วิธีฝึกให้เป็นอัตถัญญู

วันที่ 30 กย. พ.ศ.2558

วิธีฝึกให้เป็นอัตถัญญู


วิธีการฝึกฝนอบรมตนเองของพระภิกษุเพื่อการเป็นอัตถัญญู มี 2 ขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำให้ได้ คือ
1. การเข้าใจนัยได้อย่างถูกต้อง
2. ลงมือฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง

 การเข้าใจนัยได้อย่างถูกต้อง
            เมื่อเป็นผู้รู้ธรรมแล้ว พระภิกษุคงมีความเข้าใจนัยในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นการยากที่จะตัดสินว่าความเข้าใจนั้นถูกต้องมากน้อยเพียงไหน จนกว่าพระภิกษุจะลงมือปฏิบัติตามความเข้าใจนั้นอย่างแท้จริงดังนั้น ในเบื้องต้นนี้ จึงอาจอาศัยแนวทางจากหลายๆ วิธี เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเดิมให้มีมากยิ่งขึ้นไปดังนี้
1. ทำความเข้าใจหลักธรรมทั้งหมดที่ได้ศึกษามา และพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีความหมายอย่างไร
2. ทดลองฝึกปฏิบัติไปตามความเข้าใจของตนเอง โดยอาศัยครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ
3. อาศัยเทียบเคียงจากแนวทางที่ครูบาอาจารย์เคยปฏิบัติเป็นตัวอย่างอันดีงามมาก่อน
4. หมั่นเข้าไปสอบถามครูบาอาจารย์ ในหัวข้อธรรมที่สงสัยหรือที่ยังไม่เข้าใจบ่อยๆ
5. นำทุกข้อมาประมวลรวมกัน เพื่อสรุปเป็นความรู้ความเข้าใจของตนเอง และเพื่อให้ได้กรอบการฝึกที่ถูกต้องชัดเจนตามธรรม

            เพราะฉะนั้น การฝึกทำความเข้าใจนัยนั้น ต้องอาศัยการศึกษาธรรมะมามาก จึงจะพอมองเห็นแนวทางในการปฏิบัติได้ชัดเจน และเมื่อลงมือปฏิบัติ บุคคลสำคัญที่จะขาดไปเสียไม่ได้ คือ ครูบาอาจารย์เพราะท่านจะให้แนวทางที่ถูกต้อง ขจัดข้อสงสัยให้กับเราได้ ความรู้ความเข้าใจในแต่ละหัวข้อธรรมก็จะเพิ่มพูนตามมา ด้วยเหตุนี้การเข้าใจนัยของธรรมะ จะต้องไม่ใช่แค่การนั่งขบคิดพิจารณาด้วย มองแต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องพยายามเทียบเคียงจากหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกัน จนกระทั่งความรู้ที่ศึกษามานั้นตกผลึกเป็นความเข้าใจอย่างแท้จริง

 

ลงมือฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง
            เมื่อมีความเข้าใจชัดเจนแล้ว ต่อไปก็คือการตอกย้ำ ฝึกหัดปฏิบัติไปทุกๆ วัน โดยต้องตั้งใจทำอย่างจริงจัง และต้องหมั่นสังเกตปรับปรุงวิธีการให้เหมาะสมกับตนเอง ทั้งนี้เพราะความแตกต่างทางจริตอัธยาศัย
สถานที่ และสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นคนและธรรมชาติ ซึ่งรายละเอียดในการฝึกของพระภิกษุจึงอาจต่างไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ในหลักปฏิบัติใหญ่ๆ ยังคงอาศัยฝึกผ่านสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว คือ
1. "กิจวัตร" ประจำวันที่ต้องทำเป็นปกติ เช่น การสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา การบิณฑบาตการเก็บกวาดดูแลเสนาสนะ เป็นต้น
2. "กิจกรรม" ได้แก่ภารกิจการงานที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์ เช่น งานก่อสร้างซ่อมแซมบำรุงเสนาสนะ การดูแลรักษาเรือนคลัง เป็นต้น

 

            เมื่อฝึกตามวิธีการของอัตถัญญูได้ ก็จะทำให้แต่ละขั้นตอนในคณกโมคคัลลานสูตรก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง เช่นขั้นตอนแรก คือสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุต้องเริ่มศึกษาตามวิธีการในธัมมัญญูจนทราบว่าปาฏิโมกข์คืออะไร มีอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ฝึกตามวิธีการในอัตถัญญู คือทำความเข้าใจความหมาย แล้วจึงนำไปฝึกปฏิบัติผ่านกิจวัตรกิจกรรมประจำวันตัวอย่างเช่นกิจวัตร "บิณฑบาต" ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุต้องทราบสิกขาบทใน "เสขิยวัตร" ที่เกี่ยวข้องกับการบิณฑบาตว่ามีอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า "ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งเป็นปริมณฑล" เมื่อทราบแล้วก็ต้องเข้าใจความหมายว่า ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้พระภิกษุเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา จากนั้นต้องทราบต่อไปว่า การนุ่งให้เป็นปริมณฑลต้องนุ่งอย่างไร เมื่อนุ่งเรียบร้อยแล้วเวลาจะเดินออกไป ก็ต้องเตรียมกาย วาจา ใจ มี สติระลึกไว้ว่าเรากำลังจะไปเป็นต้นแบบ และเป็นเนื้อนาบุญ

 

           เมื่อกำหนดเส้นทางออกเดินบิณฑบาตแล้ว ก็ต้องระลึกถึงสิกขาบทที่ว่า "ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมดี ไปในละแวกบ้าน" พระภิกษุจึงต้องเดินไปด้วยอาการสำรวมในกิริยามารยาท เช่นการยืน การเดิน ไม่เดินโยกกาย ไม่เดินโคลงกาย การทอดสายตาให้มองดูภาคพื้นไปข้างหน้าประมาณ 2เมตร ไม่สอดส่ายสายตา ขณะเดินก็ทำสมาธิ ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะเมื่อกลับจากบิณฑบาต ถึงคราวขบฉัน ให้จัดวางภาชนะให้เรียบร้อยเหมาะแก่การหยิบใช้ ขณะฉันนั่งหลังตรง มีกิริยา สงบสำรวมสายตาไม่สอดส่ายไปที่ไหน ค่อยๆ ตักอาหาร ทำคำข้าวให้กลมกล่อม คือให้มีขนาดพอดีๆ ไม่ใหญ่เกินไปไม่เล็กเกินไป แม้ในบาตรหรือในจานก็ตะล่อมเกลี่ยให้ดูกลมกล่อม ไม่ทำคำข้าวให้ร่วงหล่น ไม่ยื่นหน้าอ้าปากเข้าหาช้อน ค่อยๆ ฉันไปเรื่อยๆ อย่างมี สติ ไม่พูดคุยเมื่อมีอาหารในปากหรือไม่เคี้ยวเสียงดัง ไม่แลบลิ้นเลียริมฝีปาก แม้ช้อน ส้อม จานหรือบาตรก็ไม่มีเสียงกระทบกัน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นไปตามสิกขาบททุกประการ เช่น "ภิกษุผู้ฉันอาหารพึงแลดูในบาตร" หรือ "ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก" และ "ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงจับๆ"เป็นต้น

 

            จากตัวอย่างข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการนำนัยจากเสขิยวัตรที่มีในปาฏิโมกขสังวร มาฝึกฝน
ประพฤติปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งถูกหล่อหลอมเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกาย วาจา ใจของตนเอง จนเกิด สติสัมปชัญญะ มีอินทรีย์ สงบสำรวม ทำจนคุ้นกลายเป็นนิสัย บุคลิกท่าทางก็จะเปลี่ยนไป เกิดมาตรฐานให้กับตัวเอง ทั้งการนุ่งห่ม การเดิน การยืน การนั่ง การฉัน กิริยาอาการต่างๆรวมทั้งการพูดจาจะแลดูเหมาะสม ไม่ว่าจะออกไปที่ใด ก็จะเป็นภาพลักษณ์ของพระภิกษุผู้ฝึกตัวดี มีศีลาจารวัตร งดงาม เหล่านี้เป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นอัตถัญญู ผู้รู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ หรือผู้แตกฉานในธรรมนั่นเอง นอกจากนี้ยังทำความเลื่อมใสศรัทธาแก่มหาชน หมู่คณะ และพระพุทธศาสนาอีกด้วย

 

-------------------------------------------------------------------

SB 303 แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012815984090169 Mins