วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หัวใจพระพุทธศาสนา

image925i00.jpg

           ในวันมาฆบูชาเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อนโน้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสโอวาทอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา สำหรับใช้เป็นหลัก เป็นประธาน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้พระอรหันต์ในยุคนั้น นำมาอบรมสั่งสอนประชาชน ซึ่งมีอยู่ ๓ ข้อด้วยกัน คือ

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ แปลว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง

           คือให้ยึดมั่นเป็นหลักเอาไว้เลยว่า ชาตินี้ความชั่วทุกชนิดแม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่ยอมทำ ไม่ว่าจะมีใครเอามีดมาจ่อคอ เอาปืนมาจ่อหัว บังคับให้ทำความชั่ว ก็ยอมตายเสียดีกว่าที่จะไปทำ

           พูดง่ายๆ ให้ทุกคนรักษาศีลให้ยิ่งด้วยชีวิต เช่น ศีล ๕ ต้องทั้งไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่เจ้าชู้ ไม่พูดเท็จ และไม่ดื่มสุรายาเมา รวมทั้งยาเสพติดทุกชนิด ด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ที่จะละความชั่วทั้ง ๕ ประการนี้ให้ได้          

๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา แปลว่า การทำกุศลให้ถึงพร้อม

         ความดีในโลกนี้มีมากมาย แต่เราจะมีโอกาสทำได้ครบหรือไม่ ยังไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ถ้ามีโอกาสให้ทำความดีแล้ว ต้องทุ่มชีวิตทำลงไปให้เต็มที่ทีเดียว
p55.jpg

๓. สจิตฺตปริโยทปนํ แปลว่า การทำจิตใจให้ผ่องใส

           วิธีที่จะกลั่นใจให้ใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชรได้นั้น ไม่มีอะไรเกินกว่าการตั้งใจทำภาวนา อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านได้สอนให้นั่นแหละ

           เพราะเมื่อใจของเราใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชรแล้ว โอกาสที่ใจของเราจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในก็ง่ายขึ้น

           โอวาททั้ง ๓ ข้อที่พระพุทธองค์ประทานเอาไว้ให้นี้ ถ้าพูดในเชิงของการนำมาประพฤติปฏิบัติ ก็ต้องชี้ประเด็นความบกพร่องให้พวกเราได้เห็น ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะมองข้ามกันไป

           และเพราะสาเหตุที่มองข้ามคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนานี่เอง จึงทำให้มนุษย-โลกส่วนมาก ถึงเข้าไม่ถึงพระธรรมกายในตัวกันเสียที

 

อุปมาหัวใจพระพุทธศาสนา
 

p56.jpgข้อที่ ๑ ให้ละความชั่ว

           ถามว่าการละความชั่วเป็นการทำความดีหรือไม่? การละความชั่วก็คือการละความชั่ว ยังไม่ถือว่าเป็นการทำความดีอะไร เพราะฉะนั้น แม้จะรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อได้ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการทำความดีที่เต็มรูปแบบ เพียงแค่เป็นการละความชั่วเท่านั้นเอง

           อุปมาเหมือนชาวไร่ชาวนาที่ถางที่ถางทาง กำจัดหญ้า กำจัดวัชพืช ออกไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะทำการเพาะปลูก แต่ว่ายังไม่ได้ลงมือปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารอะไรลงไป

           ถามว่าฤดูกาลต่อไปเขาจะมีพืชผลให้เก็บเกี่ยวหรือไม่? ก็ไม่มี เพียงแต่ไม่มีหญ้า หรือว่าวัชพืช ขึ้นในไร่ในนาที่เขาเตรียมเอาไว้

           เพราะฉะนั้น ถ้าจะถือว่าการรักษาศีลเป็นการทำความดี ก็เป็นการทำความดีขั้นต้น เหมือนชาวไร่ชาวนาเตรียมพื้นที่ไร่นาเอาไว้เรียบร้อย แต่ยังไม่ได้ลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์พืชลงไปในพื้นที่ไร่นานั้น
p57-1.jpg

ข้อที่ ๒ ตั้งใจทำความดี

           การทำความดีในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ทาน การช่วยเหลือเผื่อแผ่ การประคับประคองให้คนอื่นทำความดี เป็นต้น นั่นคือการทำความดีที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

           อุปมาเหมือนชาวไร่ชาวนา หว่านเมล็ดพันธุ์พืชลงไปในพื้นที่ไร่นา ที่ได้เตรียมเอาไว้อย่างดีแล้ว

           แต่ในปัจจุบันคนส่วนมากกลับคิดกันว่า เพียงแค่ตัวเองไม่ทำความชั่ว หรืออยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ก็ถือว่าได้ทำความดีแล้ว คือทำความดีตรงที่ยังไม่ได้ทำความชั่วนั่นเอง

           ยกตัวอย่าง วันมาฆบูชาที่จะถึงนี้บางท่านก็บอกว่า ฉันไม่ต้องไปทำบุญที่วัดก็ได้ เพราะฉันไม่ได้ทำความชั่วอะไร เมื่อไม่ได้ทำความชั่วก็ถือว่าฉันเป็นคนดีแล้ว

           การกระทำอย่างนั้นยังไม่ใช่การทำความดีที่แท้จริง และด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้บ้านเมืองของเรา ไม่มีความสงบสุขที่แท้จริงกันเสียที

           ส่วนพวกเราหรือใครก็ตามที่ตั้งใจว่า วันมาฆบูชานี้ฉันจะไปตักบาตรที่วัดตั้งแต่เช้า ตั้งใจจะไปฟังเทศน์ฟังธรรม ตั้งใจจะไปจุดโคมมาฆประทีปเพื่อบูชาพระรัตนตรัย อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าได้ทำความดี ตามโอวาทข้อที่ ๒ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
p57-2.jpg

ข้อที่ ๓ การกลั่นใจให้ผ่องใส

           ในวันมาฆบูชานอกจากเราจะตั้งใจมาตักบาตร มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาจุดโคมมาฆประทีปแล้ว เรายังตั้งใจที่จะมากลั่นใจให้ผ่องใสกันตั้งแต่เช้า ด้วยการทำภาวนา

           ถ้าถามว่าการกลั่นใจให้ผ่องใสนี้เป็นการทำความดีไหม? ก็บอกว่าเป็นการทำความดีขั้นสุดยอดเลย เพราะจะทำให้เข้าถึงพระธรรมกายได้ง่าย ได้เร็วขึ้น

 

การปฏิบัติหัวใจพระพุทธศาสนา
 

           จากโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ ข้อนี้ สามารถแบ่งการทำความดีออกเป็น ๓ ระดับด้วยกัน คือ

           ระดับที่ ๑ ความดีขั้นพื้นฐาน คือ ทำความดีตรงที่ไม่ได้ทำความชั่ว

           ระดับที่ ๒ ความดีที่เป็นรูปธรรม เช่น การมาตักบาตร การมาจุดโคมมาฆประทีป เป็นต้น

           ระดับที่ ๓ ความดีขั้นสูงสุด คือ การทำภาวนาเพื่อให้ใจหยุด ใจนิ่ง ใจใส ใจสว่าง จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย
p57-3.jpg
           แต่เนื่องจากมนุษย์ในยุคนี้ รักที่จะทำความดีกันเพียงระดับต้นเป็นอย่างมาก ส่วนความดีในระดับที่ ๒ ที่ ๓ ชักจะละเลยกันไป จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพระธรรมกายในตัวกันเสียที

           เมื่อรู้ความจริงกันแล้วว่าเหตุการณ์ในโลกนี้ ขณะนี้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำคือ

           ๑. เป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง คือสร้างความดีทั้ง ๓ ระดับอย่างเต็มที่ เพื่อเข้าถึงพระ-ธรรมกายภายในตัวของเราให้ได้ เพราะพระธรรมกาย หรือว่าพระรัตนตรัยที่อยู่ภายใน จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเรา ช่วยให้เราพ้นนรก และเปิดสวรรค์ เปิดพระนิพพานให้เราได้

           ๒. บำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้กับชาวโลก โดยไปเตือนให้เขารู้ว่า ถ้าทำความดี ๒ ระดับแรกแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำความดีระดับที่ ๓ คือการทำภาวนา แม้จะอ่านพระไตรปิฎกจนกระทั่งท่องได้คล่องแคล่ว ถึงอย่างนั้นก็ยังเข้าไม่ถึงพระธรรมกายอยู่ดี และไม่ว่าอีกกี่ภพกี่ชาติ ก็ยากที่จะเข้าถึงพระธรรมกายในตัวได้

           เพราะฉะนั้น นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป พวกเราต้องช่วยกันบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตร ชักชวนให้ทุกคนตั้งใจสร้างความดีให้ครบทั้ง ๓ ระดับ เพื่อเขาจะได้กลั่นใจให้ใสเป็นแก้วใสเป็นเพชร สามารถเข้าถึงพุทธรัตนะ คือพระธรรมกายในตัวได้ ซึ่งก็จะเป็นความมีโชคดีของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในชาตินี้ ทั้งชาติหน้า และชาติต่อๆ ไป จนกระทั่งถึงวันบรรลุพระนิพพาน โดยทั่วหน้ากันทีเดียว

 

bimi.jpg

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล