สรุปข่าวเด่น ธรรมะ น่ารู้

พิธีตักบาตรฉลองพระใหม่ โครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ รุ่นเข้าพรรษา

พิธีตักบาตรฉลองพระใหม่ โครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ รุ่นเข้าพรรษา


670730_20.jpg

       วัดพระธรรมกาย จัดพิธีตักบาตรฉลองพระใหม่ โครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ รุ่นเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2567 มีเจ้าภาพ ผู้ปกครอง และสาธุชนเข้าร่วมงานบุญเป็นจำนวนมาก

       ณ มหารัตนวิหารคด 27 วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี คณะเจ้าภาพ ผู้ปกครอง และสาธุชนได้เข้าร่วมทำบุญตักบาตรฉลองพระใหม่โครงการบรรพชาและอุปสมบทหมู่ รุ่นเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ถาวร  ถาวโร  รองผู้อำนวยการสำนักเผยแผ่ วัดพระธรรมกาย เป็นประธานสงฆ์ และได้รับเกียรติจากกัลยาณมิตรกัมพล  สายสุนีย์ และกัลยาณมิตรอาภาพร   สุหิรัญญวานิช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ภายในงานบุญได้เริ่มต้นที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จากนั้นท่านประธานฝ่านฆราวาสได้นำกล่าวคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน พร้อมทั้งน้อมนำไทยธรรมถวายแด่ท่านประธานสงฆ์


670730_19.jpg

      ในการนี้ท่านประธานสงฆ์ ก็ได้กล่าวสัมโมทนียกถาตอนหนึ่งว่า การถวายทานนั้น เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ทุกท่านย่อมได้ฐานะ 5 ประการ ได้แก่ ทักขิไนยบุคคล นั่นคือให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ และปฏิภาณ ผู้ให้ย่อมได้รับฐานะ 5 ประการนั่นด้วย แต่ได้รับไม่ใช่ร้อยเท่า ไม่ใช่พันเท่า ไม่ใช่แสนเท่า หรือล้านเท่า แต่จะนับจะประมาณมิได้ ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่ในโลกใบนี้  ทุกท่านย่อมได้ฐานะ 5 ประการ และการเกิดขึ้นของพระสงฆ์หมู่ใหญ่ไม่ใช่ง่ายเลย การบวชก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ผู้บวชจะต้องมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาถึงได้อดทน ฝึกฝนอบรมตนเอง  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง และเมื่อมีผู้ที่มีศรัทธามาบวชแล้ว ผู้บวชย่อมได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กว่าจะมีพระภิกษุบังเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง 


670730_17.jpg

      จากนั้นคณะสงฆ์และพระธรรมทายาทได้แปรแถวรับบาตรจากโยมพ่อโยมแม่และสาธุชนที่ตั้งใจเตรียมวัตถุทานมาสร้างมหาทานบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ทุกท่านได้ทำอย่างถูกหลักวิชชา คือเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำทานสั่งสมบุญ  เพราะการทำทานตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่ได้เริ่มต้นที่เช้าวันใส่บาตร แต่เริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมวัตถุทาน แต่ก่อนจะเตรียมวัตถุทาน ต้องเตรียมใจก่อน คือตั้งใจว่าจะทำทานใส่บาตร แล้วขั้นตอนต่างๆจึงได้เริ่มตามมา แปลว่าใจของผู้ใส่บาตรต้องใสตั้งแต่เริ่มเตรียมใจ เตรียมวัตถุทาน ขณะใส่บาตร ล่วงเลยไปถึงการนึกถึงบุญหลังจากใส่บาตรแล้ว ทำให้ได้บุญทั้งสามวาระ คือก่อนทำ ขณะทำและหลังจากทำไปแล้ว  อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่าใส่บาตรอย่างถูกหลักวิชชา


670730_18.jpg

        สำหรับการตักบาตรพระใหม่เป็นหนึ่งในเสขิยวัตรที่พระบวชใหม่ต้องฝึกปฏิบัติ เพราะเสขิยวัตรคือมารยาทของพระที่ดีที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้น การบิณฑบาตเป็นการฝึกมารยาทในการเข้าในที่ชุมชน ว่าภิกษุต้องวางตัวอย่างไรเพื่อให้เป็นที่ตั้งศรัทธาของญาติโยมเช่น เวลารับบาตรต้องรับด้วยความเคารพ เป็นต้น
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล