สรุปข่าวเด่น ธรรมะ น่ารู้

ผอ.สื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย  เสนอผลวิจัยดุษฏีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มจร.

ผอ.สื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย  เสนอผลวิจัยดุษฏีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มจร.
ชี้ “อนาคตเผยแผ่พุทธศาสนา” เน้นโอวาทปาฏิโมกข์ มีวิสัยทัศน์ IT สามัคคี มีเครือข่ายยั่งยืน


660529_18.jpg

           เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พ.ค. 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารเรียน มจร. วังน้อย อยุธยา พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา ได้นำเสนอผลงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ ในหัวข้อ “อนาคตภาพการขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรพุทธนานาชาติเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน” (THE SCENARIO OF INTERNATIONAL BUDDHIST ORGANIZATION NETWORK’S MOTION FOR THE SUSTAINABLE PROPAGATION OF BUDDHISM) โดยมี พระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ. ดร. เป็นประธานกรรมการ และ ผศ. ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ เป็นกรรมการควบคุมดุษฎีนิพนธ์ และมีกรรมการคุมสอบป้องกันดุษฏีนิพนธ์ โดยมีพระเดชพระคุณพระเมธาวินัยรส, รศ.ดร. เป็นประธานกรรมการ, มี ศ.ร.ท.ดร.บรรณจบ บรรณรุจิ และ แม่ชี ดร.นฤมล  จิวัฒนาสุข เป็นกรรมการสอบ


660529_19.jpg

             ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพบริบท ปัญหาและปัจจัยที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขององค์กรพุทธนานาชาติ ใน 10 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2566-2575) และแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 2) เพื่อวิเคราะห์หลักพุทธสันติวิธีที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาขององค์กรพุทธนานาชาติ และ3) เพื่อนำเสนออนาคตภาพการขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรพุทธนานาชาติเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน ใช้เทคนิคการวิจัยอนาคตแบบ EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) เป็นเทคนิควิจัยเชิงอนาคต  กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้เชี่ยวชาญองค์กรพุทธนานาชาติ ในประเทศไทย 6 ท่าน องค์กรพุทธนานาชาติ ในต่างประเทศ 12 ท่าน และคณะกรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละประเทศ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา 7 รูป/คน รวมผู้เชี่ยวชาญที่ให้ข้อมูล จำนวน 25 รูป/คน 


660529_20.jpg

             ผลการศึกษาพบว่า  การขับเคลื่อนเครือข่ายองค์กรพุทธนานาชาติ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืนในอนาคตนั้น  มีองค์ประกอบ 8 ฉากทัศน์ 40 แนวโน้ม ได้แก่ 1.กำหนดวิสัยทัศน์เผยแผ่เชิงรุก (Vision & Mission), 2.ใช้หลักธรรมเพื่อเผยแผ่เชิงรุก (Dhamma Cultivation), 3.เผยแผ่สอดคล้องบริบททางสังคม (Engage Buddhism), 4.พัฒนาสันติภายใน (Inner Peace), 5.พัฒนาจิตสำนึกและศักยภาพบุคลากร (Soul Development), 6.นวัตกรรมสื่อสารและเทคโนโลยี (Innovation & Communication), 7.ความร่วมมือเครือข่ายองค์กรพุทธ (Network Collaboration), และ 8.พัฒนาองค์กรเครือข่าย (Organization Development) โดยสรุปเป็นองค์ความรู้จากการวิจัยได้เป็น “Visioned of Buddhist Scenario” 


660529_21.jpg

              โดยพระครูสมุห์สนิทวงศ์ ได้กล่าวว่า “ขอกราบขอบพระคุณคณะกรรมการบริหารงานวัดพระธรรมกาย ที่อนุมัติให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก และขอกราบขอบพระคุณหลักสูตรสันติศึกษา มจร. ที่เปิดรับให้เข้ามาศึกษาดังกล่าว ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำผลงานวิจัย   ทั้งนี้ได้มีโอกาสศึกษาสภาพการณ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน พบว่าจำนวนพระภิกษุสามเณร ลดลงจาก 3.3 แสน ในปี 2561 เหลือ 2.5 แสนในปี 2563 ประกอบกับภัยศาสนาที่เจอทั้ง ข่าวร้าย (Bad News) และข่าวเท็จ (Fake News) รวมทั้ง สถานการณ์โลกที่ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ ภัยสงคราม" ภัยธรรมชาติ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ กระทบต่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งโลก ให้ชะลอตัว หรือหยุดชะงัก” และในอนาคตองค์กรพุทธของแต่ละประเทศ จะทำงานเผยแผ่เชิงรุกมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและเก็บข้อมูล กับผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาและผู้บริหารองค์กรพุทธ ทั้งมหายาน วัชรยาน และเถรวาท จำนวน 25 รูป/คน จาก 13 ประเทศ  โดยใช้เทคนิควิจัยเชิงอนาคต EDFR พบว่า องค์กรพุทธฯต้องมีวิสัยทัศน์ในการเผยแผ่เชิงรุกร่วมกัน ดำเนินตามหลักโอวาทปาติโมกข์ อปริหานิยธรรม เมตตากรุณา ให้อภัย สามัคคีทำงานเครือข่ายเป็นทีม เรียกว่า “ทีมพระพุทธศาสนา” โดยคำนึงบริบททางสังคม “รู้ร้อนรู้หนาวกับโลก” ใช้ธรรมะแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้ พูดภาษาเดียวกับเขา และพัฒนาบุคคลากร ทั้งศึกษาและปฏิบัติ พัฒนาศักยภาพด้านภาษา เทคโนโลยี IT ใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมในการเผยแผ่ เพื่อให้ตนเองเกิดสันติภายใน และสามารถนำธรรมะของพระพุทธเจ้าไปสู่ใจชาวโลก สอดคล้องกับคำขวัญที่ว่า “สันติภาพภายนอก เริ่มต้นจากสันติสุขภายใน” หรือ World Peace through Inner Peace นั่นเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ พระพุทธศาสนาก็ยังคงที่พึ่งให้กับชาวโลกต่อไปได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล