสิ่งนอกตัวได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการเตรียมร่างกายให้แข็งแรง มีความพร้อม และเหมาะสมที่จะรองรับการเจริญสมาธิภาวนาให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป การรู้จักประมาณในอาหาร จึงมีความสำคัญ เพราะเมื่อบริโภคเข้าไป ก็จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยตรงทันที เช่นหากบริโภคจนอิ่มเกินไป ก็จะทำให้อึดอัด หรืออาหารไม่ย่อย เกิดความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อเจริญสมาธิภาวนา ก็จะทำให้หลับง่าย แต่หากบริโภคน้อยเกินไป ก็จะทำให้หิว กระสับกระส่าย ไม่สบายตัว เป็นต้นการรู้จักประมาณในโภชนะจึงมีความสำคัญ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงคุณของการบริโภคอาหารไว้ดังนี้


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉัน
อาหารในเวลาภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มี
โรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ"


            การบริโภคอาหารแต่พอดี จะทำให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เหมาะสมกับการเจริญสมาธิภาวนาต่อไป ซึ่งการที่ประมาณได้นั้น ก็เพราะหมั่นฝึกฝนอินทรียสังวรมาก่อนเป็นอย่างดี คือ รู้จักตัดสินใจได้ว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ควรบริโภคอย่างไร ซึ่งมีหลักการดังที่พระสารีบุตรให้ไว้ว่า


"ภิกษุเมื่อบริโภคอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจ
(ในรสอาหาร) จนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ
มีสติอยู่ เมื่อบริโภคอาหารอีก 4  5 คำจะอิ่ม ควรงดอาหารนั้นเสีย
แล้วดื่มน้ำตาม จึงเป็นการสมควร เพื่อความอยู่สบายของภิกษุ"

 

ขั้นตอนที่ 4 "ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นอยู่"
เมื่อร่างกายมีความเบาสบาย พอเหมาะแก่การทำความเพียรอย่างเต็มที่ได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไปพระภิกษุต้องทำความเพียรพยายามให้ยิ่งขึ้นไป ด้วยการนำใจที่เคยซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ ภายนอกตัวให้กลับมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งเป็นที่ตั้งถาวรของใจให้ได้ โดยต้องทำความพยายามเรื่อยไป เพื่อให้ใจคุ้นกับการอยู่ภายในตัวสำหรับนักปฏิบัติธรรม ก็คือการ "สั่งสมชั่วโมงหยุดสั่งสมชั่วโมงนิ่ง" ให้ได้มากที่สุดนั่นเองขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำได้ยาก เพราะใจจะคุ้นกับการออกไปอยู่นอกตัวเสมอ ฉะนั้นหากพระภิกษุไม่ได้ฝึกอินทรียสังวรมามากพอ หรือขาดความพร้อมทางร่างกาย ก็คงจะฝึกในขั้นตอนนี้ไม่ได้อย่างแน่นอนแต่ถ้าฝึกมาได้ดี ขั้นตอนต่อจากนี้ก็คือทำความพยายามเรื่อยไป เพื่อให้ใจคลายจากกิเล เครื่องล่อใจทั้งปวง
ใจก็จะกลับเข้ามาตั้งมั่นในศูนย์กลางกายได้บ่อยขึ้น และยิ่งฝึกปฏิบัติมากเท่าไรใจจะมีโอกาสตั้งมั่นและหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้มากเท่านั้น

 

ขั้นตอนที่ 5 "ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ"
จากการรู้จักสำรวมกาย วาจาให้เป็นปกติ รู้จักคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักการประมาณในการบริโภค และรู้จักการให้เวลาในการทำภาวนา ไม่เห็นแก่การนอนแล้ว ใจก็ย่อมได้รับการประคับประคองมาอย่างดี วนเวียนใกล้ศูนย์กลางกายได้นาน เป็นสมาธิมากขึ้น ในขั้นต่อไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแนะนำให้มีสติสัมปชัญญะ คือ มีความระลึกได้ และรู้ตัวในอิริยาบถต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในทางปฏิบัติจะหมายความว่า ต้องมีสติตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายที่เดียวให้ได้ในทุกอิริยาบถ

 

ขั้นตอนที่ 6 "เสพเสนาสนะอันสงัด"
เมื่อฝึกใจให้อยู่ที่กลางกายในทุกอิริยาบถได้ดีแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแนะนำให้หาสถานที่อันสงบ เพื่อฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องจริงจัง โดยทรงให้แนวทางไว้ว่า "เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาอาหารแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า" เท่ากับว่าทรงให้วางภารกิจอื่นที่ไม่สำคัญออกไปเมื่อฉันภัตตาหารพออิ่มสบาย ก็ให้หาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับนั่งสมาธิเจริญภาวนาแต่เพียงอย่างเดียวด้วยวิธีนี้ พระภิกษุจึงมีเวลาฝึกใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้มาก เพราะนอกจากจะปลอดจากภารกิจทั้งหลาย ยังอยู่ในอิริยาบถนั่งหลับตา นำใจน้อมมาอยู่แต่ภายในตัวอย่างเดียวสิ่งล่อให้ใจไหลออกไปภายนอกก็ไม่มี หากพระภิกษุได้ฝึกปฏิบัติอย่างนี้ต่อเนื่องทุกวันๆ ใจของท่านย่อมตั้งมั่น หยุดนิ่งได้สนิท จิตก็สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสหลุดพ้นจากนิวรณ์ได้ และหากปฏิบัติเรื่อยไป ย่อมกำจัดกิเลสทั้งปวงได้ในไม่ช้า

            นิวรณ์ 5
นิวรณ์ คือ กิเลสที่ปิดกั้นใจไม่ให้บรรลุความดี ไม่ให้ก้าวหน้าในการเจริญภาวนา ทำให้ใจซัดส่ายไม่ยอมหยุดนิ่งเป็นสมาธิ มี 5 ประการ ได้แก่


1. กามฉันทะ คือ ความหมกมุ่น ครุ่นคิด เพ่งเล็งถึงความน่ารักน่าใคร่ในกามคุณ อันได้แก่ รูป รส
กลิ่น เสียงสัมผัสหากใจยังติดในรสของกามคุณ ก็ย่อมไม่สามารถทำใจให้หยุดได้
2. พยาบาท คือ ความคิดร้าย ความรู้สึกไม่ชอบใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ได้แก่ ความขุ่นใจ ความ
ขัดเคืองใจ ความไม่พอใจ ความโกรธ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้ใจซัดส่าย ไม่เป็นสมาธิ
3. ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ ความง่วงเหงา ซึมเซา ขาดกำลังใจและความหวังในชีวิต ขาดวิริย
อุตสาหะในการทำสิ่งต่างๆ ได้แต่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปเรื่อยๆ จึงไม่สามารถรวมใจให้เป็นหนึ่งได้
4. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ อันเกิดจากการปล่อยใจให้หลุดไปนอกตัว เกิด
ความคิดปรุงแต่งเรื่อยไป ทำให้ใจซัดส่ายไม่อยู่นิ่ง ไม่เป็นสมาธิ
5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ จึงเกิดคำถามขึ้นในใจตลอดเวลา เช่นสงสัยใน
พระรัตนตรัย ก็ย่อมไม่สามารถทำใจให้หยุดนิ่งได้


            เพราะ (1) "กามฉันทะ" อยากได้ในกามคุณทั้งหลายตามที่ตนปรารถนา เมื่อไม่ได้สิ่งนั้นมา ก็จะเกิดความขัดเคืองใจ ไม่พอใจ กลายเป็น (2) "ความพยาบาท" ตามมา หรือหากได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ก็คิดหวงแหน ไม่อยากให้ใครมาแย่งชิงเอาไป เมื่อสิ่งนั้นเสื่อมสลายหรือถูกคนอื่นลักไป ก็ขัดเคือง ไม่พอใจพยาบาทก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ใจที่พยาบาท มุ่งร้าย วนเวียนในอารมณ์โกรธเป็นประจำนี่เอง ทำให้เหนื่อยล้าไม่แช่มชื่นสดใสทำให้โอกาสที่ (3) "ถีนมิทธะ" คือ ความหดหู่ ซึมเซา ขาดกำลังใจเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อขาดกำลังใจ ขาดความหวังในชีวิต ใจย่อมเลื่อนลอย เกิด (4) "อุทธัจจกุกกุจจะ" ความคิดฟุ้งซ่าน ตามมา เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งใจไปในเรื่องราวทั้งหลาย ย่อมมีโอกาสเกิดความลังเล ไม่แน่ใจสงสัยในเรื่องราวความจริงของชีวิต กลายเป็น (5) "วิจิกิจฉา" ความลังเลสงสัย ที่จะคอยขวางกั้นคุณธรรมความดีไม่ให้เกิดขึ้น เพราะความไม่เชื่อมั่น ความลังเลสงสัย บาปอกุศลทั้งหลายจึงได้โอกาสครอบครองใจให้ตกต่ำไปตามอำนาจของอกุศลธรรม บังคับใจให้คิด พูด ทำในสิ่งที่ไม่ดี ใจจึงไม่มีวันหยุดนิ่ง เป็นสมาธิได้เลยการฝึกฝนตัวเองของพระภิกษุตามอย่างขั้นตอนของคณกโมคคัลลานสูตร จึงเป็นการป้องกันและกำจัดนิวรณ์ทั้ง 5 ประการได้เป็นอย่างดี จนสามารถควบคุมใจ รวมใจให้หยุดนิ่ง เป็นสมาธิได้ จนได้
รับผลของการปฏิบัติไปตามกำลังของตน ตั้งแต่การเข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนถึงการบรรลุอรหัตผล หมดกิเลสอาสวะ ทำพระนิพพานให้แจ้งได้ 

            การปฏิบัติตัวตามขั้นตอนของคณกโมคคัลลานสูตรนี้ จึงเป็น "ขั้นตอนการฝึก" ตัวเองที่จะช่วยประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง เป็นสมาธิ เกิดปัญญา ที่จะใช้กำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น บรรลุพระนิพพานที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของการออกบวช

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0065958142280579 Mins