การแสวงหาปัญญา

วันที่ 29 กย. พ.ศ.2558

การแสวงหาปัญญา


            เมื่อทราบว่าการฟังมีประโยชน์อย่างนี้ จึงเป็นหน้าที่ของพระภิกษุต้องหมั่นเข้าหาผู้ที่จะแนะนำธรรมะให้ตนเองได้ เพราะการฟังเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปัญญาวุฑิสูตร ว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม 4 ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเจริญปัญญาธรรม 4 ประการเป็นไฉน คือ
(1) ปฺปุริสสํเสโว คบสัตบุรุษ
(2) ทฺธมฺมสฺสวนํ ฟังพระสัทธรรม
(3) โยนิโสมนสิกาโร ทำในใจโดยแยบคาย
(4) ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม"

 

จากพระดำรัสดังกล่าวทำให้ทราบว่า เหตุที่ทำให้เรามีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในเรื่องที่ได้ศึกษา ก็คือการปฏิบัติตามหลักธรรม 4 ประการ คือ
1. การคบสัตบุรุษ หมายถึงการหมั่นเข้าหาคนดี มีคุณธรรม มีปัญญา ซึ่งในที่นี้หมายถึง การ"หาครูดี" ให้พบการมีครูที่ดี ย่อมทำให้เรามีความก้าวหน้าในการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะครูจะเป็นผู้ที่คอยชี้แนะแนวทาง รวมทั้งให้คำแนะนำสั่งสอน เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องดีงาม ครูเป็นผู้ช่วยแก้ปัญญาคลายความสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษา ทำให้เรามีความก้าวหน้าสามารถพัฒนาความรู้และพัฒนาคุณธรรมจากการฝึกฝนอบรมตนเองได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งครูยังเป็นต้นแบบในการทำความดีต่างๆ เป็นผู้คอยให้กำลังใจและสนับสนุนให้เราประสบความสำเร็จในการศึกษาการได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ที่ฝึกตัวมาดีจึงมีความสำคัญต่อการฝึกฝนอบรมตนเองมาก ดังเช่นในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเห็นความสำคัญของการมีครูบาอาจารย์มาช่วยอบรมสั่งสอนจึงทรงบัญญัติให้พระนวกะ คือ พระผู้บวชใหม่ที่ยังไม่ได้ 5 พรรษา ต้องมีพระอุปัชฌาย์คอยอบรมสั่งสอนให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ที่เรียกว่า "การถือนิสัย" คือ ขอให้พระอุปัชฌาย์เป็นที่พึ่งที่อาศัยของตน ทำหน้าที่ปกครองสั่งสอน ให้คำแนะนำในข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ เพื่อการเป็นพระภิกษุที่ดีการแสวงหาครูบาอาจารย์ที่ดีจึงมีความสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ที่ดี เราก็ต้องหมั่นเข้าไปหาสอบถามธรรมะข้อควรปฏิบัติต่างๆ มีความเอาใจใส่ต่อการศึกษาเล่าเรียน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปัญญาวุฑิธรรมข้อที่ 2 คือ


2. การฟังพระสัทธรรม ในที่นี้หมายถึงการ "เชื่อฟังคำสอนของครู" เพราะเมื่อพบครูที่ดีแล้ว ก็ต้องหมั่นเข้าไปใกล้ เพื่อจะได้ฟังธรรม เมื่อฟังแล้วต้องสรุปให้ได้ว่าสิ่งที่ครูสอนมานั้นคือ "อะไร "เพื่อที่ความเข้าจะได้ถูกต้องตรงทางการเข้าไปฟังคำสอนของครูต้องทำด้วยความเคารพ เอาใจใส่ต่อการศึกษานั้น แสดงความพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ ท่านจะได้เกิดความเมตตา ผู้เรียนเองก็จะได้ประโยชน์จากการศึกษาอย่างเต็มที่ และสำหรับการเป็นผู้เรียนที่ดี จำเป็นต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ คือ
1. ไม่ดูแคลนหัวข้อธรรมที่ท่านแสดงว่าง่ายเกินไป
2. ไม่ดูแคลนความรู้ความสามารถของผู้แสดงธรรม
3. ไม่ดูแคลนว่าตนเองโง่จนไม่สามารถรองรับธรรมได้
4. มีใจเป็นสมาธิขณะฟังธรรม
5. มีโยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยแยบคาย คือ จับแง่คิดเป็น

           ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเคารพในการศึกษา เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญและแสดงประโยชน์ของการเรียนพระวินัย นอกจากนั้นยังทรงสรรเสริญพระอุบาลีในฐานะที่ท่านเป็นผู้เลิศในทางวินัยนี้ยิ่งกว่าพระภิกษุรูปใด พระเถระ พระมัชฌิมะและพระนวกะทั้งหลาย จึงขวนขวายไปเรียนพระวินัยกับพระอุบาลีในขณะที่เรียนนั้น พระอุบาลีต้องยืนสอน ไม่กล้านั่ง เพราะเคารพในพระเถระทั้งหลาย แม้พระเถระก็ยืนเรียน ไม่กล้านั่ง เพราะเคารพในธรรมที่พระอุบาลีกำลังสอน ต่างฝ่ายต่างเคารพกันและกัน เมื่อเรียนนานๆ ก็เกิดความเมื่อยล้า ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ จึงมีพุทธานุญาตให้ผู้สอนนั่งบนอาสนะเสมอหรือสูงกว่าผู้เรียนได้ และให้ผู้เรียนสามารถนั่งบนอาสนะเสมอหรือต่ำได้ พระอุบาลีและเหล่าพระเถระจึงนั่ง สอนและนั่งเรียนได้ตามปกติการเรียนด้วยความเคารพในการศึกษา จะทำให้ใจของเรามีความพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดความรู้ที่ครูนำมาสอนได้เป็นอย่างดี ครูผู้สอนก็จะสามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ อุปมาเหมือนผู้เรียนเป็นแก้วน้ำที่ว่างเปล่าปราศจากสิ่งใดๆ เมื่อวางอยู่ในจุดที่ต่ำกว่า ย่อมสามารถรองรับน้ำจากภาชนะที่อยู่สูงกว่าได้อย่างเต็มที่


3. การทำในใจโดยแยบคาย ในที่นี้หมายถึง การนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มา "ไตร่ตรองคำครู" ทั้งนี้เพื่อพินิจพิจารณาหาเหตุหาผลว่า "ทำไม " ซึ่งจะเป็นต้นทางให้การทำในใจโดยแยบคาย หรือโยนิโส มนสิการเจริญขึ้นมาการพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุและผลแห่งธรรม ว่าเหตุเช่นนี้จะทำให้เกิดผลเช่นไร หรือผลอย่างนี้มีสาเหตุมาจากการกระทำอย่างไร จะทำให้ปัญญาแตกฉาน เข้าใจนัยต่างๆ ได้ลึกซึ้งเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่พระอานนท์กล่าวถึงเหตุให้เรียนได้ดีกับพระสารีบุตรว่า"ดูก่อนอาวุโสารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (1) ย่อมเป็นผู้ฉลาดในอรรถ(2) ฉลาดในธรรม (3) ฉลาดในพยัญชนะ (4) ฉลาดในนิรุตติ และ (5) ฉลาดในเบื้องต้นและเบื้องปลายด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงจะเป็นผู้ใคร่ครวญได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เรียนได้ดี เรียนได้มาก และสิ่งที่เธอเรียนแล้วย่อม ไม่เลือนไป"

 

4. การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ในที่นี้หมายถึง การ "ทำตามคำครู" นั่นหมายถึงผู้เรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในระดับที่สรุปได้ว่าจะนำความรู้ไปปฏิบัติได้ "อย่างไร (ฯ)" ในชีวิตจริงจากหลักธรรมทั้ง 4 ประการ ช่วยให้เห็นแนวทางในการศึกษาหลักธรรมต่างๆ ให้เข้าใจ ว่าจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์มาเป็นกัลยาณมิตรชี้ทางสว่างให้ แม้ในปัจจุบัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์จะปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่พระภิกษุผู้เป็นทายาทแห่งธรรมที่มีข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามยังมีอยู่ ดังนั้นนักศึกษาจึงควรแสวงหาครูบาอาจารย์ที่ดี เมื่อพบแล้วก็รีบไปสมัครตัวเป็นศิษย์ของท่าน ตั้งใจศึกษาฟังธรรมสอบถามในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ หมั่นขบคิดพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุและผลของธรรมนั้น แล้วนำไปปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรม ก็จะทำให้ปัญญาเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018133767445882 Mins